“ไทยแลนด์ 4.0” มาถูกทาง อย่าปล่อย “รัฐ-การศึกษา” ฉุดทรานส์ฟอร์ม

กระแสดิจิทัลดิสรัปชั่นถาโถมเข้ามาในทุกวงการไม่ว่าภาครัฐและเอกชน แม้แต่วงการวิจัยที่ต้องลุกขึ้นมาทรานส์ฟอร์มรับมือ “ประชาชาติธุรกิจ” พาคุยกับ “ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ที่ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2555 ได้พยายามทรานส์ฟอร์มองค์กรอย่างหนัก ตั้งแต่เป้าหมายการทำวิจัย, กระบวนการทำงาน รวมถึงการสร้างบรรยากาศภายในองค์กรที่เคร่งขรึมให้ก้าวไปสู่ happy workplace ควบคู่ไปกับบทบาทหน้าที่ในการกระตุกเตือนให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาครัฐลุกขึ้นมาปรับตัวรับมือโลกที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็ว

ไม่ใช่แค่ตามโลกให้ทัน

ประธาน TDRI ระบุว่า เมื่อต้องการวางบทบาทให้เป็น “คลังสมอง” ของประเทศ TDRI ต้องปรับตัวตามโลกให้ทัน ต้องเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ให้ทันการเปลี่ยนแปลง และต้องนำไป 1-2 ก้าวก่อนเสมอ เพื่อวาดภาพอนาคตให้สังคมได้เห็น เพื่อนำเสนอทางเลือก จึงมีการตั้ง “TDRI Grand Challenge” เพื่อท้าทายตนเองว่าจะทำอย่างไรให้มีประโยชน์ต่อสังคมมากที่สุด โดยให้แต่ละทีมวิจัยตั้งเป้าหมายว่า “3 ปีจะทำอะไรที่จับต้องได้และเป็นประโยชน์ต่อสังคม” เพื่อผลักดันให้ผลงานไม่ใช่แค่งานวิจัยเชิงสถิติ แต่ต้องเกิดความร่วมมือและนำไปแก้ปัญหาได้จริง

“โลกทุกวันนี้เปลี่ยนเร็วมาก ทุกคนต้องทรานส์ฟอร์ม ต้อง reinvent ตลอด องค์กรต้อง reinvent ประเทศต้อง reinvent ทุกวันนี้เอกชนไปเร็วมาก แต่ยังมีคนไทยจำนวนมากที่ out of touch ไม่เข้าใจว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ และยังเคยชินกับการทำงานแบบเดิม ๆ โดยเฉพาะในภาครัฐ”

ภาครัฐ-การศึกษา ตัวถ่วง 4.0

แม้ว่ารัฐบาลจะมี “ไทยแลนด์ 4.0” ซึ่งถือเป็นนโยบายที่ดีมาก ๆ และจับจุดได้ถูกต้อง ด้วยการชูธงว่าประเทศไทยต้องไปสู่ ประเทศรายได้สูง ต้องทำงานใช้สติปัญญาเยอะขึ้น ทำงานใช้แรงงานแบบเดิมลดลง แต่คงต้องบอกว่า มี 2 sector ซึ่งสำคัญมาก แต่เป็นตัวฉุดให้ไทยปรับตัวได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็นนั่นคือ 1.ภาคราชการ ที่ต้องมีบทบาทในการอำนวยความสะดวกบริการประชาชน แต่เหมือนมีฉนวนกันออกจากโลกความเป็นจริงมาห่อหุ้มไว้

“เอกชนถ้าตามโลกไม่ทันเขาเจ๊ง ราชการเจ๊งไหม ไม่เจ๊ง อยู่ได้แบบเดิมทุกอย่าง เมื่อภาครัฐมีเสถียรภาพสูงมาก และไม่เข้าใจว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ ๆ ข้างนอก สุดท้ายจะกลายเป็นตัวถ่วงการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย”

2.คือภาคการศึกษาที่เป็นภาคสติปัญญา แต่ปัญหาคือแต่ละคนแต่ละหน่วยงานมีอิสระสูง และมีชนวนหุ้มจากความเป็นจริงหนาเกินไปทำให้ไม่รู้ว่าโลกข้างนอกเปลี่ยนเร็วมาก แม้จะเห็นว่าโลกเปลี่ยนแต่ take action ช้ามากจึงไม่แปลกเลยว่าการจัดอันดับมหาวิทยาลัยระดับโลก ไทยไม่เคยขึ้นไปเกิน 250 อันดับแรก และตกลงเรื่อย ๆ นี่คือความน่าเป็นห่วง

กรณีการนำธุรกิจการศึกษาเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตนมองว่าประเด็นไม่ได้อยู่ที่การศึกษา ไม่ควรเป็นธุรกิจเพราะเป็นมานานแล้ว การเป็นบริษัทจำกัด กับบริษัทจำกัดมหาชน แทบไม่ต่างกัน แต่ประเด็นสำคัญคือ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่จะเพิ่มมากขึ้น เพราะชนชั้นที่มีปากมีเสียงมีพลังในสังคม มีทางเลือกในการหาสถาบันการศึกษาดี ๆ ให้ลูกได้จึงไม่มีแรงกดดันที่จะทำให้ระบบการศึกษาของรัฐต้องพัฒนาให้ดีขึ้นเหมือนกับที่เกิดขึ้นกับระบบสาธารณสุขที่พอมีทางเลือกแล้ว ใครมีเงินจ่ายก็ไป รพ.เอกชน ไม่มีเงินก็ต้องทนกับ รพ.รัฐ

“การศึกษาไทยนโยบายไม่นิ่ง 20 ปี มีนายกรัฐมนตรี 8 คน มีรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาฯ 21 คน ถ้าจะปฏิรูปเมื่อการเมืองไม่นิ่ง สังคมต้องนิ่งต้องคุยกันให้ตกผลึกว่านโยบายการศึกษา นโยบายการพัฒนาคนต้องเป็นอย่างไร สร้างภาคีเครือข่ายเพื่อการศึกษา เพื่อให้เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลก็ไปคุยกับรัฐบาลใหม่ได้ว่า สังคมต้องการให้มีทิศทางแบบนี้ต่อไป ซึ่ง TDRI ได้เริ่มต้นจับมือกับหลายองค์กรเปิดเวทีคุยกับ 7 พรรคการเมืองแล้ว มีเป้าหมายให้ไปสู่สัญญาประชาคมด้านการศึกษา ซึ่งพรรคการเมืองก็เห็นคล้ายกันว่าจะปล่อยให้การศึกษาไทยไปตามยถากรรมแบบนี้ไม่ได้ มันต้องมีความนิ่ง มีเสถียรภาพ และต้องเป็นวาระแห่งชาติ”

4.0 มาถูกทางแต่มาช้าไป

ไทยแลนด์ 4.0 ต้องชมรัฐบาล แต่น่าเสียดายที่กว่าจะมาถูกจุด ผ่านไปแล้วครึ่งทางของรัฐบาล อย่าง EEC เป็นการนำแนวคิดเขตเศรษฐกิจพิเศษรวมกับ 10 new S-curve มานำร่อง ตีโจทย์ถูกแต่เริ่มช้าไป แล้วจากนี้คืองานส่วนที่ยากและมีเวลาสั้นมาก ซึ่งอาจทำได้ไม่เต็มที่

“โรดโชว์เต็มที่ ทำโครงสร้างพื้นฐาน แต่สิ่งที่ทำน้อย คือ โรดโชว์ได้มาแล้ว แล้วยังไงต่อ ประเทศไทยไม่ใช่ไม่เคยนำบริษัทระดับโลกเข้ามา ยักษ์ใหญ่อย่างค่ายรถยนต์ ค่ายอิเล็กทรอนิกส์อยู่ในไทยมานานแล้ว แต่แล้วไง ก็ไม่ค่อยมีความเชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประโยชน์ที่จะตกมาในไทยจึงน้อยเกินไป ได้แค่การจ้างงานที่เยอะขึ้น แต่ความรู้ด้านเทคโนโลยีชั้นสูงไม่มา ไทยแลนด์ 4.0 EEC ดึงดูดการลงทุนเยอะ แต่ถ้าไม่เชื่อมโยงเข้ากับระบบนิเวศทางสติปัญญาในประเทศ ประโยชน์ก็จะตกกับประเทศไทยน้อยอีก เหมือนแค่ให้เขามาใช้พื้นที่”

ไม่มียุทธศาสตร์ AI

อีกส่วนที่หายไปอย่างน่าเสียดาย คือ “ยุทธศาสตร์ AI” ปัญญาประดิษฐ์ ดิสรัปชั่นสำคัญคือ AI กับบิ๊กดาต้า ซึ่งประเทศอื่นมีหมดแต่ในไทยไม่มี หรือบิ๊กดาต้าที่ภาครัฐให้ความสำคัญ แต่สิ่งที่ทำเป็นแค่ความพยายามตั้งศูนย์ข้อมูล ไม่ใช่การผลักดันให้เกิด “open data” ที่จะเปิดให้ทุกคนเข้ามา integrate ได้

“รัฐพยายามเอาข้อมูลมากองรวมกัน ทำไทยแลนด์ 4.0 แบบราชก๊ารราชการ และก็ตกยุคตามไม่ทัน ไม่เข้าใจ ซึ่งเกิดเพราะไม่ได้คิดให้ภาคธุรกิจหรือประชาชนเป็นลูกค้า แต่เอานักการเมืองเป็นลูกค้า งานแต่ละกระทรวงจึงออกมาแบบที่รัฐมนตรีอยากได้มากกว่าที่ประชาชนอยากได้ ปัญหาคือรัฐมนตรีก็ไม่ได้มองประชาชน แต่มองไปที่นายกรัฐมนตรีอีก จึงทำให้ประเทศปรับไม่ได้ เพราะราชการไม่รู้ร้อนรู้หนาว”

ภาครัฐ-ธุรกิจเล็กตกขบวน

หากสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ “ดร.สมเกียรติ” มองว่าจะเหลือเฉพาะภาคธุรกิจขนาดใหญ่ที่ทรานส์ฟอร์มทัน ซึ่งได้เห็นจากการที่องค์กรใหญ่ แบงก์ขนาดใหญ่ ตั้งกองทุนเวนเจอร์แคปิตอล สร้างสตาร์ตอัพ ทำอีคอมเมิร์ซ สร้งมาร์เก็ตเพลซของตนเอง เป็นการหาทางออกของแต่ละรายเพื่อรับมือกับดิจิทัลดิสรัปต์ แต่ธุรกิจเล็กก็เหมือนคนตัวเล็ก ไม่มีทางไปต้องพึ่งบริการของรัฐ ขณะที่ภาครัฐเป็นที่พึ่งไม่ได้ แม้จะพยายามไปดิจิทัลก็ยังโดนภาครัฐดึงกลับมาแอนะล็อกตลาดเวลา

“เรื่องบังคับให้แสดงทรัพย์สิน ทั้ง ๆ ที่ภาครัฐมีข้อมูลครบอยู่ตามหน่วยงานต่าง ๆ แทนที่จะให้เจ้าตัวมานั่งเขียนกรอก ถ้าตกไป 1 รายการก็มาเอาผิดอาญากับเขา วิธีที่ง่ายและฉลาด คือ ควรให้รัฐขอคำยินยอมในการเขาถึงข้อมูล แล้วก็รวบรวมมาว่าให้เขาลงชื่อรับรองและกรอกเพิ่มในสิ่งที่ไม่อยู่ในรายการ นี่คือตัวอย่างภาครัฐที่ไม่ 4.0 เลย”

ไทยแลนด์ 4.0 ส่งต่อรัฐบาลใหม่

ดร.สมเกียรติกล่าวต่อว่า รัฐบาลใหม่ที่กำลังจะเข้ามาในอนาคตเองก็คงอยากทำผลงานของตนเอง แต่นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ถือว่ามาถูกทางแล้วจึงควรต้องไปต่อ และทำให้ลึกขึ้น ซึ่งสุดท้ายปัญหาใหญ่ที่สุดที่ต้องพูดอีกครั้ง คือ “ภาครัฐ” และการพัฒนา “กำลังคน” ถ้าศักยภาพบุคลากรไม่เป็น 4.0 อย่างไรก็เป็น 4.0 ไม่ได้

อีกความท้าทายของประเทศไทย คือ ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยในจังหวะที่ทั้งโลกกำลังโดนดิสรัปต์ ซึ่งต้องยอมรับว่าถึงจุดหนึ่งเมื่อคนอายุมากขึ้น ความคิดจะอนุรักษนิยมเพิ่มขึ้น ทำให้อยากเปลี่ยนน้อยลง ในขณะที่โลกเปลี่ยนเร็วมาก แต่ถ้าก้าวตามไม่ทันจะตกยุค นี่ถือเป็นโจทย์ใหญ่

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat
.
หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!