สายไหม้! “หมออุดม” ชี้นายกสภากริ๊งหาเหตุ กก.สภาถอดใจเตรียมออก หลังต้องยื่น “ทรัพย์สิน-หนี้สิน”

ความคืบหน้ากรณีประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรื่องกําหนดตําแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ.2561 ที่ได้ประกาศในราชกิจจาบุเบกษาเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยประกาศดังกล่าว นอกจากจะกำหนดให้ผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ยื่นบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ รวมทั้งตรวจสอบ และเปิดเผยผลการตรวจสอบทรัพย์สิน และหนี้สินของบุคคลดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแล้ว แต่ยังรวมถึงนายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภา และอธิการบดี ของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มหาวิทยาลัยสงฆ์ มหาวิทยาลัยรัฐ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) นั้น

เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีนายกสภาหลายแห่ง โทรศัพท์เข้ามาปรึกษากับตน เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าว เพราะขณะนี้มีกรรมการสภาหลายแห่งเริ่มทยอยลาออก ทำให้สภาเองเกิดความกังวล หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ สภาจะเกิดสุญญากาศ ไม่สามารถอนุมัติเรื่องสำคัญๆ ได้ เพราะองค์ประกอบสภาไม่ครบ ดังนั้น ตนจึงได้หารือกับนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ให้ทำหนังสือถึง ป.ป.ช.เพื่อขอให้แก้ไขกฎหมายดังกล่าว

นพ.อุดมกล่าวอีกว่า กฎหมายฉบับนี้ออกมาโดยไม่ได้สอบถามความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะมหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ต่อไปอาจทำให้ไม่มีภาคเอกชนเข้ามาช่วยแนะนำ หรือให้ข้อคิดเห็นในเรื่องการพัฒนาการศึกษา เพื่อให้มหาวิทยาลัยสามารถผลิตบัณฑิตได้ตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และความต้องการของประเทศ

“เรื่องนี้ ป.ป.ช.มองด้านเดียว ทั้งที่ความจริงแล้ว ก่อนออกกฎหมายอะไร ควรสอบถามผู้ได้รับผลกระทบก่อน ซึ่งผมก็ได้ถามไปทางสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ว่า ป.ป.ช.เคยมีหนังสือสอบถามเรื่องนี้หรือไม่ ก็ได้รับคำตอบว่าไม่เคยถาม ซึ่งถือว่าไม่เหมาะสม เพราะข้อเท็จจริงสภาไม่ได้มีอำนาจในการอนุมัติงบประมาณของมหาวิทยาลัย ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องเงินเลย หากคนที่ออกกฎหมายเข้าใจในจุดนี้แล้วสอบถามก่อน จะไม่เกิดปัญหา ผมคิดว่าเรื่องนี้จะส่งผลกระทบอย่างมาก เพราะกรรมการสภาหลายคนคงลาออก ทั้งนี้ บางคนเป็นนักธุรกิจ เข้ามาทำงานเพราะอยากช่วยพัฒนาการศึกษา แต่ถ้าเข้ามาแล้วเกิดความยุ่งยาก ต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สิน รวมถึงบุตร และภรรยาก็ต้องแจ้งด้วย หากมีความผิดพลาด เขาก็เดือดร้อน ซึ่งถ้าเป็นผม ผมก็ลาออกดีกว่า” นพ.อุดม กล่าว

 

ที่มา : มติชนออนไลน์