ปลุกพลังภาคเอกชน พลิกการศึกษาไทยสร้างคนคุณภาพ

เสียงเรียกร้องจากผู้ประกอบการที่ต้องการได้แรงงานคุณภาพ และสามารถใช้งานได้ทันทีนั้น ยังดังออกมาเป็นระยะ ๆ เพราะภาคเอกชนมองว่าภาคการศึกษายังไม่สามารถผลิต “คน” ได้ออกมาตามความต้องการอย่างแท้จริง ฉะนั้นที่ผ่านมาจึงมีความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนกับสถาบันการศึกษาผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น ทวิภาคี สหกิจศึกษา เป็นต้น

แนวทางข้างต้นเป็นสัญญาณที่ดีในการสร้างคนให้ได้ตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าด้วยความคล่องตัว และการปรับตัวอย่างรวดเร็วของภาคธุรกิจเป็นแรงขับเคลื่อนที่ทำให้การศึกษาไทยรุดหน้ากว่าเดิม

เพื่อมองถึงก้าวต่อไปของภาคเอกชนในการมาร่วมทำงานด้านการศึกษา ภาคีเพื่อการศึกษาไทย (Thailand Education Partnership : TEP) จึงร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จัดงานสัมมนา “บทบาทภาคเอกชนในการพัฒนาการศึกษาไทย”เมื่อเร็ว ๆ นี้

ภาคอุตฯเลือกคนพร้อมทำงาน

กลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ฉายภาพถึงตลาดแรงงานไทยว่ามี 39.63 ล้านคนอยู่ในภาคเกษตร 12.59 ล้านคน และนอกภาคเกษตร 26.04 ล้านคน ซึ่งการเกิดขึ้นของ new S-curve ทำให้ผู้ประกอบการล้วนต้องการแรงงานที่มีทักษะด้านสะเต็ม (STEM) คือมีความรู้ความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อีกทั้งยังมองถึงด้าน Arts อีกด้วย เพราะบริษัทต้องให้ความสำคัญกับการบริการ เพื่อให้ผู้บริโภคหรือลูกค้าเกิดความพึงพอใจ

“ความต้องการแรงงานของภาคอุตสาหกรรมตอนนี้เราอยากได้คนสายอาชีวะ หรือสายปฏิบัติการที่มีทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีความรู้ด้านไอทีและภาษาอังกฤษ ซึ่งต้องเป็นคนที่พร้อมทำงานได้ทันที หรือเราไม่ต้องเอามาเทรนเพิ่มมากโดยเขาต้องเป็นคนสู้งาน อดทน และมีความพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ด้วย”

“กลินท์” กล่าวอีกว่า เพื่อพัฒนาการศึกษาไทยให้ไปไกลมากขึ้น ทุกภาคส่วนควรปรับทัศนคติกันใหม่ อย่างกระทรวงศึกษาธิการต้องปรับจาก regulatorมาเป็น facilitator เพื่อให้การดำเนินงาน

ต่าง ๆ เป็นไปอย่างคล่องตัวและเร็วขึ้น ขณะที่ผู้เรียนต้องปรับตัวเองให้รู้จักคิดวิเคราะห์ในการนำองค์ความรู้ไปต่อยอดสิ่งใหม่ ๆ รวมถึงไม่ยึดติดกับการเรียนในห้องเรียน แต่ต้องเป็นผู้ที่พร้อมเรียนรู้ตลอดชีวิต

ขณะเดียวกัน ครูและอาจารย์ต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมตลอดเวลาและฝึกทักษะเพิ่มเติมกับภาคเอกชนเพื่อส่งต่อความรู้ใหม่ ๆ ไปยังนักเรียนและนักศึกษาได้ทันท่วงที

แนะลงทุนสร้างคนคุณภาพ

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มองไปในทิศทางเดียวกันว่า ถึงแม้ประเทศไทยจะพยายามปรับโครงสร้างด้านการศึกษาหลากหลายแนวทาง แต่หากสังคมไม่มีการปรับทัศนคติก็อาจไม่สามารถแก้ปัญหาการศึกษาได้ ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ยังมองว่าการศึกษาไทยเปลี่ยนไม่ได้ เพราะมีความพยายามกันหลายครั้งและมีหลายคณะกรรมการปฏิรูปเกิดขึ้นมากมาย หรือมองว่าหากจะเปลี่ยนแปลงได้ต้องเป็นผู้มีอำนาจเท่านั้น อย่างนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี

“กุญแจสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทย สังคมต้องมองก่อนว่าเราทุกคนมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยได้ และร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นจริง ยกตัวอย่างภาคเอกชนหรือนายจ้างที่มองว่าภาคการศึกษาส่งแต่คนที่ทำงานไม่เป็นมาทำงานด้วย จึงควรปรับมุมมองว่าแล้วบริษัทจะร่วมกับสถาบันการศึกษาในการฝึกปฏิบัติ และให้ความรู้กับอาจารย์และนักศึกษาอย่างไร หรือถึงเวลาแล้วหรือยังที่องค์กรจะลงทุนในการสร้างคนและร่วมพัฒนาด้านการศึกษาอย่างจริงจัง”

“บทบาทที่ภาคธุรกิจสามารถทำได้ มีทั้งโครงการทวิภาคีหรือสหกิจศึกษา รวมถึงเปลี่ยนการบริจาคหรือการทำกิจกรรมเพื่อสังคมแบบเดิมมาสู่การลงทุนหวังผลกระทบ โดยภาคเอกชนควรทำงานร่วมกันเพื่อหาโซลูชั่นที่สามารถตอบโจทย์ปัญหาด้านการศึกษา ซึ่งหากยิ่งลงทุนกับเด็กเล็กหรือเด็กที่มีอายุน้อยเท่าไร ยิ่งได้ผลตอบแทนจากการลงทุนมากเท่านั้น เพราะการสร้างมนุษย์ถือเป็นการลงทุนแบบหนึ่ง ดังนั้น ถ้าเริ่มลงทุนในคนที่อายุยังน้อยจะเป็นการสร้างรากฐานในการสร้างคนให้แข็งแกร่งในอนาคต”

เอกชนคือผู้นำการเปลี่ยนแปลง

ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ เลขานุการคณะกรรมการภาคีเพื่อการศึกษาไทย แสดงความเห็นว่า ภาคเอกชนสามารถเปลี่ยนแปลงทัศนคติของสังคมได้ หรือเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยเหมือนประเทศสหรัฐอเมริกาที่ไมโครซอฟท์และดิสนีย์ได้จับมือกันตั้งกลุ่ม P21(Partnership for 21st Century Skills)แล้วจับมือกับมหาวิทยาลัยในการทำวิจัยว่าทักษะในศตวรรษที่ 21 ควรเป็นอย่างไร และต้องปรับการสร้างคนให้เป็นแบบไหน

“ย้อนกลับมาที่ไทย บริษัทขนาดใหญ่ หรือภาคเอกชนต้องพูดว่าต้องการคนแบบไหน ต้องบอกว่าระบบการศึกษาแบบเดิมที่เรียนกันหนัก แต่ไม่สามารถสร้างคนได้ตอบโจทย์ ตรงนี้ผมมองว่าต้องทำ อย่างกูเกิลไปจับมือกับมหาวิทยาลัย 20 กว่าแห่งจัดคอร์สแบบไร้ดีกรี 8 เดือน แต่การันตีว่าเมื่อจบแล้วบริษัทรับเลย หากบริษัทของไทยทำแบบนี้ก็เหมือนเป็นการส่งสัญญาณว่า ภาคเอกชนไม่ต้องการคนจบปริญญาที่ไม่สามารถทำงานได้ แต่ต้องการคนที่จบมาแล้วทำงานได้เลย”

“ผมมองว่าบริษัทต่าง ๆ สามารถทำได้ทันที เพราะตอนนี้มหาวิทยาลัยไทยกำลังวิกฤตหนัก เนื่องจากมีการเปิดสาขาจำนวนมาก สวนทางกับประชากรเกิดใหม่ที่มีจำนวนลดลง ทำให้การสอบเข้ามหาวิทยาลัยรอบล่าสุดมี 9 แสนที่นั่งแต่มีคนเข้าเพียง 3 แสนคนทุกมหาวิทยาลัยจึงต้องการหาแนวทางใหม่ ๆ ในการดำเนินงาน และการร่วมมือกับภาคเอกชนก็เป็นหนึ่งทางออกเช่นกัน”

“ทพ.กฤษดา” เน้นย้ำว่า ภาคเอกชนคงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยทั้งหมดได้ ดังนั้น ควรโฟกัสเรื่องสำคัญ ๆ ว่าโครงการไหนที่สามารถเปลี่ยนแปลงทัศนคติของสังคมได้ ซึ่งหากทำได้จริงจะเกิดโมเมนตัมใหญ่ที่จะกระแทกระบบการศึกษาให้ต้องเปลี่ยน เพราะถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ การศึกษาไทยพังแน่


“คนพูดถึงไทยแลนด์ 4.0 กันเยอะ แต่มั่นใจแล้วหรือว่าจะพาประเทศไปถึงยุค 4.0 ได้ เพราะปัญหาหลักคือไทยยังขาดคนที่จะขับเคลื่อนประเทศไปสู่จุดนั้น ซึ่งต้องใช้คนแบบใหม่ ถ้าภาคเอกชนไม่กระโดดเข้ามาร่วมด้วยประเทศไทยอาจถึงจุดที่อันตรายได้”