“อดีต รมช.ศธ.” ห่วงปัญหายื่นบัญชีทรัพย์สิน ป.ป.ช.ลามทำมหา’ลัยหยุดชะงัก

กรณี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เผยถึงความคืบหน้าการแก้ปัญหากรณีกรรมการสภามหาวิทยาลัยต่างๆ เตรียมยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากไม่พอใจประกาศ ป.ป.ช.ที่ให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. โดยล่าสุด ป.ป.ช.ได้ส่งตัวแทนไปหารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งในการประชุม ป.ป.ช.ในวันที่ 13 พฤศจิกายน จะพิจารณาขยายเวลาออกไปอีก 30 วันจากเดิมมีผลบังคับใช้วันที่ 2 ธันวาคม 2561 หากขยายเวลาออกไปอีก 30 วัน รวมเป็น 60 วัน จะมีเวลาเหลือเฟือเพื่อให้กรรมการสภาที่มีความประสงค์ที่จะลาออก ได้เตรียมตัวและพิจารณาว่าจะอยู่ต่อหรือไม่ เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยที่จะต้องหาคนมาทดแทนกรรมการสภาที่ลาออก แนวทางนี้จะทำให้การดำเนินการตามกฎหมายไม่เกิดความสะดุด กรณีที่สมเด็จพระสังฆราชต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินตามประกาศดังกล่าวด้วยนั้น ชัดเจนว่าองค์สมเด็จพระสังฆราชไม่มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินตามประกาศ ป.ป.ช. เนื่องจากสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธานสงฆ์ที่โปรดเกล้าฯ โดยพระมหากษัตริย์ แต่ไม่รวมถึงพระเถระชั้นผู้ใหญ่ในสภามหาวิทยาลัย ดังนั้นพระเถระหลายๆ รูปก็จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน นั้น

นายวรากรณ์ สามโกเศศ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ตนเป็นกรรมการสภาฯ ผู้ทรงคุณวุฒิที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กรรมการสภาสถาบันพระปกเกล้า เชื่อว่าการยื่นบัญชีทรัพย์สิน หนี้สิน และให้เปิดเผยต่อสาธารณะจะทำให้เกิดการฟ้องร้อง ไม่จบสิ้น ขณะที่กรรมการสภาฯ เองเสี่ยงทำผิดกฎหมายเพราะรายงานบัญชีทรัพย์สินไม่ครบโดยไม่ตั้งใจ อย่างตนเอง ที่ผ่านมาซื้อหุ้นเล็กๆ น้อยๆ ไว้จำนวนมากก็มีความเป็นไปได้ที่อาจรายงานไม่ครบถ้วน ขณะที่กรรมการสภาฯ หลายคนมาจากภาคเอกชนมีบัญชีกระแสรายวัน ที่เปลี่ยนแปลงตลอด ซึ่งทุกครั้งที่บัญชีเปลี่ยนแปลง ก็จะต้องแจ้ง ป.ป.ช. อีกทั้งการรายงานบัญชีทรัพย์สินก็มีความยุ่งยาก หากรายงานไม่ครบ ก็อาจมีความผิด

“บทบาทของกรรมการสภาฯ ต่างจากหน่วยงานอื่น การแก้ปัญหาเรื่องนี้ อย่างน้อยต้องมีบทเฉพาะกาล ในหลักการ การทำงานของสภาฯไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้าง ไม่เหมือนบอร์ดรัฐวิสาหกิจ หรือบอร์ดอื่นๆ การยื่นบัญชีทรัพย์สินหากกรอกไม่ครบ ก็ไม่ใช่ว่าจะโกง แต่เรื่องแบบนี้ลืมกันได้ หาก ป.ป.ช.ยังไม่มีความชัดเจนเชื่อว่า กรรมการสภาฯ จะลาออกเยอะมาก ทำให้การทำงานของมหาวิทยาลัยหยุดชะงัก และต้องใช้เวลาสรรหากรรมการสภาฯ ชุดใหม่อีกหลายเดือน” นายวรากรณ์กล่าว

 

ที่มา : มติชนออนไลน์