ค่าย “ฟูมฟัก ฝัน เฟส” ตัวช่วยเด็กไทยค้นหาอาชีพที่ใช่

การค้นหาเส้นทางอาชีพที่ใช่เป็นเรื่องสำคัญในชีวิต ซึ่งเด็กและเยาวชนควรมีความเข้าใจและเริ่มปูทางตั้งแต่ตอนเรียน แต่ปัญหาหลัก คือ พวกเขาอาจไม่รู้ว่าอาชีพอะไรที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน หรือควรเรียนทางไหนเพื่อสามารถประกอบอาชีพที่อยากทำ และถึงแม้ว่าโรงเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาของไทยจะมีระบบแนะแนวในโรงเรียนก็ตาม แต่ส่วนใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

จากสถานการณ์ดังกล่าว กิจการเพื่อสังคม a-chieve (อาชีฟ) จึงจัดโครงการ “ฟูมฟัก ฝัน เฟส” ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2557 เพื่อเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยแนะแนว และส่งเสริมให้เยาวชนได้ตัดสินใจ เลือกสาขาวิชา เลือกอาชีพที่ชอบที่ตรงใจ ตรงตามความสามารถและความถนัด

โดยปีนี้ โครงการฟูมฟัก ฝัน เฟส ได้จัดขึ้นในหัวข้อ AFTERKLASS : อนาคตที่ใช่ต้อง Right Now โดยเป็นเทศกาลแนะแนวอาชีพ และพื้นที่รวมตัวของผู้ค้นหาความหมายของชีวิตที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

“นรินทร์ จิตต์ปราณีชัย” ผู้ร่วมก่อตั้ง a-chieve ให้ข้อมูลเบื้องต้นถึงธุรกิจว่า เกิดจากการรวมกลุ่มของคนรุ่นใหม่ที่เห็นปัญหาด้านการศึกษาในสังคมไทย และกลายเป็นปัญหาเชื่อมโยงไปถึงการจ้างงาน และการทำงาน โดยกลุ่มคนวัยทำงานรุ่นใหม่มักเปลี่ยนงานค่อนข้างบ่อย เนื่องจากไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร อยากเรียนอะไร และอยากเป็นอะไร

“เราจึงก่อตั้ง a-chieve ขึ้นมา ซึ่งมาจากคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่แปลว่า ประสบความสำเร็จ และสามารถพ้องเสียงในภาษาไทยว่า อาชีพ เพราะอยากเห็นสังคมที่เด็กทุกคนเติบโตขึ้นไปเป็นคนทำงานที่มีความสุข เห็นคุณค่า และภูมิใจในอาชีพที่ตนเองทำ ตามสโลแกนของบริษัทที่ว่า อาชีพที่ใช่ ชีวิตที่ชอบ”

สำหรับโครงการฟูมฟัก ฝัน เฟส ที่จัดขึ้นเปรียบเหมือนห้องแนะแนวขนาดใหญ่ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย และประกาศนียบัตรวิชาชีพ หรือน้อง ๆ ในช่วงอายุ 13-18 ปี ที่กำลังลังเลในการตัดสินใจเลือกสาขาเรียนต่อหรืออาชีพ เพราะยังไม่เข้าใจตัวเอง และไม่รู้จักทางเลือกด้านอาชีพ

“เราจัดทีมผู้เชี่ยวชาญที่ประสบความสำเร็จในสายอาชีพต่าง ๆ มาร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และบอกเล่าวิธีการของพวกเขาให้เยาวชนได้ทราบ เพื่อประเมินตนเองได้ว่ามีความชอบ หรือสนใจด้านไหน”

ปีที่ผ่านมามีนักเรียนเข้าร่วมโครงการกว่า 12,686 คน แบ่งเป็นนักเรียนที่กำลังศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย 10,727 คน มัธยมศึกษาตอนต้น 1,792 คน ปวช. 120 คน ปวส. 99 คน และอื่น ๆ 7 คน โดย 95% ของจำนวนนักเรียนทั้งหมดเข้าใจมากขึ้นถึงอาชีพที่ตนเองเข้าไปมีประสบการณ์ และนักเรียน 90% อยากรู้จักอาชีพอื่น ๆ มากขึ้นหลังเข้ากิจกรรม รวมถึง 85% ของนักเรียนทั้งหมดเห็นด้วยว่า กิจกรรมต่าง ๆ ช่วยให้สามารถตัดสินใจเลือกเส้นทางเรียนได้ดีขึ้น

“งานปีนี้จะจัดขึ้นในวันที่ 27-28 ต.ค. 2561 ที่ไบเทค บางนา โดยมีกิจกรรมสัมมนาและเวิร์กช็อปให้เยาวชนมากมาย อีกทั้งได้เชิญพี่ต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในแต่ละสาขาอาชีพมากกว่า

100 อาชีพมาให้คำแนะนำ พร้อมแบ่งปันประสบการณ์ในการทำงาน ตลอดจนแนะนำธุรกิจใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในยุคดิจิทัล เช่น The Monk Studio แอนิเมชั่นไทยที่สร้างสรรค์ผลงานให้สตูดิโอระดับโลกอย่างดรีมเวิร์ค หรือทีมผู้สร้างภาพยนตร์สารคดี 2215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว รวมถึงวิทยากรจากกูเกิล และเฟซบุ๊ก ประเทศไทย”

ขณะที่ “ดร.วิกรม อาฮูยา” นักวิชาการ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ซึ่งเป็นหนึ่งในวิทยากรของปีนี้ ได้ให้มุมมองถึงบทบาทของครูแนะแนวว่าสามารถแบ่งได้สองด้าน โดยประการแรกคือช่วยแนะนำนักเรียนในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย และอีกบทบาทคือช่วยนักเรียนค้นหาตัวเอง เพื่อก้าวสู่เส้นทางอาชีพที่ต้องการ

“ผมมองว่าการแนะแนวในโรงเรียนของไทยยังเป็นการสอนทางเดียว โดยมีการจัดวิชาแนะแนวให้เด็กแต่ละชั้นประมาณ 50 นาทีต่อสัปดาห์ และบางครั้งคาบแนะแนวกลับกลายเป็นคาบที่เรียนชดเชยวิชาอื่น ๆ ที่สอนไม่ทัน จึงทำให้การแนะแนวของไทยไม่ประสบความสำเร็จเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการแนะแนวนักเรียนในรูปแบบครูหนึ่งคนต่อนักเรียนหนึ่งคน”

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังไม่มีการวิจัยทักษะที่จำเป็นในอนาคต และวิจัยเรื่องอาชีพที่เป็นที่ต้องการในอนาคตอย่างจริงจัง ทั้ง ๆ ที่เป็นแนวทางสำคัญในการส่งเสริมระบบแนะแนวเด็กและเยาวชนไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งระบบการศึกษายังสามารถนำข้อมูลจากงานวิจัยไปปรับหลักสูตรให้ตอบโจทย์การทำงาน และความต้องการแรงงานในอนาคตได้ด้วย

“ยกตัวอย่างเส้นทางอาชีพที่เป็นที่ต้องการในปัจจุบัน และจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งยังสามารถสร้างรายได้ให้คนทำงานได้สูงมากอย่าง cryptographic หรืออาชีพด้านระบบความปลอดภัยคอมพิวเตอร์ ซึ่งประเทศไทยขาดแคลนบุคลากรด้านนี้อย่างมาก และแทบจะไม่มีมหาวิทยาลัยไหนสอนวิชานี้เป็นสาขาหลัก บางบริษัทต้องจ้างชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวยุโรปมาทำงานด้านนี้”

ดังนั้น เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้ก้าวไปสู่อาชีพที่ใช่ และตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต การแนะแนวจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้พวกเขาสามารถเตรียมตัวรับมือ และเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นใจ เพราะการค้นหาอาชีพที่ใช่นั้นไม่เพียงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้การใช้ชีวิตในอนาคตมีความสุข แต่ยังช่วยทำให้ตัวเองได้ค้นพบศักยภาพที่ซ่อนอยู่ด้วย