สกศ.ชูแนวคิด’ภาษาอังกฤษกินได้’เพิ่มศักยภาพผู้ใช้ภาษาในการประกอบอาชีพ รับThailand 4.0

ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.)  เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นการติดตามและประเมินผลนโยบายส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาอังกฤษเพื่อรองรับ Thailand 4.0 จากการวิจัยเพื่อติดตามและประเมินโครงการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในสถานศึกษาด้วย English Program/ Mini English Program (EP/MEP) และโครงการพัฒนาครูภาษาอังกฤษระดับภูมิภาค หรือ Boot Camp พบว่า ทุกฝ่ายมีความพึงพอใจต่อทั้งสองโครงการอย่างมาก  ครูภาษาอังกฤษเห็นว่า โครงการ Boot Camp ช่วยพัฒนาทักษะการฟังและการพูดที่ดีขึ้น มั่นใจในการสอนมากขึ้น

ขณะที่นักเรียนต่างเห็นว่าบรรยากาศการเรียนภาษาอังกฤษในห้องเรียน EP/MEP สนุก ครูเปิดโอกาส ให้เด็กซักถามและสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่าหลักสูตรปกติ โดยเฉพาะนักเรียนในโรงเรียนเอกชนเห็นว่า ทักษะภาษาอังกฤษของตนดีขึ้นหลังจากเข้าร่วมโครงการดังกล่าว

ดร.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ผู้ทรงคุณวุฒิ การประชุมครั้งนี้มีการระดมความคิดเห็นเพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย โดยที่ประชุมเห็นว่า ควรปรับหลักสูตรผู้สอนภาษาอังกฤษตั้งแต่ระดับอุดมศึกษา ไม่ควรมุ่งเน้นความรู้ทางวิชาการเพียงอย่างเดียว แต่เน้นเทคนิควิธีการสอนภาษาอังกฤษที่ช่วยให้นักเรียนนำภาษาอังกฤษไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน

ทั้งนี้ มีหลายฝ่ายให้ความเห็นตรงกันว่า การที่เด็กจะเก่งภาษาอังกฤษได้นั้นต้องเริ่มจากการสอนทักษะการฟังและการพูดเป็นสำคัญ นอกจากนี้ ควรพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ด้วยดิจิทัล (Digital Platform) อย่างจริงจัง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และขยายโอกาสการเรียนรู้ภาษาอังกฤษให้นักเรียนได้อย่างทั่วถึงทั้งนี้ สกศ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) จะนำข้อสรุปที่ได้ไปใช้เป็นข้อมูลในการร่างแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา และนำไปปรับปรุงแผนการศึกษาแห่งชาติให้สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม

“การเรียนรู้ของโลกยุคศตวรรษที่ 21 ไม่จำกัดอยู่ในห้องเรียนเท่านั้น แต่เป็นการเรียนรู้ตลอดเวลาผ่านสื่อดิจิทัล ช่วยให้ครูและนักเรียนสามารถเรียนรู้พร้อมกัน ทั้งนี้ สื่อการเรียนการสอนจะต้องเหมาะสมกับวัยของเด็ก และมีเนื้อหาที่สอดคล้องกับบริบทของชุมชน เช่น แหล่งท่องเที่ยว ย่านธุรกิจ จึงถึงเวลาแล้วที่ต้องปฏิรูปการสอนภาษาอังกฤษ โดยอาจประยุกต์ใช้แนวคิด “ภาษาอังกฤษกินได้” คือ การสอนภาษาอังกฤษเพื่อการประกอบอาชีพ ด้วยหลักสูตรเร่งรัดพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษให้ผู้ประกอบอาชีพสาขาต่าง ๆ เช่น พนักงานขับรถแท็กซี่ ผู้ค้าขายในแหล่งท่องเที่ยว สามารถหานำไปใช้สร้างงานสร้างรายได้” ดร. สมศักดิ์ กล่าว

ที่มา มติชนออนไลน์