จ่อตั้งสอบวินัยร้ายแรงบิ๊ก สพฐ. 5 ราย เอี่ยวทุจริตจัดซื้อครุภัณฑ์ 279 ล้านบาท

พล.ท.โกศล ประทุมชาติ

เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พล.อ.โกศล ประทุมชาติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตนได้เข้าพบ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการศธ. เพื่อรายงานผลการสรุปสำนวนการสอบข้อเท็จจริง กรณีการจัดซื้อจัดซื้อครุภัณฑ์ฝึกทักษะมัธยมศึกษาตอนต้น ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 279 ล้านบาท ซึ่งนายอรรถพล ตรึกตรอง ผู้ตรวจราชการศธ. ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯได้สรุปผลการตรวจสอบ และเสนอตั้งกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง ผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวน 5 ราย ดังนี้ นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) นายณรงค์ แผ้วพลสง ผู้ตรวจราชการศธ. ในฐานะอดีตรองเลขาธิการกพฐ. ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการมัธยมศึกษาตอนปลาย สพฐ ข้าราชการระดับ 8 และผู้อำนวยการโรงเรียน ในพื้นที่ภาคอีสาน ส่วนผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของนายสนิท แย้มเกษร ผู้ช่วยเลขาธิการกพฐ. นั้น ถือเป็นการแต่งตั้งภายในของสพฐ.เอง การพิจารณาจะยึดผลการตรวจสอบของนายอรรถพล ไม่ใช้ผลการตรวจสอบของสพฐ.

พล.อ.โกศล กล่าวต่อว่า สำหรับผู้บริหารระดับ 10 และ11 จะเกี่ยวข้องในเรื่องการกำหนดนโยบาย ซึ่งจะผิดจริงหรือไม่ ก็ต้องไปชี้แจงในคณะกรรมการสอบสวนวินัยฯ ในส่วนของผู้อำนวยการโรงเรียนโยงใยในเรื่องของการล็อกสเปก โดยระหว่างนี้อยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดและส่งให้ทีมนิติการ สำนักงานปลัดศธ. พิจารณาว่า เห็นตรงกันหรือไม่ จากนั้นจะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการศธ.ลงนาม ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยฯ ต่อไป โดยคาดว่าจะสามารถตั้งกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงได้ ภายในสัปดาห์หน้า ส่วนประธานสอบจะเป็นใครนั้น ขึ้นอยู่การพิจารณารัฐมนตรีว่าการศธ.

ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อมีการสรุปเสนอตั้งกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง ระดับ 10 และ 11 ของสพฐ. และจะต้องย้ายออกจากพื้นที่ก่อนหรือไม่ พล.อ.โกศลกล่าวว่า เรื่องนี้อยู่ที่ดุลยพินิจของ นิติการ สำนักงานปลัดศธ. ว่าจะเสนอ นพ.ธีระเกียรติ พิจารณาใช้มาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในระบบราชการ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือไม่ เพราะเรื่องนี้เกี่ยวโยงกับข้อมูลหลายอย่าง และขณะนี้ยังถือว่า อยู่ในขั้นการชี้มูล จากนั้นจึงจะมีการสอบสวน ถือว่าความเสียหายเรื่องเงินยังไม่เกิด เพราะงบประมาณตกไปก่อน แต่ความเสียหายในแง่ของการบริหารงบประมาณได้เกิดขึ้นแล้ว แทนที่จะนำงบฯมาให้นักเรียน ก็ไม่ได้ทำ อีกทั้งยังถือว่าผิดนโยบายรัฐบาล ที่เร่งให้แต่ละหน่วยงานใช้จ่ายงบประมาณในปี 2560 ส่วนจะถือว่าเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการสอบสวน

 

ที่มา : มติชนออนไลน์