‘บริดจสโตน’ สานฝันปีที่ 11 ปั้นนักประดิษฐ์รับไทยแลนด์ 4.0

เทคโนโลยีถูกพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เกิดนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์มากมาย ซึ่งนวัตกรรมส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้มนุษย์ได้ใช้ชีวิต “ง่ายขึ้น”

ความสำคัญของเทคโนโลยีทำให้ทั่วโลกต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง แม้กระทั่งในไทย ภาครัฐยังประกาศชัดเจนว่าไทยต้องปรับตัวให้เท่าทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงด้วยการประกาศนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0”

จากเหตุผลข้างต้นทำให้ภาคเอกชนอย่าง บริษัท ไทยบริดจสโตน จำกัด ในฐานะบริษัทชั้นนำด้านการผลิตยางรถยนต์เบอร์ 1 ของไทยยังคงเดินหน้าโครงการสะพานสานฝันเยาวชนนักประดิษฐ์ ปีที่ 11 (Bridge 2 lnventor Challenge 2018) เพื่อคัดเลือกเยาวชนนักประดิษฐ์แนวหน้า ระดับช่วงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากทั่วประเทศ เข้าร่วมการแข่งขันที่แสดงทักษะเกี่ยวกับการนำนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีเคียงคู่ระบบ internet of things (IOT) มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ผู้พิการและบุคคลทั่วไปด้วย ซึ่งจะทำให้เยาวชนได้ลงมือปฏิบัติจริง


สำหรับปี 2561 โจทย์หลักที่กำหนดไว้ คือ “สร้างสิ่งประดิษฐ์อัจฉริยะเพื่อการกีฬาสำหรับคนพิการ” (smart sport for disabled) โดย “ฮิเดยูกิ ทาเคดะ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยบริดจสโตน ระบุถึงที่มาของโจทย์หลักในปีนี้ว่า นโยบายของเรามุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมที่ทันสมัย และการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามพันธกิจของบริดจสโตนที่เน้นย้ำว่า “รับใช้สังคมด้วยคุณภาพที่เหนือกว่า”

“ฮิเดยูกิ ทาเคดะ” เล่าถึงโครงการนี้อีกว่า ต้องการส่งเสริมกลุ่มเด็ก และเยาวชนให้ได้รับโอกาสในการฝึกฝน เพื่อให้มีการสร้างสรรค์ผลงานจากมุมมองของเด็ก สำหรับเกณฑ์การคัดเลือกจะดำเนินการเปิดรับนักเรียนช่วงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายทั่วประเทศซึ่งปีนี้เยาวชนจัดส่งผลงานเข้าร่วมประกวดในกิจกรรมมากกว่า 140 ทีม และคัดให้เหลือ 40 ทีม ซึ่งจะมีสิทธิ์นำเสนอผลงานร่วมแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศระดับประเทศ เพื่อชิงเงินรางวัลมูลค่ากว่า 400,000 บาท และผู้ชนะเลิศจะได้รับทุนสนับสนุนการศึกษาจนจบระดับอุดมศึกษา เพราะการศึกษาจะช่วยส่งเสริมให้เยาวชนมีโอกาสต่อยอดการผลิตสิ่งประดิษฐ์ พร้อมกับเป็นกำลังสำคัญที่จะพัฒนาเทคโนโลยีออกมาใช้เพื่อพัฒนาประเทศต่อไป


“ประชา คำภักดี” อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี หัวหน้าโครงการสะพานสานฝันนักประดิษฐ์ ปีที่ 11 ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากการมุ่งเน้นให้เยาวชนได้เรียนรู้ถึงกลไกการทำงานของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่ถูกควบคุมผ่านระบบ internet of things(IOT) ซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ ฯลฯ เข้ามาช่วยให้สิ่งประดิษฐ์ได้รับการพัฒนาอย่างเสถียรมากขึ้น ในปีนี้โครงการเพิ่มความพิเศษด้วย 2 โจทย์ คือ สิ่งประดิษฐ์ อัจฉริยะเพื่อการกีฬา และสิ่งประดิษฐ์อัจฉริยะเพื่อผู้พิการ ซึ่งจะแตกต่างจากทุกปีที่ผ่านมาที่มีเพียงโจทย์เดียวเท่านั้น นับว่าโจทย์ในปีนี้ค่อนข้างท้าทายเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการครั้งนี้ มีเยาวชนที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการมากถึง 140 ทีม แต่จะมีเพียง 40 ทีมที่ได้นำเสนอผลงาน ซึ่งผลงานส่วนใหญ่ได้สร้างแบบจำลองสิ่งประดิษฐ์ เช่น วีลแชร์, ธนู, บาสเกตบอล เป็นต้น


“ภาพรวมของโครงการครั้งนี้ได้รับความสนใจจากเยาวชนเพิ่มขึ้นทุกปี ทีมงานจึงต้องจำกัดผลงานไว้ที่แต่ละโรงเรียน จะส่งผลงานได้เพียงไม่เกิน 2 ทีม ในแต่ละทีมจะมีสมาชิกเพียง 3 คน และมีอาจารย์ผู้ดูแล 1 คนและเมื่อได้ 40 ทีมที่ผ่านเข้ารอบมาแล้วจะมีการจัดอบรมเพื่อให้ความรู้แก่กลุ่มผู้เข้าแข่งขัน พร้อมทั้งมอบเงินสนับสนุนค่าอุปกรณ์ทีมละ 2,500 บาท”

“ประชา” เล่าถึงเยาวชนที่ผ่านโครงการสะพานสานฝันเยาวชนนักประดิษฐ์ว่า ผู้ชนะจะได้ทุนการศึกษา โดยสามารถเลือกเรียนในคณะและมหาวิทยาลัยที่ต้องการได้ ในช่วงที่ผ่านมาคณะที่สนใจเข้าเรียนมากที่สุด คือ คณะวิทยาศาสตร์, วิศวกรรมศาสตร์, สถาปัตยกรรมศาสตร์ และแพทยศาสตร์


ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวต้องการขยายโอกาสให้เยาวชนจากพื้นที่ภาคใต้ให้เข้าร่วมโครงการ แต่เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านการเดินทาง อย่างไรก็ตาม ทางโครงการมีแผนที่จะจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมเกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาด้ว