มหา’ลัยขอนแก่น ดัน Startup ต่อยอดงานวิจัยสู่ธุรกิจ

ต้องยอมรับว่านวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นหนึ่งในปัจจัยชี้วัดการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ โดยสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum : WEF) ได้จัดอันดับความสามารถการแข่งขันด้านเศรษฐกิจปี 2560 พบว่า ภาพรวมของประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 32 จาก 137 ประเทศ ถือเป็นอันดับ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียน ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังมีการดำเนินนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่จะพัฒนาเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจแบบเดิมไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม

ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) จึงจัด โครงการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมรายใหม่ (Innovative Startup) เพื่อต่อยอดแนวความคิด งานวิจัย และพัฒนาไปสู่การเป็นวิสาหกิจ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศ

“ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล” รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มข.ในฐานะ 1 ใน 9 มหาวิทยาลัยวิจัยของประเทศ ที่มีการพัฒนางานวิจัยที่ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งงานวิจัยที่นำไปใช้ประโยชน์กับชุมชน และในเชิงพาณิชย์ ซึ่งทั้ง 2 ประเภทสามารถนำมาต่อยอดธุรกิจสตาร์ตอัพได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทั้งประเทศได้

“โครงการ Innovative Startup เราจะคัดเลือกและสนับสนุนโครงการของอาจารย์ นิสิต นักศึกษา และบุคลากร ภายใต้ระบบพี่เลี้ยง (mentoring system) ของอุทยานวิทยาศาสตร์ มข. และจัดอบรมพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneurship) ผลักดันการสร้างธุรกิจนวัตกรรมที่มีความเข้มแข็ง และสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว เพื่อนำไปสู่กิจกรรมการแข่งขันระดับประเทศ Startup Thailand League ต่อไป”

“วัชรพล ขำคมเขตร์” นักศึกษาสาขาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นักธุรกิจผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมระบบโรงเรือนอัจฉริยะ Qual-insect กล่าวว่า เป็นโครงการที่มุ่งยกระดับมาตรฐานในการเลี้ยงจิ้งหรีดของคนไทยให้ดีขึ้น โดยระบบนี้จะช่วยเพิ่มปริมาณในการเลี้ยงจิ้งหรีด เนื่องจากเกษตรกรประสบปัญหาเรื่องของสภาพอากาศของประเทศไทยที่ร้อนเกินไป ทำให้ไม่สามารถเลี้ยงได้ในปริมาณที่เต็มประสิทธิภาพ และที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานที่เข้ามาช่วย3สนับสนุน ทั้งเรื่องของเงินทุน และการให้คำปรึกษา

“จริง ๆ แล้วการที่เราจะเริ่มต้นอะไรสักอย่าง ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด อย่างผมสนใจเรื่องแมลง จึงลองเข้าไปปรึกษาอาจารย์กีฏะ ซึ่งผมคิดว่าในมหา”ลัยเป็นเหมือนห้องทดลอง ห้องเรียนรู้ที่มีเครื่องมือเป็นจำนวนมาก อยู่ที่เพียงว่าเราจะกล้าทำหรือไม่ และถ้าเราล้มตอนนี้ อนาคตต่อไปเมื่อเราออกไปนอกรั้วมหา”ลัยจะทำให้มีภูมิคุ้มกัน มีประสบการณ์ สามารถต่อสู้และเรียนรู้เพื่อจะเริ่มต้นสิ่งใหม่ ๆ ได้”

เช่นเดียวกับ “ณรรชพล อินทปรีชา” บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นักธุรกิจผู้สร้างนวัตกรรม Justmine Platform ขุดเหรียญสกุลเงินดิจิทัล bitcoin กล่าวว่า ในการขุดบิตคอยน์ ปัญหาหลัก ๆ ที่พบ คือ มักไม่ได้กำไรเท่าที่ควร ซึ่งจากศึกษาพบว่ามีตัวแปรหรือความเป็นไปได้ที่จะทำให้ขุดบิตคอยน์ได้กำไรมากขึ้น จึงเป็นที่มาของ Justmine Platform

“กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ต้องขอบคุณอุทยานวิทยาศาสตร์ มข. ที่ทำให้ผมได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ทั้งการทดลองและพัฒนานวัตกรรม การได้ไปออกงาน ออกบูทต่าง ๆ หรือการหาแหล่งทุนสนับสนุนให้”

“หากเราจะทำอะไรบางอย่าง ผมคิดว่าอย่าเพิ่งใส่ใจ หรือให้ความสำคัญกับเรื่องเงินเป็นหลัก แต่ให้คิดว่าเราแก้ปัญหาหรือพัฒนานวัตกรรมอะไรได้ดีกว่า และตรงนี้นอกจากจะเป็นการเรียนรู้ และทดลอง เพื่อคิดค้นนวัตกรรมแล้ว ในที่สุดถ้าเรานำมาต่อยอดจะสามารถสร้างรายได้ในอีกทางหนึ่งด้วย”

นับเป็นการต่อยอดแนวคิด และงานวิจัยต่าง ๆ ผ่านระบบนิเวศการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนาเป็นวิสาหกิจเริ่มต้นที่มีความเข้มแข็ง และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศต่อไป