Thammasat Gen Next กลยุทธ์ใหม่สู่มหา’ลัยแห่งอนาคต

เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้การเข้าถึง “การเรียนรู้” และ “ความรู้” ไม่ได้อยู่แค่เพียงห้องเรียนเท่านั้น กอปรกับการที่อัตราการเกิดลดน้อยลง และสังคมผู้สูงอายุกำลังเข้ามาทดแทน ส่งผลให้รูปแบบการเรียนรู้แบบเดิม ๆ ในอดีตที่ผ่านมาอาจไม่ตอบสนองต่อบริบทโลกยุคใหม่ ทำให้สถาบันการศึกษาต้องปรับตัวขนานใหญ่ เพื่อตอบโจทย์ลักษณะผู้เรียนที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการศึกษาในรั้ว “มหาวิทยาลัย” 

หากมองในแง่ของความคล่องตัวในการบริหารงาน ดูเหมือน “มหาวิทยาลัยเอกชน” จะสามารถขยับได้รวดเร็วกว่า “มหาวิทยาลัยรัฐ” ซึ่งนี่เป็น “จุดอ่อน” ที่มหาวิทยาลัยรัฐไม่ควรมองข้าม ยิ่งเป็นมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ที่อยู่มานาน ก็ต้องเจอกับข้อจำกัดนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมีโครงสร้างองค์กรซับซ้อน และมีบุคลากรอยู่จำนวนมาก

ทั้งนั้น หากจะอยู่นิ่งดูดาย และนอนกินบุญเก่าจากชื่อเสียงที่สั่งสมมานานก็อาจไม่สามารถทำได้อีกต่อไปแล้ว เพราะเมื่อโลกเปลี่ยน ส่งผลให้ไลฟ์สไตล์ผู้เรียนเปลี่ยน หากไม่ปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานก็อาจทำให้มหาวิทยาลัยถูกดิสรัปชั่นจนไม่อาจยืนอยู่ในตลาดได้อีกต่อไป

โดยหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่ขยับตัวแล้ว คือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ซึ่งได้ปรับกระบวนทัศน์การเรียนรู้ใหม่หลากหลายด้านตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา เพื่อรับมือกับพลวัตการศึกษาที่พลิกผันไปอย่างรวดเร็ว

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “รศ.เกศินี วิฑูรชาติ” อธิการบดี มธ. และ “รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์” รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มธ. ถึงแนวทางการปรับตัวของ มธ. เพื่อก้าวข้าม “วิกฤตการศึกษา” ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน สู่การรับมือกับโลกอนาคต

เบื้องต้น “รศ.เกศินี” กล่าวว่า มธ.มีการปรับตัวมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เท่าทันโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งการพัฒนาการเรียนการสอนแบบ active learning เพื่อให้นักศึกษาได้คิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ และมุ่งให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง มากกว่าการเรียนทฤษฎีในห้องเรียน ด้วยการฝึกงานกับภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม การลงชุมชน หรือการเรียนรู้แบบกรณีศึกษา (case study)

อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับความเป็น internationalization โดยเฉพาะความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ทั้งเรื่องหลักสูตร การแลกเปลี่ยนคณาจารย์และนักศึกษา อย่างหลักสูตรวิศวกรรมแบบ 2+2 ที่เรียนทั้งในไทย และสามารถเลือกเรียนได้จาก 3 ทวีปทั่วโลก นอกจากนี้ มธ.ยังมีหลักสูตรนานาชาติ และหลักสูตร 2 ภาษารวมกว่า 100 หลักสูตร

ไม่เพียงเท่านี้ มธ.ยังได้กำหนดคุณสมบัติของบัณฑิตในศตวรรษที่ 21 คือ “GREATS” ที่ต้องมีความเข้าใจในบริบทโลก เป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบ รู้จักสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ มีสุนทรียะ มีความเป็นผู้นำ มีการทำงานที่เป็นทีม และที่สำคัญ ต้องมีจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ เพื่อรับใช้ประชาชนและสังคม ตรงนี้ถือเป็นความสำคัญที่นักศึกษา มธ. จะสามารถนำไปต่อยอดกับการทำงานในทุก ๆ สถานการณ์ต่อไปในอนาคต

“เราพยายามสร้างสภาพแวดล้อมให้นักศึกษามีคุณสมบัติดังกล่าว เพื่อบ่มเพาะและสร้างการเติบโตให้เขารู้จักการบริหารงาน บริหารคน ในวันที่โลกเปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ ก่อนสำเร็จการศึกษา นักศึกษาทุกคนต้องสอบวัดคุณสมบัติ GREATS ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดทักษะบัณฑิตที่สำคัญ นอกเหนือจากด้านวิชาการอย่างเดียว” 

“รศ.ดร.ชาลี” กล่าวเสริมว่า เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกและของไทย ทั้งยังตอบโจทย์ผู้เรียนยุคใหม่ มธ.ได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ เข้ามายกระดับการเรียนรู้ของนักศึกษา ปรับรูปแบบการเรียน และสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการเรียนแบบ active learning

“ไม่ว่าจะเป็นการปรับการเรียนการสอนในวิชาทั่วไปทั้ง 10 วิชา เพื่อให้นักศึกษามีทักษะความเป็นผู้นำ ทันต่อโลกต่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมีห้องเรียนที่เอื้อต่อการเรียนรู้แบบแอ็กทีฟ ที่อาจารย์ตั้งโจทย์ และเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ค้นคว้าหาความรู้ ทั้งยังมีพื้นที่ให้ได้ทำงานร่วมกันผ่านกิจกรรมต่าง ๆ”

อีกทั้งยังมุ่งส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้แบบอีเลิร์นนิ่ง เพื่อให้นักศึกษาเข้าถึงการเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา สร้างความสมดุลระหว่างการเรียนและการใช้ชีวิตที่เหมาะสม โดยตั้งเป้าที่จะผลิตสื่อการสอนแบบออนไลน์ให้ได้ 40 วิชาต่อปี ซึ่งมีการสร้างสตูดิโอสำหรับการทำ e-Learning โดยเฉพาะ และคาดว่าในอนาคตจะเปิดให้คนภายนอกเข้ามาศึกษาตามความสนใจอีกด้วย

“เพื่อให้การเรียนรู้แบบอีเลิร์นนิ่งเกิดขึ้นจริง นอกจากการผลิตสื่อการสอนแบบออนไลน์แล้ว สิ่งที่สำคัญที่เราต้องทำควบคู่กันไป คือ การพัฒนาอาจารย์ตามแนวมาตรฐานวิชาชีพ เพื่อให้รูปแบบการสอนปรับเปลี่ยนมาเป็นแอ็กทีฟ ทั้งยังส่งเสริมให้คณาจารย์มีทักษะหรือองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี เพื่อสร้างบทเรียนอีเลิร์นนิ่งที่มีประสิทธิภาพ”

“ที่สำคัญ ต้องมีการกำหนดภาระงานใหม่ ลดภาระงานที่ไม่จำเป็น เพื่อให้คณาจารย์มุ่งความสนใจไปยังการสอนที่มีคุณภาพ ตลอดจนส่งเสริมทุนการศึกษาและการวิจัย ซึ่งถือว่าเป็นการต่อยอดองค์ความรู้ของอาจารย์ในอีกทางหนึ่งด้วย”

ทั้งนั้น ในขณะที่จำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลง และผู้สูงอายุมากขึ้น “รศ.ดร.ชาลี” บอกว่า มธ.จะเปิดตัว Gen Next Academy ในปี 2562 ซึ่งเป็นการกลับมาของคำว่า “ธรรมศาสตร์ตลาดวิชา” ซึ่งเป็นระบบการเรียนรู้แบบออนไลน์ที่เปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่ม ทุกวัย ตั้งแต่วัยเรียน วัยทำงาน หรือวัยเกษียณ สามารถเข้าเรียน เพื่อเพิ่มความรู้และทักษะ หรือทบทวนความรู้เดิม และหาความรู้ใหม่ได้ตามความต้องการ ทั้งแบบออนไลน์และเข้าร่วมศึกษาในชั้นเรียน

“ผู้ที่เข้ามาเรียนใน Gen Next Academy จะถือว่าเป็นศิษย์ธรรมศาสตร์ โดยไม่มีจำกัดวุฒิและอายุใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งจะมีการรับรองทั้งแบบประกาศนียบัตร อนุปริญญา หรือปริญญาบัตร ขึ้นอยู่ตามข้อกำหนดของแต่ละหลักสูตร อย่างนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาที่เข้ามาเรียนในเจนเน็กซ์ อะคาเดมี่ ก็สามารถนำเครดิตที่ได้ไปใช้ในการเรียนของรายวิชาเดียวกัน หากเข้าศึกษาต่อที่ มธ.”

“ไม่เพียงเท่านี้ มธ.ยังเปิดโอกาสให้นักศึกษาสามารถเลือกเรียนข้ามศาสตร์ ข้ามสายได้ตามความสนใจของตน โดยสามารถเลือกเรียนวิชาโทข้ามศาสตร์วิชาได้อย่างไม่มีข้อกำหนด และไม่มีการบังคับให้เลือกวิชาหลักตั้งแต่เริ่มเข้าศึกษา แต่จะเลือกหลังจากเรียนไปแล้ว 3 ภาคการศึกษา ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการเรียนไม่ตรงกับความชอบ หรือความสนใจของตัวเองได้อีกทางหนึ่ง”

เหล่านี้เป็นทิศทางการปรับตัวของ มธ. ที่มีเป้าหมายสำคัญ คือ มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งอนาคต (Thammasat Defining the Future) อย่างแท้จริง