ประธานทปอ.ชี้ ม.รัฐปรับตัวแข่งเอกชน หลังน.ศ.ลด มึนทีแคส’62 รับ4แสน ลงทะเบียนไม่ถึง3แสน

กรณีที่มหาวิทยาลัยหลายแห่งแห่เปิดสอนหลักสูตร หรือวิชาแปลกๆ ใหม่ๆ เพื่อดึงดูดความสนใจให้คนเข้ามาเรียน ขณะที่ นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ระบุว่า ปัจจุบันมีหลักสูตรใหม่ๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก และอนาคตการเรียนในระบบจะลดลง คนเรียนผ่านออนไลน์ด้วยตนเองมากขึ้น มหาวิทยาลัยจะต้องปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ ส่วนหลักสูตรที่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ อย่างหลักสูตรแปลกๆ ใหม่ๆ จะมาแบบลมเพลมพัด ซึ่งมีความเสี่ยง เพราะสุดท้ายเด็กจะเรียนน้อยลง และต้องปิดตัวลงนั้น

นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างหักศอก ยากที่จะคาดเดาทิศทาง ปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่ในต่างประเทศเริ่มสนใจเข้าเรียนมหาวิทยาลัยน้อยลง และรู้สึกว่ามหาวิทยาลัยอาจจะไม่ตอบโจทย์ของตน เพราะเห็นว่าผู้ที่ประสบความสำเร็จในระดับโลกไม่ได้จบมหาวิทยาลัย หรือพบผู้จบมหาวิทยาลัยทำงานไม่ตรงสาขามีจำนวนมากขึ้น และประสบความสำเร็จ เป็นต้น โลกจึงอยู่ในยุคที่คาดเดาได้ยาก ทำให้มหาวิทยาลัยต้องพยายามปรับปรุงตัวเอง ต้องดึงดูดให้เห็นว่าการเรียนมหาวิทยาลัยนั้นยังจำเป็นอยู่ มหาวิทยาลัยจึงปรับตัวให้ทันสมัย ดังนั้น การเปิดหลักสูตรใหม่เป็นทางออกทางหนึ่งที่มหาวิทยาลัยพยายามปรับตัว

นายสุชัชวีร์กล่าวอีกว่า ส่วนที่ นพ.อุดมระบุว่ามหาวิทยาลัยต้องปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ ส่วนหลักสูตรที่ไม่ตอบโจทย์ เช่น หลักสูตรแปลกใหม่ต่างๆ จะมาแบบลมเพลมพัด ใครเปิดก็เสี่ยง เพราะสุดท้ายเด็กจะเรียนน้อยลง และต้องปิดตัวนั้น เป็นเรื่องที่ถูกต้อง

“ผู้เรียนที่จะเข้ามาเรียนหลักสูตรใหม่ ต้องมั่นใจ ต้องค้นพบตัวเองว่ามีความชอบในสาขาที่จะเรียนจริงๆ ส่วนมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนหลักสูตรใหม่ ที่ทันสมัยนั้น มีความเสี่ยงสูงอยู่แล้ว ถ้าเกิดเปิดมาแล้วไม่ประสบความสำเร็จก็ต้องปิด และต้องดูแลนักศึกษาต่อ ผมเชื่อว่าก่อนที่มหาวิทยาลัยจะเปิดหลักสูตรใดก็ตาม ต้องคิดอย่างรอบคอบ อีกทั้ง นักเรียนสมัยนี้ฉลาด สามารถเข้าไปดู และศึกษาข้อมูล ผู้สอน เนื้อหาหลักสูตรว่าทันสมัยหรือไม่ จบไปแล้วได้งานทำหรือไม่ และแน่นอนว่าการเปิดหลักสูตรใหม่เหล่านี้ เป็นวิธีหนึ่งที่ดึงนักเรียนเข้ามาเรียน เพราะปัจจุบันจำนวนนักเรียนมีน้อยมาก มหาวิทยาลัยเอกชนเริ่มดึงเด็กมาเรียน เพื่อให้สู้กับมหาวิทยาลัยรัฐให้ได้ ส่วนมหาวิทยาลัยรัฐเริ่มประสบปัญหานักเรียนน้อยลง จึงเปิดหลักสูตรใหม่ขึ้นมา เพื่อดึงดูดนักเรียนเข้ามาเรียน” นายสุชัชวีร์กล่าว

นายสุชัชวีร์กล่าวต่อว่า ขณะนี้จำนวนนักเรียนที่เข้าลงทะเบียนออนไลน์ในระบบทีแคส ปีการศึกษา 2562 มีไม่ถึง 3 แสนคน แต่จำนวนรับของมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมกับ ทปอ.มีเกือบ 4 แสนที่นั่ง ขอยืนยันว่าที่นั่งในมหาวิทยาลัยมีเหลือแน่นอน ส่วนจะมากกว่าจำนวนนักเรียนกี่เท่านั้นพูดยาก เพราะยังไม่นับมหาวิทยาลัยเปิด และมหาวิทยาลัยอื่นที่ยังไม่เข้าร่วมอีก อย่างไรก็ตาม ดีใจที่เห็นมหาวิทยาลัยรัฐเริ่มเปิดสอนหลักสูตรที่ทันสมัย การปรับปรุงถึงอาจจะไม่สมบูรณ์แบบในครั้งแรก แต่ดีกว่าที่ไม่ทำอะไรเลย

 


ที่มา : มติชนออนไลน์