12 ปี ‘สถาบันอาศรมศิลป์’ เติบโตมั่นคงด้วย Niche Market

ถึงแม้การเกิดขึ้นของ “สถาบันอาศรมศิลป์” จะเป็นผลจากความต้องการหาสถาบันอบรมครูให้กับ “โรงเรียนรุ่งอรุณ” โรงเรียนทางเลือกที่เน้นให้นักเรียนเรียนรู้อย่างเป็นองค์รวม แต่สถาบันอาศรมศิลป์ก็ได้เดินทางมาอย่างมั่นคงจนถึงปีที่ 12 กับการเปิดสอนปริญญาตรีด้วยหลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสถาปัตยกรรม, หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย และหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาผู้ประกอบการสังคม

ขณะที่ระดับปริญญาโทมีหลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสถาปัตยกรรมเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม และหลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาแบบองค์รวมรวมถึงมีหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาวิชาชีพครู

หากมองย้อนกลับไปถึงต้นทางของสถาบันการศึกษาแห่งนี้ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณและสถาบันอาศรมศิลป์ “รศ.ประภาภัทร นิยม” ซึ่งปัจจุบันรั้งตำแหน่งอธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์เล่าว่า ในช่วงเวลาหนึ่งของโรงเรียนรุ่งอรุณได้เจอกับปัญหาการฝึกอบรมครู เพราะด้วยลักษณะการเทรนนิ่งที่จะฝึกครูจากสถานการณ์จริงหรือปัญหาหน้างาน และไม่ได้ส่งครูไปอบรมข้างนอก จึงถูกกระแสสังคมตีกลับว่าโรงเรียนรุ่งอรุณไม่ใช่โรงเรียนสอนนักเรียน แต่เป็นโรงเรียนสอนครูมากกว่า

“เราเคยส่งครูไปอบรมข้างนอก แต่กลับมาแล้วพบว่าองค์ความรู้ที่ได้มาไม่สามารถใช้งานกับโรงเรียนได้เต็มที่ จึงให้เขาเทรนที่โรงเรียนดีกว่า ซึ่งเห็นผลลัพธ์ดีกว่ามาก และเพื่อให้มีความชัดเจนมากขึ้น เราจึงคิดต่อไปว่าควรมีหน่วยฝึกอบรมเฉพาะของเราขึ้นมาเอง เพื่อช่วยให้ครูของโรงเรียนรุ่งอรุณ หรือโรงเรียนทางเลือกอื่น ๆ มีหนทางการฝึกอบรมอย่างที่ควรจะเป็น”

สถาบันอาศรมศิลป์จึงก่อตั้งขึ้นพร้อมกับการเปิดหลักสูตรด้านศึกษาศาสตร์เป็นหลักสูตรแรก โดยมีรูปแบบการสอนที่แตกต่างจากสถาบันอุดมศึกษาแห่งอื่น เพราะนักศึกษาจะเรียนเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งจะสะท้อนภาพการทำงานจริงที่เกิดขึ้นจากการสอน จนนำไปสู่การปรับความเข้าใจ หรือชุดความคิดก่อนนำไปทดลองใช้ในห้องเรียน และในช่วงสัปดาห์จะให้บันทึกว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง เพื่อนำกลับมาทบทวนกันใหม่

ขณะเดียวกัน ได้เปิดหลักสูตรสถาปัตยกรรม เพราะเล็งเห็นว่าการออกแบบสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสามารถสร้างการเรียนรู้ที่ดีได้ หลังจากนั้นจึงเปิดหลักสูตรผู้ประกอบการทางสังคมตามมา เพื่อสนับสนุนคนที่ต้องการสร้างอาชีพให้ตัวเอง และสร้างประโยชน์ต่อสังคมด้วย

“แม้มหาวิทยาลัยอื่นจะเปิดหลักสูตรเหล่านี้เหมือนกัน แต่เรามองว่าสถาบันอาศรมศิลป์มีจุดแข็งคือการให้ผู้เรียนลงมือทำเลย เราไม่ได้เรียนในห้องหรือทฤษฎีมากมาย แต่เรียนจากการปฏิบัติแล้วเติมทฤษฎีเข้าไปในจังหวะที่ควรเติม หรือจังหวะที่เขาอยากรู้ ซึ่งมีค่ามากสำหรับการเรียน เพราะหากเราไปใส่ความรู้ให้เขาก่อน เขาไม่รู้เอาไปทำอะไร หรือประยุกต์ใช้กับอะไร เพราะยังไม่ได้สัมผัสการทำงานจริง”

“เพราะการเรียนของเราเป็นเชิงปฏิบัติการมาก และเป็น tailor-made จริง ๆ ดังนั้น เรารับนักศึกษาครั้งละมาก ๆ ไม่ได้ โดยปัจจุบันเรามีนักศึกษารวมทั้งหมด200 กว่าคน สอดคล้องกับเป้าหมายของเราที่ไม่ได้ต้องการรับนักศึกษาจำนวนเยอะ ๆ อยู่แล้ว ด้วยความที่รายได้ส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากค่าเทอม แต่มาจากการทำงานบริการวิชาการให้กับสังคม ซึ่งหากเราได้โปรเจ็กต์ใหญ่จากหน่วยงานราชการก็จะมีรายได้เข้ามา ทำให้นักศึกษา และคณาจารย์ได้เรียนรู้งานไปในตัว”

ทั้งนั้น เมื่อถามถึงก้าวย่างต่อไปของสถาบันอาศรมศิลป์ “รศ.ประภาภัทร” บอกว่าจะวางแนวทางของหลักสูตรระยะสั้นให้มีระบบมากขึ้น จากเดิมเป็นการทำแบบ on demand ตามหน่วยงานต่าง ๆ ที่มาขอให้ทำ ก็จะปรับให้มีหลักสูตรประจำ และมองหากลุ่มเป้าหมายชัดเจนมากขึ้น โดยจะทำหลักสูตรให้ล้อไปกับโปรเจ็กต์งานที่สถาบันอาศรมศิลป์รับมา เพื่อให้ผู้เรียนมีประสบการณ์มากขึ้นจากการลงมือหรือลงพื้นที่ปฏิบัติงานจริง เบื้องต้นมีการจัดทำหลักสูตรเกี่ยวกับการดำเนินงานศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และหลักสูตรครูของครู ซึ่งได้วางวิชาเรียนให้สอดคล้องวิชาของหลักสูตรปริญญาตรี เพื่อสามารถใช้เป็นหน่วยกิตสำหรับผู้ที่ต้องการเรียนต่อระดับอุดมศึกษา

นอกจากนี้ อีกแผนงานที่วางไว้คือปี 2562 จะต่อยอดหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาวิชาชีพครู ให้มีหลักสูตร 2 ภาษาด้วย เพราะเล็งเห็นว่าต่อไปทุกโรงเรียนของไทยต้องมีครูต่างชาติ และต้องรีครูตครูต่างประเทศ ซึ่งสถาบันอุดมศึกษาไทยที่เปิดสอนหลักสูตรนี้แบบอินเตอร์มีเพียงแห่งเดียว ที่เหลือเป็นหลักสูตรภาษาไทย ดังนั้น จึงถือว่ายังมีโอกาสในตลาดอีกมากสำหรับสถาบันอาศรมศิลป์


“สถาบันของเราเผชิญหน้ากับปัญหาจำนวนนักศึกษาลดลงไม่ต่างจากมหาวิทยาลัยอื่น ๆ แต่เพราะเราไม่ได้เริ่มต้นจากการผลิตนักศึกษาแบบ mass อยู่แล้ว จึงไม่ค่อยได้รับผลกระทบเท่าไร อีกทั้งการเป็นองค์กรเล็กทำให้มีความคล่องตัว และปรับตัวได้ง่าย ซึ่งเราต้องทำตัวเองให้ทันโลก ทันเหตุการณ์ และปรับตัวอยู่เสมอ เพื่อสร้างสถาบันอาศรมศิลป์ให้มีความมั่นคง และเป็นสถาบันการศึกษาทางเลือกของไทยต่อไป”