“กสิกรฯ” ผนึก “จุฬาฯ” ชู CU NEX พัฒนานิสิต

ดิจิทัลเทคโนโลยีกลายเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยลดข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลความรู้ต่าง ๆ ของนักเรียน นักศึกษา ทั้งยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยพัฒนาศักยภาพของคณาจารย์ นิสิต นักศึกษา รวมถึงบุคลากรของมหาวิทยาลัยให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกด้วย

ความสำคัญของดิจิทัลเทคโนโลยีดังกล่าว จึงทำให้เกิดโครงการ CU NEX ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา ภาครัฐ และเอกชน คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ธนาคารกสิกรไทย โดยกสิกรไทยมาช่วยพัฒนาโซลูชั่นเพื่อการบริหารจัดการส่งเสริมความรู้ด้านดิจิทัล เพิ่มศักยภาพให้กับนิสิต นักศึกษา นอกจากนี้ ยังช่วยสร้างบรรยากาศการเรียน รวมถึงตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของนักศึกษาอีกด้วย

“ขัตติยา อินทรวิชัย” กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า โจทย์ของกสิกรไทยคือต้องการให้บริการที่ “มากกว่า” การเป็นธนาคาร (beyond banking) จึงเกิดความร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสร้างสรรค์การเรียนการสอนในยุคดิจิทัล

“สำหรับเฟสแรกนั้นมีแอปพลิเคชั่น CU NEX เป็นแพลตฟอร์มกลางเชื่อมโลกการเรียนรู้ และการใช้ชีวิตของนิสิตให้รวมเป็นหนึ่งเดียวกัน ตั้งแต่วันแรกในรั้วมหาวิทยาลัยไปจนถึงจบการศึกษา ทั้งระบบการลงทะเบียน การใช้ห้องสมุด การใช้งานบริการอาคารสถานที่ และการเดินทางภายในมหาวิทยาลัย จนเกิดเป็น “ดิจิทัลไลฟ์สไตล์” ที่สามารถทำได้ง่าย ๆ”

“ในแอปพลิเคชั่น CU NEX มีการปรับปรุงบัตรนิสิตให้อยู่ในรูปแบบ digital ID เนื่องจาก CU NEX จะทำให้นิสิตสามารถเข้าใช้อาคารสถานที่ ค้นหารายชื่อบุคลากรและสถานที่ในจุฬาฯได้ ทั้งยังดูข้อมูลวิชาเรียน ตารางเรียน และตารางสอบได้ทุกที่ ทุกเวลา และยังได้รับสิทธิพิเศษจากร้านค้าชั้นนำทั้งภายในและรอบนอกจุฬาฯอีกด้วย”

ล่าสุดภายใต้โครงการ CU NEX ได้เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ ที่เรียกว่า “PLEARN SPACE” โดยคำว่า PLEARN มาจากคำ 2 คำรวมกัน คือ play และ learn เป็นพื้นที่การเรียนรู้ร่วมกันของนิสิตในรูปแบบ digital colearning space ตั้งอยู่ที่ชั้น 1 ของอาคารเปรมบุรฉัตร (สถาบันภาษา) เพื่อเปิดต้อนรับนิสิตเข้ามานั่งพักผ่อน อ่านหนังสือ พบปะสังสรรค์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น สนับสนุนให้นิสิตค้นหาไอเดียและโอกาสใหม่ ๆ ในโลกยุคดิจิทัล โดยมีเทคโนโลยีและมีอุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นตัวเชื่อมต่อ เพื่อสนับสนุนการเล่น และการเรียนรู้ของนิสิตทุกคน

“ขัตติยา” กล่าวเพิ่มเติมว่า การบริการผ่าน PLEARN SPACE จะมีระบบสแกนผ่าน digital ID บนแอป CU NEX หรือแตะบัตรประจำตัวนิสิต โดยพื้นที่เรียนรู้ที่สามารถเลือกได้ทั้งแบบเดี่ยวและแบบกลุ่ม รวมถึงยังมีเวทีขนาดเล็กเพื่อสร้างสรรค์กิจกรรมที่เป็นประโยชน์ และยังมีช่องเก็บของส่วนตัวหรือล็อกเกอร์ (locker) ตู้หยอดอาหาร-เครื่องดื่ม ฯลฯ

“โดยนิสิตสามารถเข้ามาใช้บริการได้ โดยใช้บัตรประจำตัวนิสิตเป็นคีย์การ์ด (key card) หรือจากคิวอาร์โค้ด (QR code) ในแอป CU NEX พรินเตอร์ที่สามารถสั่งพิมพ์งานผ่านแอป CU NEX พร้อมสัญญาณ WiFi เพื่ออำนวยความสะดวกในการค้นหาข้อมูลต่าง ๆ ดูแลความปลอดภัย 24 ชั่วโมง”

“วรัญญา อยู่ชัยกิจ” นิสิตชั้นปีที่ 1 คณะจิตวิทยา ระบุว่า เป็นครั้งแรกที่เข้ามาใช้พื้นที่ที่ PLEARN SPACE ในการอ่านหนังสือ รู้สึกดีที่มหาวิทยาลัยมีพื้นที่แบบนี้ให้นิสิตได้ใช้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ชื่นชอบบรรยากาศที่ดูสบาย ๆ มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้หลายอย่างทั้ง WiFi และปลั๊กไฟ คิดว่าครั้งต่อไปที่จะนัดกลุ่มเพื่อน ๆ ติวหนังสือก็จะมาที่นี่อีก

“ณัฏฐวุฒิ คุ้มปานอินทร์” นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ระบุว่า โครงการ CU NEX นี้ทำให้นิสิตมีพื้นที่ในการอ่านหนังสือ และยังสามารถเข้ามานั่งคุยโปรเจ็กต์กับเพื่อน และที่สำคัญมีเครื่องพรินเตอร์ให้เราสามารถสั่งงานผ่านแอปพลิเคชั่นในโทรศัพท์ได้เลย การใช้งานหลายอย่างก็ง่าย เช่น ล็อกเกอร์ สามารถทำได้ด้วยตัวเองแค่ใช้บัตรนิสิต หรือสแกน QR code ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้มีการขยายไปพื้นที่อื่น ๆ ของมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้น