มหา”ลัยหนีตายลุยตปท. แห่ปักธงแคมปัสCLMV

แฟ้มภาพ
มหา”ลัยรัฐ-เอกชนดิ้นหนีตาย หลังจำนวนนักศึกษาไทยลดฮวบ เปิดกลยุทธ์แห่ลงทุนแคมปัส-หลักสูตรต่างประเทศ ม.หอการค้าไทยบุกปักธงเมียนมา ส่วน ม.ศรีปทุมเดินหน้าชิงนักศึกษาที่อินเดีย-เนปาล ขณะที่ ม.มหิดลมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในเวียดนาม

มหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนปรับกลยุทธ์ธุรกิจหลังเค้กในตลาดลดลงทุกปี ด้วยจำนวนเด็กเข้าสู่ระบบน้อยลงมหาวิทยาลัยมีจำนวนที่นั่งเหลือเกินดีมานด์ติดต่อกันแล้ว 2-3 ปี ส่งผลให้หลายมหาวิทยาลัยขยับไปตลาดต่างประเทศ ทั้งลงทุนเปิดแคมปัสใหม่ หรือจับมือกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ และเปิดหลักสูตรของตัวเอง

บูมเปิดแคมปัสในเมียนมา

รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า หลังจากที่ ม.หอการค้าไทยเข้าไปเปิดหลักสูตรปริญญาโท MBA ที่เมืองย่างกุ้งและมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา มา 8 ปี โดยร่วมมือกับสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งสหภาพพม่า (UMFCCI) สำหรับปีนี้ได้ขยายมาสู่การเปิดหลักสูตรปริญญาตรี BBA ซึ่งมีหลายสาขาวิชา เช่น การตลาด ธุรกิจระหว่างประเทศ เป็นต้น โดยตั้งเป้ารับนักศึกษาใหม่ประมาณ 100 คน และจะเริ่มดำเนินการที่เมืองย่างกุ้งก่อน ต่อจากนั้นอีก 1-2 ปีจะไปเปิดที่เมืองมัณฑะเลย์

“หลักสูตรปริญญาตรีใช้พื้นที่เดียวกับหลักสูตรปริญญาโท เป็นตึกที่ UMFCCI สร้างไว้อยู่แล้ว โดยให้เราเช่าพื้นที่ระยะยาว และเพื่อรองรับนักศึกษาปริญญาตรี เราจะลงทุน 10 ล้านบาท ในการขยายพื้นที่และเพิ่มเติมเรื่อง facility ตอนนี้ดีมานด์ด้านการศึกษาในเมียนมามีเยอะมาก ซึ่งเขายังอยากให้เราไปเปิดแคมปัสที่เมืองมะละแหม่งด้วย”

รศ.ดร.เสาวณีย์กล่าวอีกว่า ม.หอการค้าไทยให้น้ำหนักกับการขยายแคมปัสในเมียนมามากขึ้น โดยมองว่าไม่ใช่แค่การขยายการศึกษาอย่างเดียว แต่ยังเป็นการขยายเครือข่ายการร่วมลงทุน เพราะนักศึกษาเมียนมาที่มาเรียนไม่ได้ต้องการแค่ปริญญา แต่ต้องการทำ business matching กับนักธุรกิจไทยและเมียนมา ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ ม.หอการค้าไทยสามารถทำให้ได้ และเป็นจุดเด่นที่แตกต่างจากมหาวิทยาลัยอื่น

“อีกประเทศที่มองไว้คือเวียดนาม เพราะมีการเติบโตที่รวดเร็ว และมีการลงทุนเยอะมาก เขาจึงต้องเตรียมคนด้วยเช่นกัน ซึ่งเรากำลังดูอยู่ว่าจะเป็นโฮจิมินห์หรือฮานอย คาดว่าจะสามารถเปิดรับนักศึกษาได้ช่วงปลายปี 2562 และเริ่มต้นด้วยหลักสูตร MBA ก่อน ขณะเดียวกันมีแผนเข้าไปเปิดแคมปัสเพิ่มเติมในประเทศกัมพูชาและลาวอีกด้วย”

ม.ศรีปทุมปักหมุดอินเดีย-เนปาล

ผศ.ดร.วิรัช เลิศไพฑูรย์พันธ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวว่าม.ศรีปทุมได้เข้าไปเปิดหลักสูตรใน 2 ประเทศแล้ว คืออินเดียและเนปาล และกำลังอยู่ระหว่างการพูดคุยและหาพันธมิตรที่เหมาะสมในประเทศจีน กัมพูชา และเมียนมา โดยคาดว่าภายใน 5 ปี ม.ศรีปทุมจะสามารถเข้าไปเปิดหลักสูตรในต่างประเทศได้ไม่ต่ำกว่า 5 ประเทศ มุ่งเน้นประเทศที่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออกกลาง

สำหรับสถาบันการศึกษาในต่างประเทศที่ ม.ศรีปทุมเข้าไปร่วมมือด้วยมี Chennai Academy of Architecture and Design (CAAD) ในเมืองเชนไน ประเทศอินเดีย ซึ่งจะเปิดสอนหลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตร์ระดับปริญญาตรี รับนักศึกษาประมาณ 50 คน และ Weigan & Liegh College (WLC) ที่เมืองกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล ส่วนหลักสูตรที่นำเข้าไปเปิดสอนคือดิจิทัลมีเดีย, การท่องเที่ยว และบริหารธุรกิจในระดับปริญญาตรี รับนักศึกษา 200-300 คน และระดับปริญญาโทกับหลักสูตรบริหารธุรกิจและไอที โดยจะเปิดรับนักศึกษาในปีนี้

“โมเดลการขยายมหาวิทยาลัยไปต่างประเทศของเราจะขึ้นอยู่กับกฎหมายของประเทศนั้น ๆ อย่างในประเทศอินเดีย และเนปาลจะเป็นรูปแบบของการร่วมมือกับสถาบันการศึกษาของเขา โดยเขาจะสร้างตึก อาคาร และห้องเรียนให้ได้มาตรฐานของเรา รวมถึงทำการตลาดให้ ส่วนเรานำหลักสูตรเข้าไปจัดการเรียนการสอนในนามของ ม.ศรีปทุม เมื่อนักศึกษามาลงทะเบียนเรียนจะเป็นนักศึกษาของเรา และได้ดีกรีจาก ม.ศรีปทุม”

ผุด Satellite Campus

ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ม.มหิดลยังไม่มีแผนไปเปิดแคมปัสในต่างประเทศ เพราะมองว่าประเทศไทยยังขาดแคลนอาจารย์ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ กระนั้นตอนนี้มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเวียดนามในการเปิดหลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิตในรูปแบบ satellite campus ซึ่งเป็นการเรียนทางไกลจาก ม.มหิดล ผสมผสานกับการเรียนจากอาจารย์ของ ม.มหิดลที่ไปสอนเป็นครั้งคราว

“ม.เวียดนามขอความร่วมมือมา เราเห็นว่าสามารถสร้างประโยชน์ให้เขาได้ จึงนำหลักสูตรเข้าไปเปิดสอน พร้อมทั้งเปิดออฟฟิศเพื่อเป็น connecting point โดยผู้เรียนจะได้ดีกรีของ ม.มหิดลด้วย ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้เป็นการตอกย้ำภาพของเราในการเป็นผู้นำด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ และทำให้เขารู้จัก ม.มหิดลมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เปิดมาแล้ว 2-3 ปี ตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างการประเมินผล ว่าความร่วมมือรูปแบบนี้ได้ประโยชน์มากน้อยแค่ไหน และจะขยายผลต่อไปประเทศอื่นหรือไม่”

ทั้งนี้ นอกเหนือจาก 3 มหาวิทยาลัยข้างต้น ยังมีวิทยาลัยดุสิตธานีที่สนใจขยายตลาดไปยังต่างประเทศ โดยเมื่อเดือน ก.ค. 2561 อธิการบดีในขณะนั้นคือ ดร.สาโรจน์ พรประภา อธิการบดี และ ดร.พุฒิธร จิรายุส รองอธิการบดีฝ่ายกลยุทธ์และการพัฒนาองค์กร วิทยาลัยดุสิตธานี ได้เข้าเยี่ยมคารวะท่านจักร บุญ-หลง เอกอัครราชทูตไทย ณ เมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา เพื่อหารือและขอคำชี้แนะในการขยายหลักสูตรต่าง ๆ ของวิทยาลัยดุสิตธานีมายังประเทศเมียนมา

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!