มองการศึกษาไทยปี”62 แห่ยกเครื่องธุรกิจโต้คลื่นดิสรัปชั่น

ปีที่ผ่านมาธุรกิจการศึกษามีการเปลี่ยนแปลงหลายมิติ ทั้งในแง่ของการลงทุนที่เห็นการเปลี่ยนมือจากคนไทยไปเป็นต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มทุนจีน หรือการดึงพันธมิตรต่างชาติมาร่วมบริหารมากขึ้น ซึ่งบางธุรกิจมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ขณะที่บางธุรกิจต้องปรับตัวกันยกใหญ่ เพื่อหนีจากกระแสดิสรัปชั่น โดยสถานการณ์จากปีก่อนยังคงสืบเนื่องมาถึงปีนี้ และเป็นเทรนด์ที่เห็นภาพชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ

สำหรับธุรกิจที่ยังคงร้อนแรง คือ โรงเรียนนานานาชาติ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีโรงเรียนนานาชาติ 205 แห่ง มูลค่าตลาดอยู่ที่ 63,700 ล้านบาท และมีการเปิดใหม่เฉลี่ยปีละ 4-5 แห่ง โดยในกรุงเทพมหานครจะเห็นได้ว่านอกจากการกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯชั้นในและชั้นกลางแล้ว ยังมีการขยายไปยังพื้นที่ชั้นนอกอย่างโซนราชพฤกษ์ ที่เริ่มเห็นโรงเรียนนานาชาติรายเก่าหลายแห่งไปปักหมุด ทั้งโรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์ที่ขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง และโรงเรียนอินเตอร์สัญชาติไทยที่เพิ่งขายลิขสิทธิ์ให้กับผู้เล่นรายใหม่ไปก็ได้มาเปิดโรงเรียนในโซนนี้ด้วย

ทั้งนั้น ไม่เพียงแต่การเปิดหลักสูตรอินเตอร์ตามที่รู้จักกันดีอย่างระบบอังกฤษ, อเมริกัน, IB หรือสิงคโปร์เท่านั้น ตอนนี้มีโรงเรียนอินเตอร์ที่นำเข้าหลักสูตรประเทศจีนมาเปิดโดยเฉพาะ ซึ่งเริ่มมีให้เห็นแล้วที่ จ.เชียงใหม่ คาดว่าเพื่อรองรับลูกหลานชาวจีนที่ถูกส่งเข้ามาเรียนในไทย เพราะสถาบันการศึกษาของจีนยังมีไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้เรียน

ในส่วนของมหาวิทยาลัยมีการปรับตัวอย่างหนัก เพื่อรับมือความท้าทายหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นจำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลง ที่กระทบต่อการเข้าเรียนต่อชั้นสถาบันอุดมศึกษา การเข้ามามีบทบาทอย่างยิ่งของเทคโนโลยี รวมถึงพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ของผู้เรียนยุคใหม่ที่ไม่ยึดติดกับรูปแบบการเรียนแบบเดิมอีกแล้ว

สิ่งที่เห็นได้ชัดเจน คือ หลายมหาวิทยาลัยได้ปรับมาใช้โมเดลเครดิตแบงก์ ตั้งแต่ ม.ธรรมศาสตร์, ม.เทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ, ม.หอการค้าไทย โดยมีแนวโน้มว่าหลายมหาวิทยาลัยจะนำโมเดลนี้ไปใช้เช่นกัน เพราะสามารถดึงนักศึกษาให้อยู่กับมหาวิทยาลัยได้ในระยะยาว

โมเดลนี้คือการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนไม่ต้องเรียนต่อเนื่องครบ 4 ปี หากต้องการหยุดเรียนเพื่อออกไปทำสตาร์ตอัพ ทำงาน หรือเหตุผลอื่น ๆ ก็สามารถดรอปเรียนได้ โดยมหาวิทยาลัยจะเก็บหน่วยกิตไว้ให้ และจะกลับมาเรียนเมื่อไรก็ได้ ซึ่งเครดิตแบงก์ครอบคลุมทั้งการเรียนแบบเก็บหน่วยกิตปกติ การเรียนออนไลน์ และการเปิดหลักสูตรระยะสั้นที่สามารถเก็บวิชาเหล่านั้นมาเปรียบเทียบเป็นหน่วยกิต ในกรณีที่ต้องการศึกษาต่อระดับปริญญาได้ด้วย

ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยบางแห่งได้ปรับรูปแบบการสอนให้โดนใจเด็กรุ่นใหม่ ด้วยการเปิดโอกาสให้ออกแบบการเรียนและค้นหาตัวเอง ไม่ว่านักศึกษาจะเริ่มต้นเข้าเรียนจากคณะใดก็ตาม แต่ระหว่างทางของการเรียนนั้น นักศึกษาสามารถเลือกเรียนวิชาต่าง ๆ ได้ตามความสนใจ ซึ่งอาจเป็นวิชาที่อยู่ข้ามสายจากคณะของตัวเอง

โดยมีอาจารย์เป็นโค้ชที่จะช่วยดูศักยภาพ และทิศทางความถนัดของนักศึกษา ก่อนที่จะไปเลือกสาขาวิชาจริง ๆ ในช่วงปี 3-4 ซึ่งถือว่าเป็นการทลายกรอบการเรียนแบบเดิม ๆ ในบริบทของอนาคตที่เส้นแบ่งของการเป็นสาขาวิชา หรือคณะเริ่มจางลงเรื่อย ๆ

ไม่เพียงเท่านั้น เพื่อหนีจากตลาดเรดโอเชี่ยนในประเทศที่ต้องแย่งชิงเค้กที่เล็กลงทุกปี บางมหาวิทยาลัยได้ขยับไปปักธงในต่างประเทศ ซึ่งประเทศที่เป็นที่หมายตาของหลายมหาวิทยาลัย คือ ประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า ลาว และเวียดนาม ที่เปิดให้ต่างชาติเข้าไปลงทุนมากขึ้น ทำให้หลายมหาวิทยาลัยได้เข้าไปสำรวจตลาด และหาพันธมิตรท้องถิ่นในการลงทุน คาดว่าใน 2-3 ปีข้างหน้าจะเห็นภาพการเปิดหลักสูตร หรือแคมปัสในต่างประเทศมากขึ้น

ตัวอย่างที่เริ่มเห็นแล้ว คือ ม.หอการค้าไทย ที่จะขยายมาสู่การเปิดหลักสูตรระดับปริญญาตรี หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้เข้าไปเปิดหลักสูตร MBA ที่ประเทศเมียนมา ในเมืองย่างกุ้ง และมัณฑะเลย์ นอกจากนี้มี ม.ศรีปทุม ที่เข้าไปเปิดหลักสูตรระดับปริญญาตรีที่ประเทศอินเดีย และเนปาล และมีแผนที่จะขยายความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาท้องถิ่นในประเทศอื่นเพิ่มเติมด้วย

ประเด็นสุดท้ายที่น่าจับตาในปีนี้ คือ การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งบางพรรคการเมืองคลอดนโยบายการศึกษาออกมาบ้างแล้ว หรือมีการแสดงถึงวิสัยทัศน์ต่อทิศทางการศึกษาของประเทศไทยในอนาคต โดยหากมองถึงนโยบายที่ทยอยออกมานั้นยังคงมุ่งไปที่การยกระดับการศึกษาในทุกมิติ ให้น้ำหนักไปกับการลงทุนในกลุ่มเด็กเล็ก และอาชีวศึกษา รวมถึงชูการกระจายอำนาจให้โรงเรียนมีสิทธิ์ในการบริหารจัดการ ตลอดจนการนำเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการศึกษามากขึ้น

อย่างไรก็ตาม คงต้องมองต่อไปว่า รัฐบาลใหม่ที่เข้ามาบริหารงานด้านการศึกษานั้นมีแผนงานแบบใด จะเข้าไปอุดรอยรั่วหรือปัญหาของการศึกษาอย่างไร หรือสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมทางการศึกษาได้หรือไม่


และที่สำคัญคือ จะพากระทรวงศึกษาธิการไปในทิศทางใด ที่ทำให้เกิดความต่อเนื่องของนโยบาย และการปฏิรูปการศึกษา โดยไม่ถูกกระทบจากการเปลี่ยนรัฐมนตรีบ่อย ๆ อย่างที่แล้วมา