เทรนด์การศึกษา 2019 เน้นกรองข้อมูล-คิดเชิงคำนวณ

ภาพจาก:criticalcommons

เป็นที่แน่นอนว่ารูปแบบการเรียนรู้ในปัจจุบันย่อมแตกต่างจากรูปแบบในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น เพราะส่งผลต่อทักษะใหม่ ๆ ที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องกับแวดวงการศึกษาจึงจำเป็นต้องวางแผนในการจัดการศึกษาให้เหมาะสมกับเด็กรุ่นใหม่ ยิ่งเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรเพื่อให้สอดรับกับการทำงานในอนาคต

ผลเช่นนี้ ทำให้ “ประชาชาติธุรกิจ” จึงสรุปภาพรวมแนวโน้มของการศึกษาทั่วโลกเพื่อให้เห็นว่า เทรนด์ของการศึกษาในปี 2019 จะเป็นอย่างไรต่อไป

ยุคกลั่นกรองข้อมูล

ในยุค big data มีข้อมูล ข่าวสาร และเนื้อหาต่าง ๆ มากมาย จึงจำเป็นต้องเลือกเสพให้ถูกต้อง ส่งผลให้ content curation เป็นศาสตร์ที่จะมาเป็นวิชาสำคัญในสมัยนี้ เพราะศาสตร์ดังกล่าวช่วยเรื่องการรวบรวม เรียบเรียง คัดกรองกลั่นกรองข้อมูล

“สุเรช กูมาล” ซีอีโอ Tesseract Learning อธิบายว่า วัตถุประสงค์ของ content curation ไม่ใช่การรับรู้เนื้อหาต่าง ๆ ที่ผู้อื่นสร้างไว้ แต่เป็นการทำให้นักเรียนและนักวิจัยประสบความสำเร็จในการค้นพบข้อมูลต่าง ๆ ในมุมมองที่หลากหลาย ทั้งยังช่วยให้ผู้เรียนสามารถใช้ข้อมูลที่มีอยู่แล้ว มาใส่ไอเดีย และนำเสนอให้น่าสนใจกว่าเดิม

“content curation เป็นวิธีการค้นหาแบบใหม่ ไม่ใช่เพียงแค่การค้นคว้าหาข้อมูลผลิตภัณฑ์ สถานที่ หรือภาพของใครบางคน แต่เป็นการเรียนรู้การค้นหา ยิ่งค้นหายิ่งได้เรียนรู้ เป็นเหมือนการสร้าง mind map หรือแผนที่ความคิด เกี่ยวกับเรื่องที่เรายังไม่คุ้นเคย เนื่องจากเป็นระบบการรวบรวมข้อมูลที่ให้คำตอบที่ดีกว่าการใช้ google และไม่มีที่สิ้นสุด”

“เพราะหลักการทำงานของ google ตามความเป็นจริง ต่างอาศัยหลักการ content curation เพื่อให้คำตอบดีที่สุดสำหรับคำถาม หรือแม้แต่ Pinterest เว็บไซต์รวบรวมรูปก็พิสูจน์ว่า ทักษะ content curation สามารถดูแลจัดการคอลเล็กชั่นรูปต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี จนทำให้เป็นเว็บที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้น ๆ ในปี 2019”

“ทั้งนั้นเพราะกระบวนการเรียนรู้จัดการข้อมูลแบบ content curation จะถูกนำมาใช้ปฏิวัติวงการศึกษา และถือเป็นธงการเรียนรู้ใหม่ที่ได้รับความสนใจจากนักการศึกษาที่สนับสนุนการศึกษาแบบเน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง และ content curation ที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ในทุกวิชา เพราะช่วยสร้างความเข้าใจเชิงลึก มากกว่าแค่การท่องจำในแบบดั้งเดิม”

“โค้ด” ช่วยคิดเชิงคำนวณ

“อนันญา เดบรอย์” ผู้จัดการฝ่ายคอนเทนต์ EdTechReview กล่าวว่า เมื่อเราพิจารณาใกล้ ๆ จะเห็นว่าการเขียนโค้ดด้วยภาษาคอมพิวเตอร์เกี่ยวข้องกับกิจกรรมหลายประเภทในชีวิตประจำวัน และมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งแน่นอนว่าการเขียนโค้ดเป็นส่วนสำคัญในการเรียนของนักเรียนมาช่วงหนึ่งแล้ว แต่นักวิชาการคาดการณ์สำหรับปีนี้ว่าเป็นปีที่การเขียนโค้ดจะถูกบูรณาการในเนื้อหาวิชาแบบข้ามสายกัน และการเขียนโค้ดจะถูกผลักดันให้เป็นวิชาที่ทุกช่วงอายุต้องเรียน รวมไปถึงเด็กเล็กด้วย

“เนื่องจากนักวิชาการเชื่อว่าการเขียนโค้ดจะช่วยกระตุ้นการคิดเชิงคำนวณ (computational thinking) ซึ่งเป็นกระบวนการแก้ปัญหาในหลากหลายลักษณะ เช่น การวิเคราะห์ข้อมูล, การจัดลำดับเชิงตรรกศาสตร์ และการหาวิธีแก้ปัญหาแบบเป็นขั้นเป็นตอน (อัลกอริทึ่ม) รวมทั้งการย่อยปัญหาที่ช่วยให้รับมือกับปัญหาที่ซับซ้อนหรือมีลักษณะเป็นคำถามปลายเปิดได้”

ปีแห่ง Micro Learning

เว็บไซต์ elearninglearning บอกว่า micro learning (การเรียนแบบย่อ) เป็นเทรนด์ที่ค่อนข้างมาแรงในปีที่ผ่านมา เพราะเป็นวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะกับพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ ที่ไม่สามารถจดจ่ออยู่กับการเรียนวิชาต่าง ๆ ได้นานดังนั้น จึงเกิดการส่งเสริมในการทำเนื้อหาให้สั้น กระชับ เพราะแต่ละบทเรียนจะใช้เวลาเพียง 5 นาที เพื่อเรียนหัวข้อที่เฉพาะเจาะจง

“ตรงนี้จึงมีการวิจัยว่าการเรียนรู้แบบย่อเป็นการรับรู้ข้อมูลขนาดเล็กที่ช่วยให้จดจำ และเรียกกลับมาใช้ได้ดีกว่าการเรียนแบบยาว ๆ และเนื้อหามาก ๆ

ดังนั้นในปี 2019 จะเป็นปีที่จะมีการปฏิบัติ micro learning จริงจังมากขึ้น สาเหตุที่ micro learning ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในปีนี้ คือ ความคาดหวังในการเห็นผลลัพธ์ และข้อสรุปแบบทันทีทันใด รวมถึงเหตุผลที่เด็กยุคใหม่ไม่ได้สนใจการเรียนรู้แค่ในห้องเรียน”

“ที่สำคัญ ผู้ปกครองยังเปิดใจกับการเรียนแบบใหม่มากขึ้น ส่งผลให้บริษัทฝึกอบรมที่เคยทำหลักสูตรเพื่อคนทำงาน หันมาสร้างหลักสูตรวิชาต่าง ๆที่เป็นการเรียนแบบ micro learning ให้กับเด็ก ๆ เช่น ความเป็นผู้นำ การตลาด และการค้นหาข้อมูล นอกจากนั้นmicro learning ยังส่งเสริมเรื่องความยืดหยุ่นในเรื่องของเวลาอีกด้วย”

ห้องเรียนแห่งอนาคต

ในอดีตห้องเรียนเป็นที่เก็บม้านั่ง และโต๊ะเรียน แต่ปัจจุบันห้องเรียนเป็นที่ส่งเสริมการเรียนแบบยืดหยุ่น โดยมีนักเรียนเป็นศูนย์กลาง ดังนั้น โต๊ะเรียนต้องถูกออกแบบให้สามารถเข้ามุม และจัดใหม่ในตำแหน่งที่แตกต่างกันได้ตลอด โดยขึ้นอยู่กับเนื้อหาที่เรียน ทั้งแบบการจัดให้ส่งเสริมการเรียนเป็นกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนความคิด และส่งเสริมการทำงานร่วมกัน

แต่ความแตกต่างของห้องเรียนในปัจจุบันที่เห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับห้องเรียนในอดีต คือ ห้องเรียนปัจจุบันเป็นที่ที่มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากมาย ทั้งคอมพิวเตอร์ และแท็บเลต เป็นต้น ดังนั้น รอบตัวนักเรียนสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแทบทั้งหมด ปรากฏการณ์ดังกล่าวเรียกว่า the device mesh หมายถึงอุปกรณ์ไฮเทคสามารถเชื่อมโยงถึงกันเหมือนกับตาข่ายที่มองไม่เห็น

เว็บไซต์ bettshow พูดถึงแนวโน้มสำคัญที่สุด และโครงการการศึกษาใหม่ว่า ในห้องเรียนหลายโรงเรียนมีอุปกรณ์ที่สร้างการสัมผัสการเรียนรู้แบบเป็นจริงเสมือน (virtual reality-VR) ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ในปีนี้ แต่ Futuresource Consulting ทำนายว่า ปีนี้จะมีนักเรียนกว่า 70 ล้านคนทั่วโลกเข้าถึง VR เพื่อเรียนรู้แบบให้ได้รับประสบการณ์เหมือนได้สัมผัสจริง เช่น การเรียนรู้เรื่องต่างประเทศ จะทำให้รู้สึกเหมือนได้ไปเหยียบสถานที่จริง ในขณะที่ตัวอยู่ในห้องเรียน

ขณะเดียวกัน หนังสือเรียนจะมีความสำคัญน้อยลงไป แต่อุปกรณ์อย่าง Google CardBoard (แว่นให้มุมมองที่เหมือนจริง) หรือหมวกกันน็อก VR จะถูกนำมาใช้แทนที่

ดังนั้น การจะพัฒนาการศึกษาให้ประสบความสำเร็จในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับแนวโน้มอนาคตทางด้านการศึกษา เพื่อหลีกเลี่ยงอุปสรรค และการพัฒนาอย่างตรงจุด

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!