สพฐ. จับมือ ป.ป.ช.ตรวจสอบการรับน.ร. พร้อมสกัดห้ามผอ.เขตพื้นที่ฯ-ผอ.ร.ร.ทั่วประเทศรับ “แป๊ะเจี๊ยะ”

เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ตนได้ลงนามในหนังสือสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เรื่อง การระดมทรัพยากรในช่วงรับนักเรียน ปีการศึกษา 2562 ถึงผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เนื่องจาก สพฐ.ได้ประกาศนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน สังกัด สพฐ.ปีการศึกษา 2562 และได้แจ้งให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และโรงเรียนวางแผนเตรียมการรับนักเรียนไปแล้วนั้น อย่างไรก็ตาม การรับนักเรียน ปีการศึกษา 2561 ที่ผ่านมา มีการร้องเรียนการเรียกรับเงิน “แป๊ะเจี๊ยะ” เพื่อแลกกับการเข้าเรียนของนักเรียน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงมหาดไทย (มท.) ได้กำหนดมาตรการเชิงรุก โดยให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ติดตามตรวจสอบการรับนักเรียนของโรงเรียนสังกัด สพฐ. เพื่อให้การรับนักเรียนเป็นไปอย่างเรียบร้อย สำหรับการรับนักเรียน ในปีการศึกษา 2562 สพฐ.จะยึดแนวทางเดิมทุกประการ โดยได้กำชับไปยัง สพท.ให้กำกับโรงเรียนไม่ให้เรียกรับเงิน หรือ ระดมทรัพยากรในช่วงเวลาการรับนักเรียน และให้ผู้อำนวยการโรงเรียนอยู่ปฏิบัติงาน และแก้ปัญหาในการรับนักเรียนด้วย

“ตอนนี้เริ่มมีเสียงสะท้อนเป็นห่วงเรื่องแป๊ะเจี๊ยะ จึงอยากให้สังคมได้รับรู้ว่า สพฐ.ไม่ได้นิ่งเฉยและมีการเฝ้าดูแล กำกับ ตักเตือนอย่างเข้มข้นและได้มีหนังสือดังกล่าวแจ้งถึงผอ.สพท.ทั่วประเทศ และผอ.โรงเรียน ให้ปฏิบัติตาม ส่วนมาตรการต่างๆยังคงดำเนินการตามเดิม เหมือนกับที่ออกไว้ก่อนหน้านี้ รวมถึง สพฐ.จะร่วมมือกับ ป.ป.ช.ในการตรวจสอบติดตาม ดูแลให้เกิดความเรียบร้อย โปร่งใส โดยเฉพาะเรื่องปัญหาการรับแป๊ะเจี๊ยะจะต้องไม่มี” นายบุญรักษ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การรับนักเรียน ปีการศึกษา 2561 ที่ผ่านมา สพฐ.ได้กำหนดมาตรการป้องกันการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนเพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษาสังกัด สพฐ. โดยอ้างถึงมาตรการป้องกันการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทน เพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษา “แป๊ะเจี๊ยะ” ของ ป.ป.ช.โดยมีมาตรการ ดังนี้ 1. ให้เขตพื้นที่การศึกษาฯ ลงพื้นที่สุ่มตรวจการรับนักเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง และเร่งรัดประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ ความเข้าใจให้ผู้ปกครองนักเรียน ประชาชนรวมทั้งข้าราชการในสังกัดรับทราบถึงความผิดและบทลงโทษ กรณีการเรียกรับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีของเงินบริจาค ซึ่งการกระทำดังกล่าวไม่อาจถือได้ว่าเป็นเงินบริจาคแต่ถือเป็นเงิน “สินบน” ในฐานะผู้รับสินบนและให้สินบน ซึ่งมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา และกฎหมาย ป.ป.ช.

2. กรณีมีผู้บริจาคทรัพย์สินให้สถานศึกษาถือปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการรับเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้สถานศึกษา พ.ศ. 2552 อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันปัญหาการเรียกรับแปะเจี๊ยะ และ 3. ให้ประธานกรรมการบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประจำเขตตรวจราชการสนับสนุน ส่งเสริมประสานความร่วมมือ ควบคุม กำกับติดตาม ประเมินผลเขตพื้นที่ฯ และสถานศึกษาในสังกัดให้ดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวอย่างเคร่งครัด

 


ที่มา : มติชนออนไลน์