สกว.สร้างงานวิจัยเชิงพื้นที่ ปูพรมสู่พัฒนาจังหวัดอย่างยั่งยืน

เพื่อสร้างระบบงานวิจัยที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการและเป้าหมายของพื้นที่ให้ได้มากที่สุด หน่วยบูรณาการวิจัยและความร่วมมือเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ สํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จึงทำ “โครงการนวัตกรรมการจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่” โดย สกว.มีการให้ทุนกับมหาวิทยาลัยโดยตรง เพื่อให้มหาวิทยาลัยในพื้นที่ หรือจังหวัดนั้น ๆ สร้างชุดโครงการวิจัยที่มาจากโจทย์ของคนในพื้นที่จริง ๆ

“ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา” ผู้อำนวยการหน่วยบูรณาการวิจัยและความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ สกว. ให้รายละเอียดว่า โครงการนี้เป็นการให้ทุนแบบ matching fund คือ ทุนวิจัยมาจาก สกว. และมหาวิทยาลัยฝ่ายละครึ่ง ซึ่งกำหนดให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเป็นหัวหน้าโครงการ แล้ว สกว.จะนำเครื่องมือต่าง ๆ ไปช่วยพัฒนาระบบจัดการงานวิจัย รวมถึงจัดระบบพี่เลี้ยงเข้าไปสนับสนุน และให้คำแนะนำกับมหาวิทยาลัยตลอดโครงการ

สำหรับปีแรกของการดำเนินงาน (ปีงบประมาณ 2560/2561) มีมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนเข้าร่วมโครงการ 24 แห่ง งบประมาณการร่วมทุนอยู่ที่ 105 ล้านบาท ทุกมหาวิทยาลัยได้ทำโครงการวิจัยย่อยรวมทั้งหมด 325 โครงการ และเกิดการพัฒนานักวิจัยที่ทำงานพัฒนาพื้นที่ 1,005 คน โดยได้สร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ที่ผ่านการพัฒนาระบบคิดและทดลองการทำงานเชิงพื้นที่ 529 คน และนักจัดการงานวิจัยที่จะเป็นกำลังสำคัญของมหาวิทยาลัยและพื้นที่ 142 คน

“เราเน้นทำโครงการกับมหาวิทยาลัยขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่อยู่ในท้องถิ่น ซึ่งเรามีระบบการติดตามผลชัดเจน แต่ละมหาวิทยาลัยต้องเจอกับ สกว.อย่างน้อย 4 ครั้ง ต่อการจัดการทุน 1 รอบ บวกกับการมีระบบพี่เลี้ยงที่เข้ามาช่วยกระตุ้นการทำงาน ทำให้โครงการวิจัยส่วนใหญ่มีความก้าวหน้าและแล้วเสร็จภายใน 1 ปี”

“ดร.กิตติ” ประเมินภาพรวมโครงการว่า ประสบความสำเร็จเกิน 80% แต่ปัญหาที่เจอ คือ นักวิจัยยังคุ้นชินกับการทำงานวิจัยแบบเดิม แต่เมื่อพวกเขาปรับรูปแบบการทำงานวิจัยใหม่ ได้เจอกับโจทย์จริงจากพื้นที่ ก็ทำให้ทัศนคติการทำงานเปลี่ยนไป และมีการบูรณาการการทำงานวิจัยมากขึ้น

“แผนการดำเนินงานของปีหน้า เราจะทำมาตรฐานการจัดการงานวิจัย เพื่อให้มีระบบการจัดการงานวิจัยที่ดีให้กับมหาวิทยาลัย และทำ benchmarking ของประเทศ เพื่อควบคุมคุณภาพงานวิจัย ซึ่งหากมีระบบบริหารจัดการที่ดี จะทำให้เราเกิดความมั่นใจ และอาจให้งบฯทั้งก้อนให้มหาวิทยาลัยไปดูแลเอง นอกจากนั้นจะเพิ่มจำนวนพี่เลี้ยงให้มากขึ้น เพื่อสามารถเข้าถึงโครงการวิจัยในแต่ละพื้นที่ได้ครอบคลุมกว่าเดิม”

ทั้งนี้ หนึ่งในมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการนวัตกรรมการจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (มทร.ศรีวิชัย) โดย “ผศ.ดร.อภิรักษ์ สงรักษ์” ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มทร.ศรีวิชัย กล่าวว่า สิ่งที่ได้จากโครงการนี้ คือ วิธีการขึ้นโจทย์จากพื้นที่ และสามารถสร้างผลกระทบได้จริง ซึ่งต้องมีโจทย์ก่อนแล้วนำนักวิจัยมาทีหลัง และการมีกรอบเวลาการทำงานที่ชัดเจน มีพี่เลี้ยงจาก สกว. ทำให้ทุกโครงการสามารถทำวิจัยเสร็จภายใน 1 ปี

โดย มทร.ศรีวิชัย ได้ทำโครงการนวัตกรรมการจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ทั้ง 3 แคมปัส คือ จังหวัดสงขลา, นครศรีธรรมราช และตรัง ซึ่งสำหรับงานวิจัยใน จ.สงขลา ได้เข้าไปร่วมพัฒนาเมืองเก่าสงขลาสู่เมืองมรดกโลก ขณะที่ จ.นครศรีธรรมราช จะเป็นงานวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน การพัฒนากลุ่มอาชีพ และผลิตภัณฑ์ชุมชน

ส่วน จ.ตรัง มีงานวิจัย 11 เรื่อง ใน 5 ประเด็น คือ 1.การพัฒนาของการจัดการทรัพยากรแบบมีส่วนร่วมจากชุมชน 2.การยกระดับนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ของชุมชน 3.การศึกษารูปแบบของการท่องเที่ยวเชิงชุมชน 4.การส่งเสริมอาชีพ และ 5.การยกระดับผลิตภัณฑ์ของชุมชนให้มีคุณภาพ

ทุกงานวิจัยที่เกิดขึ้นใน จ.ตรัง เกี่ยวข้องกับชุมชนลุ่มน้ำปะเหลียน เพราะพื้นที่นี้เป็นแหล่งทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่สำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คน ทั้งด้านอาชีพ การท่องเที่ยว และวิถีชีวิต

สำหรับหัวข้องานวิจัยที่เกิดขึ้น เช่น การพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ประมงพื้นบ้าน เพื่อยกระดับมาตรฐานอาหาร, การพัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยว รวมถึงการพัฒนาตู้อบแสงอาทิตย์สำหรับอบแห้งใบจากจากชุมชนลุ่มน้ำปะเหลียน ที่สามารถแก้โจทย์ของชุมชนได้อย่างตรงจุด

เพราะชุมชนแห่งนี้มีการผลิต “ติหมา” สำหรับจำหน่ายทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยติหมาเป็นภูมิปัญญาจักสานของคนภาคใต้ ที่นำส่วนยอดของใบจากอ่อนมาตากแดดให้แห้ง แล้วนำมาสานในรูปแบบที่สวยงาม สามารถใช้แทนแก้วน้ำ และกระบวยตักน้ำได้ ซึ่งมีออร์เดอร์การสั่งติหมามากขึ้น แต่ไลน์การผลิตกลับมียอดเท่าเดิม

“สุจินต์ ไข่ริน” ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจักสานก้านจากบ้านนายอดทอง จ.ตรัง เล่าว่า จากสภาพภูมิอากาศของภาคใต้ที่มีฝนตกชุก ทำให้ไม่สามารถตากใบจากให้แห้งทันกับออร์เดอร์ที่เข้ามา ซึ่ง มทร.ศรีวิชัย รับโจทย์นี้ไปทำวิจัย จนนำไปสู่การสร้างตู้อบแห้งใบจากพลังแสงอาทิตย์ ซึ่งช่วยย่นระยะเวลาการตากใบจาก จาก 1 วันเหลือเพียง 4-5 ชั่วโมง

โดยตู้อบจะผลิตใบจากแห้งได้ 2,000-3,000 ใบ/รอบ หลังจากนั้นนำไปผลิตเป็นติหมาได้ครั้งละ 100-200 ใบ ซึ่งจากการเก็บข้อมูลการวิจัยในช่วงเดือน ก.ค. 2560-เม.ย. 2561 พบว่าตู้อบ 2 เครื่อง สามารถผลิตติหมาได้ 170,000 ใบ หรือเฉลี่ยเดือนละ 20,000 ใบ

“เดิมรายได้ของกลุ่มอยู่ที่ 80,000-90,000 บาทต่อเดือน เมื่อมีเครื่องอบเข้ามา ทำให้เราทำงานได้เยอะขึ้น รายได้จึงเพิ่มเป็น 4 แสนบาทต่อเดือน โดยมีการส่งติหมาไปจำหน่ายในอินโดนีเซีย มาเลเซีย ญี่ปุ่น และจีนอีกด้วย”

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า โครงการนวัตกรรมการจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ สามารถเข้ามาตีโจทย์และปัญหาของพื้นที่ได้ชัดเจน และสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับชุมชนได้อย่างแท้จริง