“จาโด” เพิ่มทางเลือกใหม่ เรียนภาษาผ่านซีรีส์ด้วยแอปฯ

"ศมณ สุวรรณรัตน์" ผู้ก่อตั้ง Jadoh Learning

แอปพลิเคชั่นเรียนภาษาอังกฤษผ่านมือถือที่ออกแบบโดยคนไทยเพื่อคนไทย มีให้เห็นในปัจจุบันอยู่หลายร้อยตัว แต่ละตัวมีจุดเด่นแตกต่างกันออกไป ซึ่งมากกว่า 50% ของแอปพลิเคชั่นเรียนภาษาอังกฤษของไทยเน้นการเรียนแกรมม่า คำศัพท์ และบทสนทนาแบบทางการ

แต่ความท้าทายของการเรียนภาษาอังกฤษผ่านแอปพลิเคชั่นคือการทำให้ผู้เรียนไม่รู้สึกเบื่อและไกลตัวประเด็นนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ “ศมณ สุวรรณรัตน์”ผู้ก่อตั้ง Jadoh Learning ต้องการออกแบบแอปพลิเคชั่นเรียนภาษาอังกฤษให้มีสไตล์สนุก มีระบบเรียนรู้ผ่านซีรีส์หนังและละคร ชื่อ“Jadoh” ซึ่งเป็นภาษาญี่ปุ่นอันหมายถึง “unconventional path” หรือ “แนวทางแหกคอก” ที่ตรงข้ามกับการเรียนในห้องเรียนแบบจำเจ โดยพร้อมเปิดตัวอย่างเป็นทางการในต้นปีหน้า เล็งกลุ่มเป้าหมายระดับคอร์เปอเรตด้าน hospi-tality และ food industry

“ศมณ” ไม่เพียงเป็นนักคิด แต่เป็นผู้มีประสบการณ์ตรงในการเรียนภาษาอังกฤษด้วยตนเอง ทั้งยังสามารถพูดได้อีก 2 ภาษา คือญี่ปุ่นและจีน จนถึงขั้นได้ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น (Monbusho) และทุนรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเพื่อเรียนระดับปริญญาโท ทั้งเคยทำงานในองค์กรระดับโลกที่เป็นแหล่งรวมคนหัวกะทิอย่าง Boston Consulting Group ประเทศญี่ปุ่นมาแล้ว

จึงเป็นที่น่าสนใจว่า เขาเรียนภาษาต่างประเทศด้วยตัวเองอย่างไร ? และเขาสร้าง Jadoh ให้มาสู้กับความท้าทายในการเรียนภาษาอังกฤษของคนไทยได้แบบไหน ?

“ศมณ” จึงเล่าให้ฟังว่า ตอนเด็กติดอ่านหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น พร้อมกับเล่นเกมคอมพิวเตอร์ ซึ่งคุณพ่อ-คุณแม่ไม่ชอบเท่าไหร่นัก เราอยากให้ผู้ปกครองรู้สึกเชิงบวกกับการอ่านการ์ตูนและการเล่นเกม จึงเริ่มซื้อพจนานุกรมภาษาญี่ปุ่นมา เพื่อแกะคำศัพท์ที่ละตัว และเปลี่ยนจากการอ่านการ์ตูนที่แปลเป็นภาษาไทยไปเป็นการอ่านจากภาษาต้นฉบับ

“ผมเริ่มไล่เปิดความหมายของศัพท์ทีละคำ พออ่านเยอะขึ้น เราจะเดาความหมายของคำศัพท์จากภาพได้ เราทำได้ประมาณเกือบ 2 ปี จนตอนเรียนปี 1 ของมหาวิทยาลัยจึงไปเป็นนักแปลการ์ตูนที่สำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ เป็นการหาค่าขนมให้กับตัวเอง จนทำให้เราเดินไปบอกคุณพ่อ-คุณแม่ได้อย่างเต็มปากว่า เกมกับการ์ตูนมีประโยชน์นะ”

“ผมสรุปได้ว่ากุญแจสำคัญของการเรียนภาษาต่างประเทศให้ประสบความสำเร็จคือการทำให้เป็นระบบ (systematic) ยกตัวอย่างตอนเด็กผมอ่านการ์ตูนภาษาญี่ปุ่นและอังกฤษทุกวัน วันละ 2-3 ชั่วโมง โดยทุกวันผมตั้งระบบให้ตัวเองว่า ต้องให้ได้คำศัพท์ใหม่ 30 คำ เท่ากับว่า 1 เดือนผมมีคำศัพท์อยู่ในหัว 900 คำ ซึ่งการเรียนภาษาทุกภาษา หากเราเก็บคำศัพท์มากพอ 500-1,000 คำ จะช่วยให้เราเข้าใจประโยคจากสื่อต่าง ๆ เกือบครึ่งหนึ่ง”

“แต่ความท้าทายคือจะทำอย่างไรให้ศัพท์ที่เราท่องในวันนี้ จำได้ต่อไปอีก 1 เดือนข้างหน้า ผมจึงใช้โปรแกรมบนเครื่อง Palm Pilot ตัวหนึ่งที่ชื่อว่า Super Memo ซึ่งมีอัลกอริธึมที่ฉลาดมากพอใส่คำศัพท์และความหมายที่ผมได้ในแต่ละวันลงไป และอีก 2 เดือนถัดมาโปรแกรมจะถามคำศัพท์นั้นให้เราตอบ และจะคำนวนอัตโนมัติว่าจะถามรอบถัดไปเมื่อไหร่”

“แต่ความยากคือ Super Memo เป็นโปรแกรมที่มีแต่โครงให้ เราต้องใส่คำศัพท์เอง ซึ่งสุดท้ายคนจึงไม่นิยมเท่าไหร่นัก ดังนั้นสิ่งที่ผมทำใน Jadoh จะออกมาแก้ปัญหาจุดนั้น โดยตอบโจทย์การเรียนใน 2 ช่วงแรกของการเรียนภาษาต่างประเทศมากที่สุดคือ หนึ่ง การสร้างคลังคำศัพท์ สอง การเรียนแบบเรียงประโยค”

“ศมณ” อธิบายต่อว่า คอนเซ็ปต์ของ Jadoh มี 3 ส่วนหลัก คือ หนึ่ง ความสนุก ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญมาก จาโดจะไม่ทำเนื้อหาไวยากรณ์หนัก ๆ หรือวิดีโอสอนบทสนทนาแบบที่เราเคยเรียนพิเศษทั่วไป แต่จะเน้นไปที่หนัง ซีรีส์ เพลง หรือข่าวตรงเทรนด์แบบสั้น ๆ และเป็นการเรียนแบบ micro learning ไม่เกิน 2 นาที ได้เรียนรู้คำศัพท์ถึง 10 คำ

“เรื่องที่สอง การเรียนอย่างเป็นระบบ ทีมผมได้ประยุกต์ใช้อัลกอริธึมของ Smart Memo ที่เคยช่วยให้ผมจำศัพท์ แต่ในจาโดผู้เรียนไม่ต้องเหนื่อยกับการคีย์คำศัพท์และความหมายเอง เพียงแค่ขอเวลาวันละ 10 นาที ก็ท่องศัพท์ได้แล้ววันละ 20-30 คำ

ส่วนเรื่องสุดท้ายคือ community ผมอยากให้ผู้ใช้แอปนี้ค่อย ๆ รวมตัวกันเป็นชุมชนที่คนเก่งและคนอยากเรียนรู้ภาษามาแฮงเอาต์ มาแลกเปลี่ยนความรู้ ขณะเดียวกันก็เป็นที่ที่องค์กรต่าง ๆ มั่นใจว่าการเรียนกับ Jadoh ต้องได้คนเก่ง”

“เพราะกลุ่มเป้าหมายของ Jadoh ในช่วงแรกคือบริษัทที่ทำธุรกิจ hospitality และ food industry เนื่องจากพนักงานกลุ่มนี้ต้องพบปะกับชาวต่างชาติบ่อย ที่สำคัญ บริษัทเหล่านี้มักลงทุนกับการเรียนรู้ของพนักงานอยู่แล้ว หากพนักงานสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี ก็จะช่วยผลักดันบริษัทให้เติบโตขึ้นด้วย จึงมีหลายบริษัทในปัจจุบันให้ทุนกับพนักงานในการซื้อคอร์สเรียนทั้งแบบ offline และ online แต่มักประสบปัญหาคือพนักงานไม่ได้มีความรู้สึกอยากเรียน”

“Jadoh จะเข้ามาช่วยทำให้พนักงานสนใจจากเรื่องใกล้ตัว เช่น ละคร ซีรีส์ หนัง และเพลง ซึ่งจะเป็นตัวดึงพวกเขาให้เข้ามาเรียน แล้วจากนั้นเราจะพาพวกเขาเข้าสู่เนื้อหาที่เหมาะสมกับการทำงาน โดยในตอนท้ายวิดีโอของแต่ละบทจะมีคำถามเพื่อเช็กความเข้าใจของพนักงาน จากนั้นอัลกอริธึมจะทำหน้าที่ถามซ้ำในอีก 2-3 วันถัดไป และหากคำไหนผิดบ่อยก็จะถามซ้ำเป็นระยะ”

“ศมณ” บอกว่า เราออกแบบ Jadoh ให้สามารถปรับแต่งได้ตรงกับธุรกิจของบริษัทนั้น ๆ ทั้งยังทำให้บริษัทสามารถแทร็กการใช้งานของพนักงานแต่ละคนว่าเรียนไปกี่ครั้ง เรียนเรื่องไหนบ้าง รวมถึงการทราบผลการเรียนของพนักงานได้

นอกจากนั้นยังมี leader board แสดงอันดับผลการเรียนของพนักงานแต่ละคน เป็นตัวกระตุ้นให้พนักงานอยากแข่งขันในการเรียนรู้ และอยากทำให้ดีขึ้น

“นอกจากภาษาอังกฤษแล้ว ใน Jadoh เริ่มลงบทเรียนภาษาจีนด้วย ซึ่งจะพัฒนาให้เต็มรูปแบบในปีถัดไป ตอนนี้ทุกคนสามารถเข้าไปเรียนจาโดได้ทั้งภาษาอังกฤษและจีนฟรีจนถึงต้นปีหน้า โดยสามารถดาวน์โหลดได้ทางสมาร์ทดีไวซ์ระบบ IOS และ Android หลังจากนั้นจะยังคงเปิดให้ใช้ฟรีในบางส่วน เพราะอยากส่งเสริมให้คนไทยได้เรียนรู้แบบสนุกสนาน สามารถนำไปใช้จริงในชีวิตประจำวันได้”

เพราะหากคนไทยสามารถสื่อสารภาษาต่างประเทศได้ดี จะนำมา ซึ่งโอกาสใหม่ ๆ ตลอดเวลา ทั้งด้านการศึกษาและอาชีพการงานต่อไป