“องค์การค้าฯ” ดิ้นเฮือกสุดท้าย! หลัง “สสวท.” ทิ้งไพ่ใบตาย ขู่ให้โควต้า สนพ.อื่นพิมพ์ “วิทย์-คณิต”

คอลัมน์ รายงานพิเศษ
ผู้เขียน เบญจมาศ เกกินะ

สั่นสะเทือน องค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) อย่างแรง ทันทีที่ คณะกรรมการบริหารสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ตัดสินใจหั่นโควต้าลิขสิทธิ์หนังสือเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ที่ สสวท.เป็นผู้แต่งลงเหลือ 70% จากเดิมที่ให้ลิขสิทธิ์องค์การค้าฯ จัดพิมพ์ และจำหน่ายเจ้าเดียว 100%

ส่วนอีก 30% ตกเป็นของโรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้ปีการศึกษา 2562 ที่จะถึงนี้ องค์การค้าฯ ต้องสูญเสียรายได้จากส่วนนี้ไปกว่า 890 ล้านบาท จากที่เคยได้รับแน่ๆ ปีละเกือบ 2,000 ล้านบาท…

จำนวนเงินที่หายไป ส่งผลกระทบต่อการจ่ายเงินเดือนพนักงานกว่า 1,200 คนขององค์การค้าฯ อย่างแน่นอน

นายชูกิจ ลิมปิจำนงค์ บอกเหตุผลการตัดสินใจครั้งนี้ว่า สสวท.ได้หารือกับองค์การค้าฯ มาโดยตลอด ซึ่งในปีที่ผ่านมา สสวท.มีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับองค์การค้าฯ และโรงพิมพ์แห่งจุฬาฯ ในการนำต้นฉบับของ สสวท.ไปผลิต และจำหน่ายให้กับโรงเรียน และนักเรียนไทย โดย สสวท.ได้ให้ลิขสิทธิ์กับองค์การค้าฯ ในการนำต้นฉบับวิชาวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ส่งให้ถึงมือนักเรียน คิดเป็นกว่า 80% ของต้นฉบับทั้งหมดของ สสวท.ในขณะที่ให้ลิขสิทธิ์กับสำนักพิมพ์แห่งจุฬาฯ ในวิชาเทคโนโลยีเท่านั้น

ผลที่ปรากฏในช่วงเปิดภาคเรียนที่ผ่านมา นักเรียนได้รับหนังสือเรียนวิชาเทคโนโลยีก่อนเวลาเปิดภาคเรียน ในขณะที่หนังสือเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ มีความล่าช้าในการจัดส่งตั้งแต่ต้นเทอมจนถึงปลายเทอม จนถึงปัจจุบันก็ยังมีโรงเรียนที่ยังไม่ได้หนังสือ!!

“บอร์ด สสวท.ได้รับข้อมูลการร้องเรียนจากครู ผู้ปกครอง โรงเรียน และตัวแทนจำหน่าย ถึงปัญหาความล่าช้าที่เกิดขึ้น ซึ่งเกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการเรียนการสอนนักเรียนทั่วประเทศ ทำให้รู้สึกกังวล และได้พยายามที่จะแก้ปัญหา โดยการกระจายความเสี่ยงให้แก่ผู้ที่มีความพร้อมมากกว่าในการส่งมอบหนังสือเรียนให้ถึงนักเรียน ดังนั้น จึงมีมติให้ปรับสัดส่วนให้โรงพิมพ์แห่งจุฬาฯ ได้รับลิขสิทธิ์ผลิต และจำหน่ายหนังสือเรียน วิชาวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เล่มใหม่สำหรับชั้นมัธยมด้วย โดยรวมแล้วเพิ่มขึ้นเป็น 30%” นายชูกิจ กล่าว

ปัญหาหนังสือเรียนส่งถึงมือด็กไม่ทันเปิดภาคเรียน หรือบางปีช้าไปถึงภาคเรียนที่ 2 เกิดขึ้นมานาน แม้ว่าทางผู้บริหารองค์การค้าฯ หรือแม้กระทั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เกือบทุกยุค จะออกมาการันตีว่าหนังสือเรียนจะถึงมือเด็กทันเปิดเทอมแน่นอน

แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เป็นไปตามที่การันตีไว้!!

การตัดสินใจของบอร์ด สสวท.ถือเป็นการส่งสัญญาณครั้งใหญ่ ถ้าองค์การค้าฯ ไม่ปรับตัว ทำงานให้เร็วขึ้น การเฉือนโควต้าลิขสิทธิ์การพิมพ์ และจัดจำหน่าย ก็อาจจะมากกว่า 30%

และไม่ใช่แค่ สสวท.เพียงเจ้าเดียวที่จะจ้องจะยกเลิกข้อตกลงความร่วมมือกับองค์การค้าฯ ที่กินบุญเก่า ถือลิขสิทธิ์ในฐานะโรงพิมพ์ในกำกับของ ศธ. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เองก็เล็งๆ ว่าอยากที่จะเปลี่ยนให้เอกชนอื่นมาจัดพิมพ์หนังสือเรียนแทนองค์การค้าฯ เช่นกัน

ล่าสุด นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.นั่งหัวโต๊ะเป็นกาวใจระหว่าง สสวท.และองค์การค้าฯ แม้จะไม่สามารถดึงยอดพิมพ์กลับมาให้องค์การค้าฯ ทั้ง 100% แต่ก็ทำให้เกิดข้อตกลงว่ายอด 70% ที่องค์การค้าฯ ได้รับในปีนี้ ยังมีสิทธิเพิ่มขึ้นในปีต่อไป หากสามารถดำเนินการจัดพิมพ์ได้เร็วขึ้นตามกำหนด

นำมาสู่การจัดทำแผนปฏิรูปองค์การค้าฯ เตรียมปรับปรุงเครื่องพิมพ์ ซึ่งไม่ได้เปลี่ยนมานานกว่า 20-30 ปี

พร้อมรับปากหนักแน่นว่า ผลกระทบจากเรื่องนี้จะไม่ทำให้ใครต้องตกงาน!!

“ทุกอย่างเป็นไปตามข้อตกลง หากปี 2562 องค์การค้าฯ สามารถปรับปรุงตัวเองได้ มีเครื่องพิมพ์ใหม่แล้ว ทุกอย่างดีกว่าโรงพิมพ์ที่ สสวท.จ้างพิมพ์ในปัจจุบัน ทาง สสวท.ก็ยินดีที่จะเจรจาปรับสัดส่วนการพิมพ์เพิ่มขึ้น อาจเป็น 80% หรือ 100% ขณะที่ทางองค์การค้าฯ สามารถรับงานจากที่อื่นได้ด้วย หรือหากครั้งนี้ทางองค์การค้าฯ ยังจัดพิมพ์ล่าช้าเช่นเดิม ปีต่อไป สสวท.ก็อาจลดสัดส่วนการจัดพิมพ์ การหารือครั้งนี้ไม่ได้มาการันตีใคร ใช้ผลลัพธ์ของงานเป็นตัวกำหนด ไม่ได้ใช่เฉพาะลมปาก เพราะฉะนั้น จูบกันวันนี้ พรุ่งนี้อาจจะเหม็น ทุกอย่างอยู่ที่ผลการทำงาน” นพ.ธีระเกียรติ กล่าว

การพิมพ์หนังสือเรียนช้าจนส่งผลกระทบ เป็นเพียงปัญหาหนึ่งขององค์การค้าฯ ที่โผล่ขึ้นมาให้เห็นชัดเจน พร้อมกับข้อครหาเรื่องการทุจริตภายในองค์กรที่เกิดขึ้นต่อเนื่องหลายปี สะสมยอดหนี้พุ่งสูงหลายพันล้าน…

การทำงานที่ผ่านมาจึง เป็นการหาเงินเพื่อโปะหนี้ วนลูปเดิมซ้ำๆ

ล่าสุด นายวีระกุล อรัณยะนาค ผู้ตรวจราชการ ศธ.ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการองค์การค้าฯ คนใหม่ รายงานความก้าวหน้าสถานะทางการเงินขององค์การค้าฯ ให้บอร์ด สกสค.ที่มี นพ.ธีระเกียรติ เป็นประธาน สรุปยอดหนี้รวมทั้งสิ้น 5,492,321,840.30 บาท

ลูกหนี้รวม 817,015,790.86 บาท แบ่งเป็น ลูกหนี้ที่ชำระหนี้แล้ว อยู่ระหว่างการตรวจสอบเพื่อออกใบเสร็จ 176,181,995.20 บาท ลูกหนี้ค้างเก่า 17,191,153.51 บาท ลูกหนี้ที่ฝ่ายกฎหมายดำเนินคดี 71,975,081.91 บาท ลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างการติดตามเก็บเงิน 551,667,560.24 บาท

ขณะที่เงินฝากในบัญชีขององค์การค้าฯ ยอด ณ วันที่ 3 ตุลาคม 2561 เหลืองเพียง 58.86 ล้านบาท

จากตัวเลขเห็นได้ว่า สถานภาพขององค์การค้าฯ ดูจะร่อแร่ เพราะจำนวนหนี้สินมากกว่าเงินที่มีในบัญชี และถึงแม้จะตามคืนจากลูกหนี้ได้ทั้งหมดก็ยังไม่พอ…

จำเป็นต้องปรับแผนบริหารงานองค์การค้าฯ ครั้งใหญ่ โดยการประชุมบอร์ด สกสค.มอบหมายให้ *นายอรรถพล ตรึกตรอง* ผู้ตรวจราชการ ศธ.ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสกสค.คนใหม่ เข้ามาช่วยดูแลจัดการหนี้สิน และการบริหารจัดการธุรกิจ ซึ่งมีข้อตกลงในระดับหนึ่งว่าต่อไปงานของ ศธ.ขอให้เลือกใช้บริการองค์การค้าฯ เป็นลำดับแรกก่อน…

รวมถึงให้องค์การค้าฯ ไปพิจารณาแหล่งเงินทุนซึ่งอาจจะเป็น สกสค.หรือสถาบันการเงินอื่น และหากมีความจำเป็นต้องขายทรัพย์สินขององค์การค้าฯ เพื่อนำมาลดภาระหนี้ก็ต้องทำ

เพราะไม่รู้จะหวงสมบัติไว้ทำไม ถ้ายังเป็นหนี้ วันนี้ต้องแก้ไขปัญหาให้องค์กรอยู่รอด!!

ขณะที่นายวีระกุลบอกอย่างตรงไปตรงมาว่าถ้า ศธ.ยังต้องการให้องค์การค้าฯ มีส่วนในการพยุงราคาตลาด ก็อาจต้องช่วยการรันตีงานที่แน่นอนให้ เช่น การจัดพิมพ์หนังสือเรียนของ สสวท.ให้กับองค์การค้าฯ ด้วย ไม่เช่นนั้น เราก็อยู่ไม่ได้

หากให้ไปแข่งขันกับเอกชนตามกลไกตลาด ก็คงสู้ได้ยาก!!

จากนี้องค์การค้าฯ จะต้องเดินหน้าทำแผนปฏิรูป…ซึ่งคงต้องจับตาดูว่าแผนปฏิรูปองค์การค้าฯ จะออกมาหน้าตาอย่างไร?

และวิกฤตครั้งนี้ จะถึงขั้นต้องทบทวน การมี หรือไม่มีองค์การค้าฯ ด้วยหรือไม่ !!

 

ที่มา : มติชนออนไลน์