“หมออุดม” แจงไม่บังคับทุกมหา’ลัยต้องเปิดสอนครู 4 ปี

แฟ้มภาพ

จากกรณีที่นายอรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นว่าการจะเปลี่ยนมาใช้หลักสูตร 4 ปี เป็นการเปลี่ยนโดยไม่มีเหตุผล หรือข้อมูลงานวิจัยมารองรับ อีกทั้งหลักสูตร 5 ปี ก็มีการพัฒนาเพิ่ม ต่างจากเดิมทั้งเรื่องการศึกษาพิเศษ การวิจัย ตลอดจนการออกแบบกิจกรรมในชั้นเรียน การปฏิบัติการสอนจริงในห้องเรียนต่อเนื่อง 1 ปีนั้น

ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ได้เป็นการบังคับ มหาวิทยาลัยจะเลือกเปิดสอนหลักสูตรครู 4 ปี หรือ 5 ปีก็ได้ ใครพร้อมสอน 4 ปีก็สอน ตนไม่ได้ว่าอะไร ทุกอย่างขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัย เรื่องนี้ทางศธ.เสนอเป็นนโยบาย เพื่อพัฒนาการจัดการศึกษาให้ดีขึ้น แต่ถ้ามหาวิทยาลัยใดไม่พร้อมจะไม่ทำ ก็ไม่ว่ากัน เพราะมีมหาวิทยาลัยที่พร้อมจะทำจำนวนมาก

“ที่ผ่านมาศธ.และกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) ได้ทำเวิร์คช็อปกันหลายครั้ง ได้ข้อสรุปว่าจะมีการปรับหลักสูตรครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ในกลุ่ม มรภ.โดยให้กลับไปใช้หลักสูตรครู 4 ปีเหมือนเดิม และเริ่มใช้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่า มรภ.ทุแห่งต้องเปิดสอนหลักสูตร 4 ปี แต่เท่าที่คุยกัน มรภ.เกินครึ่งเห็นด้วยที่จะกลับไปผลิตหลักสูตรครู 4 ปี แต่ก็มีบางส่วนจะขอใช้หลักสูตรครู 5 ปี ซึ่งผมก็เข้าใจและไม่บังคับว่า มรภ.ทั้งหมดจะต้องกลับมาใช้หลักสูตรครู 4 ปี เพราะอำนาจการปรับหลักสูตรต่างๆ อยู่ที่สภามหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตามการปรับหลักสูตรการผลิตครู เพื่อต้องการเน้นคุณภาพของครูเป็นหลัก ไม่ได้เน้นระยะเวลา จากนี้มหาวิทยาลัยจะต้องไปตกลงกันและภายในสัปดาห์หน้าขอให้แจ้งมาว่ามหาวิทยาลัยไหนจะใช้หลักสูตรครู 4 ปี เพื่อจะได้เตรียมการ และดำเนินการให้ทันการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาหรือทีแคส แต่มหาวิทยาลัยก็สามารถดำเนินการรับตรงก็ได้ อย่างไรก็ตามจะขอให้ทางคุรุสภาไปกำหนดเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพครูเป็นการผลิตในหลักสูตรครู 4 ปี หรือ 5 ปีก็ได้” นพ.อุดมกล่าว

 

ที่มา : มติชนออนไลน์