ตอบโจทย์นักวิจัยรุ่นใหม่ สกอ.+สกว.ชู “พี่เลี้ยง” ช่วยพัฒนา

ภายหลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกันสนับสนุนทุนพัฒนาศักยภาพในการทำงานวิจัยของอาจารย์รุ่นใหม่ รวมถึงทุนส่งเสริมนักวิจัยรุ่นใหม่ต่อเนื่องมากว่า 10 ปี แต่ปรากฏว่า มีนักวิจัยรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งประสบปัญหาในการทำงานวิจัยหลากหลายรูปแบบ

ทั้งภาระงานสอน และงานบริการวิชาการค่อนข้างมาก จนไม่มีเวลาทำวิจัย กอปรกับเครื่องมือในการทำวิจัยไม่เพียงพอ อีกทั้งบทความวิชาการยังถูกปฏิเสธจากวารสารวิชาการนานาชาติ ขาดประสบการณ์ในการทำวิจัย ไม่มีเครือข่าย ไม่เข้าร่วมกลุ่มวิจัย ไม่ได้ทำงานวิจัยในด้านที่ถนัด ไม่มีแรงบันดาลใจในการทำวิจัย และอื่น ๆ

จากปัญหาดังกล่าว ทำให้นักวิจัยรุ่นใหม่ใช้เวลาดำเนินโครงการวิจัยนานกว่าระยะเวลาที่กำหนด และไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการได้ ด้วยเหตุนี้เอง ฝ่ายวิชาการ สกว.จึงกำหนดให้อาจารย์ และนักวิจัยรุ่นใหม่ที่รับทุนพัฒนาศักยภาพในการทำงาน ต้องมีนักวิจัยพี่เลี้ยง (mentor) ซึ่งเป็นผู้ที่มีวัยวุฒิ และประสบการณ์ทำงานวิจัยสูงกว่า มาเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ เทคนิคการทำงานวิจัยให้กับนักวิจัยรุ่นใหม่ ช่วยให้คำปรึกษา และแนะนำในเรื่องที่เป็นประโยชน์กับการทำงานวิจัยของนักวิจัยรุ่นใหม่อย่างใกล้ชิด

พร้อมทั้งสนับสนุน ส่งเสริม พัฒนาความก้าวหน้าในอาชีพของการเป็นนักวิจัยที่ประสบความสำเร็จ เพื่อให้มั่นใจว่านักวิจัยรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมโครงการจะสามารถสร้างโจทย์วิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ผลิตผลงานวิจัยที่มีมาตรฐานสูง และมีการตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ ตลอดจนกระตุ้นให้นักวิจัยมองเห็นแนวทางในการพัฒนานวัตกรรมและองค์ความรู้

ล่าสุด สกอ. และ สกว. มีการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินการ และลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือสนับสนุนกิจกรรมการดำเนินโครงการ “การพัฒนาศักยภาพนักวิจัยรุ่นใหม่ ผ่าน Multimentoring System (MMS) ในสถาบันอุดมศึกษา” ร่วมกับผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา 6 กลุ่มทั่วประเทศ ในการสร้างเครือข่ายวิจัยแบบบูรณาการ รับฟังความเห็น และติวเข้มนักวิจัยรุ่นใหม่ ให้มีโจทย์และงานวิจัยที่สร้างผลกระทบ ก้าวข้ามจุดเปลี่ยนสู่การใช้ประโยชน์ และตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในอนาคตต่อไป

“ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง” ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สกว. กล่าวว่า โครงการ MMS จัดทำขึ้นเพื่อสร้างกลไกการพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่เข้าร่วมโครงการให้สามารถสร้างโจทย์วิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ เพื่อกระตุ้นให้เห็นถึงแนวทางการพัฒนานวัตกรรม และองค์ความรู้ จนนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของประเทศให้เกิดผลสำเร็จและพัฒนาอย่างสมบูรณ์

ทั้งยังเป็นการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างนักวิจัยรุ่นใหม่ นักวิจัยพี่เลี้ยง และสถาบันอุดมศึกษา ให้มีความเข้มแข็ง จนเกิดการถ่ายทอด แลกเปลี่ยน เชื่อมโยงเครือข่ายวิจัย และสร้างองค์ความรู้ใหม่จากการทำงานวิจัย โดยมหาวิทยาลัยและนักวิจัยพี่เลี้ยงจะมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้งานวิจัยของนักวิจัยรุ่นใหม่บรรลุวัตถุประสงค์ได้

“สกอ. และ สกว. โดยฝ่ายวิชาการจึงมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพในการทำงานวิจัยของอาจารย์ และนักวิจัยรุ่นใหม่ ผลักดันให้เกิดการกำหนดมาตรฐาน หรือมาตรการสร้างแรงจูงใจแก่สถาบันอุดมศึกษาที่ส่งเสริมการทำงานวิจัยของอาจารย์และนักวิจัยรุ่นใหม่”

“นอกจากนี้ ยังต้องร่วมกันติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการให้มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลเป็นที่ประจักษ์ ตลอดจนร่วมกันพิจารณาอาจารย์และนักวิจัยที่มีความรู้ ความสามารถ เพื่อทำหน้าที่เป็นหัวหน้าโค้ช รวมถึงสนับสนุนงบประมาณในการทำงานร่วมกับโค้ช ซึ่งเป็นตัวแทนของสถาบันอุดมศึกษาเพื่อดำเนินการต่าง ๆ”

“ศ.ดร.สมปอง” กล่าวอีกว่า ขณะที่สถาบันอุดมศึกษาจะมีบทบาทในการร่วมผลักดันนโยบาย สร้างความตระหนักแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนอาจารย์ และนักวิจัยรุ่นใหม่ให้เห็นถึงความสำคัญของการทำงานวิจัย รวมถึงการติดตามความก้าวหน้างานวิจัย เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่สู่การสร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ

“อีกทั้งยังส่งเสริมให้มีหน่วยสนับสนุนเพื่อบริหารจัดการด้านทรัพยากรบุคคล การประสานความร่วมมือระหว่างนักวิจัยรุ่นใหม่ นักวิจัยพี่เลี้ยง และทีมโค้ช การประชาสัมพันธ์โครงการ และอื่น ๆ ตลอดจนสร้างระบบและบรรยากาศที่ดีต่อการทำวิจัย ติดตามดูแลอาจารย์ และนักวิจัยที่ได้รับทุนให้ดำเนินโครงการและสามารถส่งรายงานความก้าวหน้าได้ตามกำหนดเวลาต่อไป”

“ดร.สุภัทร จำปาทอง” เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวว่า หากพิจารณาจำนวนนักศึกษาระดับอุดมศึกษาที่สังกัด สกอ. มีสิ่งที่น่าแปลกใจว่าตั้งแต่ปี 2559 จำนวนผู้เรียนลดลงเป็นจำนวนมาก จาก 2 ล้านคน เหลือเพียง 1.86 ล้านคน โดยเฉพาะนักศึกษาใหม่ในระดับปริญญาตรี ปี 2560 มีจำนวน 401,754 คน และคาดว่าปีนี้น่าจะต่ำกว่า 4 แสนคน และมีผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีเพียง 302,713 คน ทั้งที่ใช้เงินลงทุนรายหัวเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมบุคลากรด้านวิจัยและพัฒนาในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งอุตสาหกรรมการผลิต และการบริการ โดยเฉพาะกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มที่มีจำนวนนักวิจัยมากที่สุด รองลงมาคือผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก สารเคมีและเคมีภัณฑ์ ซึ่งมีความต้องการงานวิจัยที่มีความหลากหลาย และในเชิงลึกมากขึ้น สะท้อนให้เห็นทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนไทยให้ความสำคัญกับการสรรค์สร้างนวัตกรรม เพื่อสร้างสิ่งใหม่ ๆ ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและอุตสาหกรรม

“โดยส่วนตัวแล้ว ผมให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา โดยเฉพาะงานวิจัยพื้นฐาน ทั้งการบริหารจัดการโครงการวิจัย งานเอกสารการเงินเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งถือเป็นภาระและพันธะที่ไม่สามารถแก้ได้ ผู้เป็นโค้ช และอาจารย์ที่ปรึกษา อาจให้คำแนะนำได้ แต่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยต้องเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างระบบที่เอื้อต่อการทำงานของนักวิจัยในอีกทางหนึ่ง”

“แม้ว่านักวิจัยรุ่นใหม่อาจจะยังไม่มีเครื่องมือที่เพียงพอต่อการทำงาน แต่ผมเชื่อว่าโครงการ MMS จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือของการทำงานวิจัยให้ง่ายขึ้น และสร้างสภาพแวดล้อมต่าง ๆที่ช่วยหนุนเสริม สุดท้ายแล้ว นักวิจัยรุ่นใหม่ต้องแสวงหาความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ ข้ามสถาบัน และพร้อมที่จะฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง ร่วมกันทำงานเป็นทีมมากขึ้น”

อันเป็นการพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ให้สามารถสร้างโจทย์วิจัยที่เป็นประโยชน์ และตอบรับกับการพัฒนาประเทศในอนาคตต่อไป