3 สตาร์ตอัพ ‘ม.รังสิต’ พลิกชีวิตนศ.สู่เส้นทางเถ้าแก่น้อย และวิธีสร้าง”Ecosystem” กระตุ้นไอเดีย

หากพูดถึงเป้าหมายการทำงานของคนรุ่นใหม่ในตอนนี้ ส่วนใหญ่ไม่ได้ยึดติดกับการเข้าทำงานในบริษัท หรือเป็นลูกจ้างกินเงินเดือน เหมือนคนเจเนอเรชั่นก่อนหน้าอีกแล้ว เพราะพวกเขาต่างต้องการมีธุรกิจเป็นของตัวเอง โดยเริ่มปั้นธุรกิจตั้งแต่ยังเรียนอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย

เมื่อบวกกับการส่งเสริมจากสถาบันการศึกษานั้น ๆ และการเปิดโอกาสจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่พร้อมสนับสนุนทุนให้กับโปรเจ็กต์ที่ดี และสามารถต่อยอดได้ จึงเป็นแรงสนับสนุนที่ทำให้ไอเดียกลายเป็นความจริง ทั้งยังเป็นธุรกิจสตาร์ตอัพที่สามารถตอบโจทย์สถานการณ์ของประเทศได้

ในส่วนของมหาวิทยาลัยรังสิตมีการผลักดันนักศึกษาเข้าร่วมเวทีประกวดสตาร์ตอัพ ทั้งของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ, ธนาคารออมสิน, ทรู เป็นต้น โดยมีหลากหลายผลงานที่มีความโดดเด่น และสามารถสร้างรายได้ให้กับเหล่าสตาร์ตอัพได้แล้ว

แพลตฟอร์มเพื่อผู้ป่วยติดเตียง

เริ่มต้นด้วยบริการเจาะเลือดถึงบ้าน กับ “GATEDEE” ที่มาจากการมองเห็นปัญหาว่า ผู้สูงอายุที่เดินทางไม่สะดวก คนไข้ หรือผู้ป่วยติดเตียงอาจไม่สามารถเดินทางไปที่โรงพยาบาลได้ ซึ่งบริการนี้ทางญาติสามารถ โทร.นัดล่วงหน้า หลังจากนั้น ระบบจะจัดหานักเทคนิคการแพทย์ออกไปให้บริการถึงบ้าน แล้วส่งผลตรวจให้ภายใน 2 วันผ่านทางออนไลน์

“จินห์จุฑา ปัญญาดี” ว่าที่บัณฑิตสาขาวิชาสารสนเทศการแพทย์ วิทยาลัยนวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีสารสนเทศ ม.รังสิต หนึ่งในทีมผู้คิดค้นบริการนี้ เล่าถึงข้อมูลจากการทำงานว่า ลูกค้าส่วนใหญ่อายุ 40-50 ปี โดยใช้บริการเพื่อพ่อแม่ หรือญาติของตนเองที่มีอายุ 80-90 ปี และเป็นผู้ป่วยติดเตียง หากต้องพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาล นอกจากมีต้นทุนเรื่องเวลาในการเดินทาง และการรอคิวในการตรวจ บางกรณีต้องจ่ายค่ารถพยาบาลด้วย

“สเต็ปถัดไปที่มองไว้ คือ จับมือกับแอป QueQ ในการจองคิวเพื่อนัดหมายเวลาพบแพทย์สำหรับคนทราบผลเลือดแล้วต้องไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ขณะเดียวกันจะเจาะตลาด B2B กับบริษัทที่มีนโยบายตรวจสุขภาพให้กับพนักงานของตัวเอง”

เชื่อมริสต์แบนด์กับโรงพยาบาล

อีกหนึ่งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับด้านการแพทย์ คือ ริสต์แบนด์ “Jub Jai” โดยหนึ่งในสมาชิกของทีม “ธนพจน์ญาสมุทร” นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาสารสนเทศการแพทย์ วิทยาลัยนวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีสารสนเทศ ม.รังสิต ให้ข้อมูลว่า ริสต์แบนด์จะเชื่อมต่อบลูทูทกับสมาร์ทโฟนได้ ซึ่งจะตรวจจับการทำงานของชีพจร และการเคลื่อนไหวของร่างกาย ซึ่งเป้าหมายหลักของริสต์แบนด์ คือ การหาค่าความผิดปกติของชีพจร ที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการใช้งานกับผู้สูงอายุ

เพราะหากเกิดอุบัติเหตุ หรือความผิดปกติใด ๆ ผู้สูงอายุสามารถกดปุ่ม SOS ที่สามารถต่อสาย โทร.หาลูกหลานได้ทันที ขณะเดียวกัน ระบบจะเก็บข้อมูลชีพจรแล้วส่งต่อไปยังโรงพยาบาล ซึ่งจะมอนิเตอร์ว่าผู้สูงอายุคนนั้น ๆ มีความผิดปกติ และต้องมาพบแพทย์หรือไม่ โดยจัดทำระบบนี้ร่วมกับโรงพยาบาล 3 แห่งแล้วใน จ.ชลบุรี, สมุทรปราการ และสงขลา

“ตอนนี้มีบริษัทนายทุนมาร่วมลงทุนกับเราแล้ว โดยที่เข้ามาช่วยเรื่องโมเดลธุรกิจ โซลูชั่น การออกวางขาย และการทำโปรโมชั่น ซึ่งนอกจากริสต์แบนด์สำหรับผู้สูงอายุที่จะจำหน่ายภายในปีนี้ เรายังมีริสต์แบนด์ของบุคคลทั่วไปที่แสดงผลข้อมูลด้านสุขภาพทั้งการเต้นของหัวใจและชีพจร รวมถึงสำหรับเด็กที่สามารถติดตามตำแหน่งที่อยู่ของเด็กได้ โดยจะวางจำหน่ายในปีหน้า”

เปลี่ยนการท่องเที่ยวเป็นผจญภัย

เพราะต้องการพลิกรูปแบบการท่องเที่ยวให้มีความสนุกมากยิ่งขึ้น “ว่าที่ร้อยตรีณัฐพัชร์ อนันต์ศิริกุล” บัณฑิตสาขาวิชาเทคโนโลยีสื่อสร้างสรรค์ วิทยาลัยนวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีสารสนเทศ ม.รังสิต จึงจับมือกับ “สุทธิดา บัวศรี” ว่าที่บัณฑิตจากสาขาเดียวกัน คิดค้นแอปพลิเคชั่น “Adventure Mate” มาช่วยออกแบบโปรแกรมท่องเที่ยวให้ตามงบประมาณ พร้อมกับมีภารกิจให้ทำระหว่างการท่องเที่ยวด้วย โดยเป้าหมายของผู้ใช้งาน คือ คนอายุ 18-20 ปี เพราะคนช่วงวัยนี้มีเวลาไปเที่ยวบ่อยที่สุด และค่อนข้างไวกับเทรนด์ต่าง ๆ

แอปพลิเคชั่นนี้เริ่มตั้งแต่การให้เลือกรูปแบบการท่องเที่ยวตามไลฟ์สไตล์ หลังจากนั้นให้ปฏิบัติตามภารกิจด้วยระบบ AR เมื่อทำภารกิจเสร็จแล้วจะได้รับแต้มที่สามารถไปซื้อสินค้าต่อ หรือแลกรับของรางวัลได้ ซึ่งแอปจะคำนวณให้ทั้งค่าเดินทาง ค่าที่พัก เป็นต้น

“ว่าที่ ร.ต.ณัฐพัชร์” บอกว่า จะเน้นทำตลาดกับจังหวัดเมืองรอง เพราะนักท่องเที่ยวยังไม่มีข้อมูลเรื่องสถานที่ท่องเที่ยว หรือรายละเอียดการเดินทางเท่ากับจังหวัดท่องเที่ยวใหญ่ ๆ อีกทั้งรัฐก็สนับสนุนให้มีการท่องเที่ยวเมืองรองด้วย โดยปัจจุบันมีสถานที่ต่าง ๆ ทั้งโรงแรม โฮมสเตย์ และร้านอาหาร ติดต่อมาให้เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจในแอปพลิเคชั่น ซึ่งเป็นหนึ่งรายได้ของธุรกิจ

นอกเหนือจากโฆษณาที่เข้ามา โดยตอนนี้เราพัฒนาระบบไปแล้ว 50% คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ก.พ. 2562

“Ecosystem” กระตุ้นไอเดีย

หลายมหาวิทยาลัยมีแนวทางที่แตกต่างกันในการปลุกปั้นนักศึกษาให้เป็นสตาร์ตอัพ ซึ่ง ม.รังสิตมีแผนสนับสนุนนักศึกษาตั้งแต่อยู่ปี 1 โดย “ผศ.ดร.เชฏฐเนติ ศรีสอ้าน” คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีสารสนเทศ ม.รังสิต ให้รายละเอียดว่า คณะได้เปิดวิชา innovative startup ให้กับนักศึกษาปี 1 เพราะมองว่าเด็กรุ่นใหม่เก่งอยู่แล้ว และพวกเขาสามารถพัฒนาศักยภาพ หรือไอเดียต่าง ๆ ได้ตั้งแต่ปีแรกของการเรียน ไม่ต้องรอให้ถึงปีที่ 4 แล้วค่อยทำโปรเจ็กต์

นอกจากนี้ ยังมีวิชา startup experience ที่เกิดจากการเห็นว่า นักศึกษาไปแข่งขันประกวดสตาร์ตอัพในเวทีต่าง ๆ หากเขาแข่งขันแล้วแพ้ ก็เหมือนต้องเสียเวลาฟรี เพราะระหว่างการแข่งขันมีต้นทุนเรื่องต่าง ๆ ทั้งความคิด เวลาในการพัฒนาโปรเจ็กต์ เป็นต้น

“เราจึงมองว่านักศึกษาที่ไปแข่งขันมา ไม่ว่าจะชนะหรือไม่ก็ตามแต่ สามารถนำใบรับรองการเข้าร่วมแข่งขันจากหน่วยงานนั้น ๆ มาเป็นหลักฐาน สำหรับการเปรียบเทียบให้เป็น 3 หน่วยกิตของวิชานี้ได้ทันที”

ทั้งนั้น เพื่อสร้าง ecosystem ด้านสตาร์ตอัพ ม.รังสิตได้จัดทำ co-working space ซึ่งเปิดใช้งานไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ และมีแผนที่จะรีโนเวตหอสมุดที่จะเปิดตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อนักศึกษาสามารถมาทำงานร่วมกัน และแลกเปลี่ยนมุมมองในการสร้างโปรเจ็กต์ต่าง ๆ ได้ตลอดเวลา