สนช.หนุนปรับแพทย์ 2.5 ล. ชี้อยากดึงหมออยู่ในระบบ ต้องเพิ่มสวัสดิการ-ลดชม.งาน คู่กันไป

เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะรองประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษาและการกีฬา สนช.และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เปิดเผยกรณีที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เตรียมเสนอขอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาทบทวนมติ ครม.เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2516 เพื่อขอเพิ่มค่าปรับนักศึกษาแพทย์ผู้ผิดสัญญาการเป็นนักศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ จากวงเงิน 4 แสนบาท เป็น 2.5 ล้านบาท โดยขอให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 เป็นต้นไป โดยมอบให้ สธ.ทำหน้าที่ประสานกับสถาบันการผลิตนักศึกษาแพทยศาสตร์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่า การเพิ่มค่าปรับจาก 4 แสนบาท เป็น 2.5 ล้านบาท เป็นมาตรการที่มีความจำเป็นต้องใช้ในสถานการณ์ปัจจุบัน แต่ไม่ใช่มาตรการที่ดีที่สุด ที่จะประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนแพทย์ในเขตชนบท หรือต่างจังหวัด

นพ.เฉลิมชัยกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ จะต้องกระทำพร้อมกับมาตรการอื่นๆ ด้วย เช่น ให้บัณฑิตแพทย์ที่จบได้ขวัญกำลังใจเรื่องการเพิ่มค่าตอบแทน และค่าเบี้ยกันดาร ให้กับแพทย์ที่เสียสละไปอยู่ในพื้นที่ขาดแคลน ซึ่งทุกวันนี้ สธ.ดำเนินการอยู่ หรือสร้างระบบความก้าวหน้าในชีวิต เช่น ให้เรียนต่อเฉพาะทางเป็นลำดับแรกๆ ก่อนผู้อื่น หรือการทำให้จำนวนชั่วโมงการทำงานที่ไม่หนัก และเหนื่อยจนเกินไป โดยมีระบบสนับสนุน เช่น มีบุคลากรเข้ามาช่วยเพิ่มเติม สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญ เเละยั่งยืน ในการแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในชนบทมากกว่าการปรับเงินแพทย์ที่ไม่ยอมทำงานใช้ทุน

“ปัจจุบัน แพทย์ที่ทำงานในชนบทมีสัดส่วนสูงขึ้นจากในอดีต แต่ยังไม่เพียงพอ เมื่อยังไม่เพียงพอ จึงต้องใช้มาตรการการบังคับให้ไปทำงานในชนบท หรือพื้นที่ขาดแคลน หากแพทย์ไม่ไปจะปรับเงิน มาตรการนี้จึงเป็นมาตรการเสริม ไม่ใช่มาตรการหลัก เพียงแต่คนจะพูดเรื่องนี้มากกว่า เพราะเกี่ยวพันกับความรู้สึกของผู้คน” นพ.เฉลิมชัย กล่าว

นพ.เฉลิมชัยกล่าวต่อว่า ตัวเลขเดิมในการปรับค่าเบี้ยวสัญญาคือ 4 แสนบาท เป็นตัวเลขที่ใช้กันมานาน และเวลาผ่านไป อัตราเงินเฟ้อเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น การปรับอัตราเดิม อาจจะไม่สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน ไม่มีน้ำหนักมากพอให้รู้สึกเสียดายเงิน และต้นทุนค่าใช้จ่ายที่รัฐต้องสนับสนุนเพิ่มมากขึ้น จึงต้องเพิ่มค่าปรับให้สอดคล้องกับความเป็นจริง อย่างไรก็ตาม รัฐไม่ได้ประสงค์อยากจะได้เงินค่าปรับ รัฐอยากได้แพทย์เข้ามาทำงานช่วยเหลือผู้ยากไร้ในชนบทมากกว่า

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีผู้วิจารณ์ว่าแพทย์ที่เลือกเสียค่าปรับ อาจออกไปเป็นแพทย์เชิงพาณิชย์มากขึ้นหรือไม่ เพราะเสียค่าปรับในราคาที่แพง ก็อาจจำเป็นต้องหารายได้ เพื่อให้ได้เงินที่เสียไปกลับคืนมา นพ.เฉลิมชัย กล่าวว่า คงมีอยู่บ้าง แต่ไม่น่าจะมาก มองว่าประเด็นนี้ขึ้นอยู่กับคุณธรรมจริยธรรมของเเพทย์แต่ละคนมากกว่า

 


ที่มา : มติชนออนไลน์