กก.สภามศก.-ม.อุบลจ่อออกเพียบ ‘นิด้า’ ส่อวุ่นหลังป.ป.ช.แจ้งรก.ยื่นด้วย

จากกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ให้ขยายเวลาบังคับใช้ประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช.เรื่องกำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ตามมาตรา 102 พ.ศ.2561 ออกไปอีก 60 วัน จากเดิมบังคับใช้วันที่ 2 ธันวาคม 2561 ให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 โดยได้เผยแพร่ประกาศ ป.ป.ช.ฉบับที่ 2 ขยายเวลาบังคับใช้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ประกอบด้วย 1.กรรมการของหน่วยงานอื่นของรัฐ ประกอบด้วย ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการในกองทุน 2.ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบท่าตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กำหนด อาทิ นายกสภาและกรรมการสภาในสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดของรัฐ ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการและกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เป็นต้น

และ 3.กรรมการและผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐ แต่นายกสภาและกรรมการสภาในสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งยังทยอยลาออกอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ทางป.ป.ช.เสนอแนวทางแก้ไข โดยเตรียมแก้ประกาศป.ป.ช.ปรับตำแหน่งกรรมการสภาเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และกำหนดให้เป็นตำแหน่งที่ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินนั้น

พ.ต.อ.ดร.ประพนธ์  สหพัฒนา รักษาการแทนรองอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้นิด้าได้ทำหนังสือ หารือไปยังป.ป.ช. กรณีในวันที่ประกาศป.ป.ช.มีผลบังคับใช้ กรรมการสภาสถาบันที่กำลังจะครบวาระการดำรงตำแหน่งและต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ถือเป็นผู้ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินตามประกาศป.ป.ช.หรือไม่

ซึ่งล่าสุดทาง ป.ป.ช.มีหนังสือตอบกลับมาแล้วว่า ผู้ที่ดำรงตำแหน่งนายกสภา และกรรมการสภาสถาบันที่ครบวาระการดำรงตำแหน่ง และต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อจนกว่าผู้ดำรงตำแหน่งซึ่งได้รับการแต่ตั้งใหม่จะเข้ารับหน้าที่ ถือเป็นผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สินด้วย ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้ ก็อาจส่งผลกระทบกับนิด้าบ้าง แต่ตนคงไม่สามารถพูดอะไรได้ เพราะทางกรรมการสภาฯ เองก็ยังไม่ตัดสินใจ เนื่องจากมีการขยายเวลาไปจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2562 จึงรอดูแนวทางแก้ไขปัญหาของป.ป.ช.ก่อน

นายจงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(มก.) กล่าวว่า กรณีที่กรรมการสภามก.ลาออก 4-5 ราย  รวมถึงน.สพ.ยุคล ลิ้มแหลมทอง อุปนายกสภาฯ  ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีด้วยนั้นยอมรับว่ากระทบกับการทำงานของมก.บ้าง โดยเฉพาะการสรรหาคณบดีที่กำลังจะหมดวาระหลายตำแหน่ง เพราะกรรมการสภาฯ ผู้ทรงคุณวุฒิบางคนเป็นประธานสรรหาคณบดีด้วย ดังนั้นจะต้องเสนอตั้งประธานสรรหาใหม่ ส่วนการสรรหาอธิการบดีมก.ตัวจริงนั้น ขึ้นอยู่กับสภามก. หากยังไม่สามารถสรรหาอธิการบดีมก.ตัวจริงได้ ตนก็พร้อมทำหน้าที่ต่อเพื่อมหาวิทยาลัย เพราะทุกวันนี้ก็ทำอยู่แล้ว

นายสุมนต์  สกลไชย กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยศิลปากร (มศก.) กล่าวว่า ตนเป็นกรรมการสภาฯ อยู่ 3 แห่ง คือ มศก. มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยพะเยา ส่วนตัวคงไม่ลาออกเพราะมีประสบการณ์ยื่นบัญชีทรัพย์สินตอนเป็นอธิการบดีมาบ้างแล้วจึงเข้าใจระบบต่าง ๆ ค่อนข้างดี  แต่ยอมรับว่า การที่ป.ป.ช.ประกาศให้กรรมสภาฯ เป็นตำแหน่งที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินค่อนข้างส่งผลกระทบกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ค่อนข้างมากเพราะ กรรมการสภาฯผู้ทรงคุณวุฒิ บางรายมาจากภาคเอกชน ทำธุรกิจ มีเอกสารค่อนข้างมาก การยื่นบัญชีทรัพย์สินอาจทำให้เป็นภาระ หรือบางคนไม่สะดวกให้เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะเพราะกังวลว่าจะเป็นอันตราย  แต่ยืนยันได้ว่า ไม่ได้กลัวการตรวจสอบ

อย่างไรก็ตามเท่าที่ทราบในส่วนของมศก. มีกรรมการสภาฯ ผู้ทรงคุณวุฒิ แสดงความประสงค์ขอลาออกจากตำแหน่ง แล้วประมาณ 6 ราย ม.อุบลฯ ก็มีตัวเลขผู้แสดงความประสงค์ขอลาออกใกล้เคียงกัน แต่เมื่อมีการขยายเวลาบังคับใช้ไปถึง 31 มกราคม 2562 จึงยังไม่ยื่นลาออกอย่างเป็นทางการ ขอรอดูแนวทางแก้ไขปัญหาจากป.ป.ช.ก่อน ส่วนที่จะแก้ประกาศป.ป.ช. ปรับตำแหน่งกรรมการสภาฯ เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินนั้น ตนยังไม่ทราบรายละเอียด แต่ถ้าแก้ไขได้ถือเป็นเรื่องดี เพราะการกำหนดให้ตำแหน่งกรรมการสภาฯ ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินส่งผลกระทบต่อมหาวิทยาลัยค่อนข้างมาก และต่อไปจะหาคนเข้ามาเป็นกรรมการสภาฯ ได้ยาก ขาดคนดี มีฝีมือ โดยเฉพาะภาคเอกชน


ที่มา มติชนออนไลน์