การเรียนรู้แบบองค์รวม (holistic learning) เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับการเรียนแบบท่องจำ และเรียนเพื่อสอบอย่างสิ้นเชิง เพราะการเรียนรู้แบบองค์รวมเน้นการเรียนรู้ครบทุกมิติ และเรียนเพื่อให้รู้จักสังคม โดยเป็นการเชื่อมโยงระหว่างความคิด และข้อมูล ที่สำคัญ ยังเชื่อมโยงกับจิตใจด้วย
แต่ดูเหมือนการเรียนรู้อย่างเป็นองค์รวม จะเป็นเรื่องที่ยังไม่ถูกผลักดันในภาคการศึกษาของไทยอย่างเพียงพอ หากลองพิจารณาจะเห็นว่าเรื่องนี้กลับมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นรูปแบบที่เหมาะสมกับยุค disruption ซึ่งเทคโนโลยีมีบทบาทในการท้าทายความสามารถ และสติปัญญาของมนุษย์ ทำให้ต้องเติมสมรรถนะที่จำเป็นอย่างทันท่วงที จนต้องใช้รูปแบบการเรียนรู้แบบย้อนศร คือ การกลับไปขยายศักยภาพภายในที่ซ่อนเร้นอยู่ในตัวให้ได้ฉายแววออกมา ทำในสิ่งที่เคยคิดว่ายาก ให้สำเร็จอย่างรวดเร็ว
ด้วยเหตุผลนี้ สถาบันอาศรมศิลป์ สถาบันการเรียนรู้อย่างเป็นองค์รวมเพื่อรับใช้สังคม จึงร่วมกับศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานระพีเสวนาและจิตตปัญญาศึกษา ในหัวข้อ “การเรียนรู้อย่างเป็นองค์รวม สู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ (Holistic Learning for Thriving to be Wholesome)” โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากต่างประเทศ มาร่วมนำเสนอประสบการณ์ ผ่านเวทีเสวนา และวงสนทนาย่อยใช้ความรักและปัญญาความรัก ความเข้าอกเข้าใจเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาแบบองค์รวม เพราะแท้จริงแล้ว ปัญญาเป็นสิ่งที่ผสมผสานระหว่างสิ่งที่อยู่ในใจของเรา และสิ่งที่เป็นความจริง โดย “ดร.โทบิน ฮาร์ท” ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา State University of West Georgia อธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า เราไม่ควรทำการศึกษาที่ทำร้ายนักเรียน ซึ่งหมายถึงการบีบคั้นให้นักเรียนไม่มีขีดจำกัด ให้เขาเรียนในสิ่งที่เขาไม่ได้รัก เพราะหากทำอย่างนั้น เด็กจะไม่เกิดปัญญา และเท่ากับว่าเป็นการทำร้ายโลกของเราอีกด้วย
“ในศตวรรษที่ 21 เป็นยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้า ข้อมูลมหาศาล (big data) ส่งผลให้เราต้องเรียนรู้มากขึ้น ความรู้จึงกลายเป็นสินค้า และถูกจัดหมวดหมู่ให้แยกออกจากตัวตน เราจะต้องมีความรู้เนื้อ รู้ตัว เพื่อช่วยเปิดจิตใจให้พร้อมที่จะเรียนรู้ และใช้การเรียนรู้แบบองค์รวมหลอมรวมตัวเรา แทนที่จะมองว่าเราจะอยู่ตรงไหนในอนาคต แต่ควรหาวิธีว่าเราจะรู้เรื่องต่าง ๆ ในปัจจุบันขณะนั้นได้อย่างไร และทำการแยกแยะ แกะปมต่าง ๆ”
ดังนั้น สถานศึกษาจะต้องหันมามองว่า จะทำอย่างไรให้การเรียนแบบเป็นองค์รวมถูกหลอมรวมในโรงเรียน อาจต้องใช้วิธีให้เด็กมองมุมสูงลงมา เพื่อให้เห็นเบื้องลึกของหัวใจ อยู่กับปัจจุบัน และอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้เราเรียนรู้แบบองค์รวมได้ คือ ความสัมพันธ์ การมีส่วนร่วมกันและกัน ไม่ใช่เพียงการมีปฏิสัมพันธ์
ฝึกเจริญสติทุกชั้นเรียน
“นพ.นิมรอด เชียนแมน” ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกสติแห่งอิสราเอล (Israel Center for Mindfulness in Education) จากประเทศอิสราเอล กล่าวว่า การปรับการเจริญสติให้เข้ากับการศึกษาเป็นการฝึกฝนความตั้งใจของเด็ก เพราะการเจริญสติช่วยสร้างความเข้าใจในมิติของการตระหนักรู้ การจัดการอารมณ์ สุขภาวะ และการรับรู้ความสามารถของตนเอง
“การเรียนรู้เรื่องสติและการเรียนรู้ภายในจิตใจอย่างลึกซึ้ง มีโอกาสเรียนรู้ได้ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับสูง ด้วยการใช้วิธีทำสมาธิ เช่น การนั่งก็ต้องนั่งอย่างมีสติ ให้รู้ว่านั่งเต็มที่ เต็มตัว เต็มก้น เต็มขา จิตรู้ว่าปัจจุบันนั่งอยู่ มีฐานที่หนักแน่น แล้วบอกตนเองว่า กำลังหายใจเข้า หายใจออก อยู่กับปัจจุบัน ก็จะทำให้ชี้เป้าหมายที่ถูกต้องได้”
“ควรต้องสร้างโรงเรียนที่สามารถเชื่อมโยงความเข้าใจตัวตนภายในของเด็ก และการศึกษาไม่ควรเพ่งเล็งไปที่เรื่องเกรด เพราะมีประเด็นปัญญาที่ท้าทายและสำคัญกว่ามากมาย เช่น การขาดปัญญาที่แข็งแกร่ง จะทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ทำให้การตัดสินปัญหาต่าง ๆ ผิดทาง เกิดพฤติกรรมเสี่ยง หรือแม้แต่ส่งผลต่อปัญหาในการกิน กินมากเกินไปเพราะความเครียด ซึ่งปัญหาเหล่านี้ไม่สามารถแก้ไขโดยความรู้ทางวิชาการ”
“ผมได้ทดลองประยุกต์การฝึกเจริญสติในระบบการศึกษาของอิสราเอลระดับอนุบาลและประถม และกำลังจะเริ่มทำกับระดับมัธยม ส่วนในระดับมหาวิทยาลัย มีสถาบันทางภาคเหนือของประเทศเริ่มกระบวนการสอนนักศึกษาให้เป็นนักบำบัดฝึกการเจริญสติบ้างแล้ว”
โรงเรียนเป็นสถานที่เยียวยา
“โรงเรียนต้องเป็นที่สร้างกระบวนการ ไม่ใช่สร้างผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจ” คำพูดดังกล่าวเป็นของ “ดร.อะลิซาเบ็ธ บีเวน” ประธานหลักสูตรและผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการศึกษาองค์รวมแห่งแคลิฟอร์เนีย (California Institute of Integral Studies) โดยเธออธิบายว่า มีหลายครั้งที่เห็นการทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาเด็ก ซึ่งแทนที่จะให้เด็กได้รับการพัฒนาตามธรรมชาติ แต่กลับให้เด็กฝืนพัฒนาการของตนเองให้มากที่สุด และผู้ใหญ่ลืมไปว่าการเป็นเด็กเป็นกระบวนการเจริญเติบโตตามช่วงเวลา ไม่ใช่จัดการให้เขาอยู่ตรงจุดที่ไม่เหมาะกับวัย
“ทุกโรงเรียนมีศักยภาพในการทำหน้าที่เป็นสถานที่แห่งความหวัง ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นชุมชน และเป็นที่เยียวยารักษาในยุคสมัยที่ทุกอย่างก้าวไปรวดเร็ว แต่โรงเรียนต้องกลับมาคิดว่า ได้เคารพช่วงวัยของเด็กหรือยัง และต้องย้อนกลับมามองให้ถ้วนว่า พร้อมทำหน้าที่อันยากเย็นหรือไม่”
“เราพบว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่บ่งชี้ถึงความจำเป็นในการสร้างการศึกษาเชิงเยียวยา เช่น สภาวะกดดันจากชีวิต ที่สมัยนี้ไม่ได้ตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของเด็กที่กำลังเติบโต ดังนั้น การเรียนการสอนแบบองค์รวม และการให้การศึกษาแบบเข้าใจบาดแผลในใจของเด็ก จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาด้านสติปัญญา ร่างกาย อารมณ์ สังคม และจิตใจ รวมถึงสุขภาพโดยรวม ปัจจัยเหล่านี้เป็นการพัฒนาที่นอกเหนือจากการศึกษาแบบดั้งเดิม ซึ่งมุ่งเน้นสาระทางวิชาการและการสอนในห้องเรียนจะทำได้”
นับว่าองค์ความรู้ที่ผู้เชี่ยวชาญร่วมแชร์ในครั้งนี้ แสดงให้เห็นความสำคัญของกระบวนการจัดการความรู้แบบองค์รวม แทนที่จะจำทุกสิ่งอย่างแยกกัน ควรเลือกที่จะโฟกัสไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูล องค์ความรู้ และจิตใจ จนพัฒนาเป็นปัญญาที่จะสร้างคนให้มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์