“ปิโก” พา EDUCA สยายปีก เดินเครื่องเจาะตลาดต่างประเทศ

25,000 คน เป็นตัวเลขของครูที่เข้าร่วมงานมหกรรมทางการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู หรือ EDUCA ของปี 2561 ซึ่งเป็นจำนวนที่ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยค่าใช้จ่ายในเวิร์กช็อปต่าง ๆ ของครูที่เข้าร่วมงานนี้รวมกว่า 28.8 ล้านบาท

ลึกลงไปของเม็ดเงินข้างต้น คือจำนวนเงินที่ครู “ลงทุน” ด้วยตัวเอง กับการแสวงหาความรู้และทักษะใหม่ ๆ เพราะปีนี้ EDUCA ไม่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงศึกษาธิการ และจากที่นั่งที่ถูกสำรองจนเต็ม อาจเป็นการส่งสัญญาณว่ารูปแบบและองค์ความรู้ของงาน EDUCA สามารถตอบโจทย์ความต้องการของครูได้เป็นอย่างดี

หัวหอกของการจัดงาน EDUCA “ศีลชัย เกียรติภาพันธ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) บอกว่า จากการจัดงานมาตลอด 10 ปี อาจมองเห็นภาพไม่ชัดเจนว่า ครูให้การตอบรับกับงาน EDUCA มากน้อยเพียงใด เพราะภาครัฐให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมงาน แต่เมื่องานก้าวสู่ปีที่ 11 เมื่อปีที่ผ่านมา ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ทำให้เห็นว่า ครูมี “ใจ” กับงาน EDUCA อย่างมาก

เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะองค์ความรู้จากงาน EDACA นั้นมีคุณภาพ เพราะการจัดงานแต่ละครั้งเกิดจากการมองเทรนด์การศึกษาระดับโลก พร้อมทั้งตกผลึกงานวิจัยต่าง ๆ ออกมาเป็นแนวคิดของงานในปีนั้น ๆ ขณะเดียวกัน ปิโกได้ทำงานวิจัยด้านการศึกษาของตัวเอง แล้วส่งต่องานวิจัยให้กับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยหวังให้เกิดการนำไปต่อยอดและใช้ประโยชน์ต่อ เพื่อยกระดับการศึกษาไทยให้ดีขึ้น

“ศีลชัย” มองว่า ระบบการศึกษาไทยเป็น complex system ไม่ใช่การแก้ปัญหาเพียงจุดเดียว หรือทำเพียงด้านใดด้านหนึ่ง ยกตัวอย่างนโยบายของภาครัฐที่ประกาศมาแล้วมีกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ปฏิบัติ เมื่อดำเนินงานไปได้สักระยะแล้วมีการเปลี่ยนรัฐมนตรีคนใหม่ ก็มีนโยบายใหม่เข้ามา แต่หากไปดูโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลแล้วจะพบว่ายังคงใช้นโยบายเดิม

“ในเชิงมิติของเวลา โรงเรียนบางส่วนที่อยู่ห่างไกลยังอยู่ในอดีตอยู่เลย แล้วจะนำวิธีการแก้ปัญหาใดมาใช้กับการศึกษาไทย เหมือนครูตู้ หรือครูที่ถ่ายทอดจากสถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมจากโรงเรียนวังไกลกังวล เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ในการแก้ปัญหากับโรงเรียนต่างจังหวัดได้ แต่ไม่สามารถนำมาใช้ในกรุงเทพฯได้ ดังนั้น การแก้ปัญหาโดยใช้สูตรสำเร็จเป็นไปไม่ได้ เพราะระบบซับซ้อน คนแก้ปัญหาต้องเข้าใจความซับซ้อนของปัญหาด้วย”

เพราะการศึกษาจะมองเพียงด้านเดียวไม่ได้ ทำให้การจัดงาน EDUCA ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มีหลากหลายแนวคิดเพื่อกระทุ้งให้สังคมได้ขบคิดถึงประเด็นต่าง ๆ ด้านการศึกษา โดยหัวใจหลักของงานยึดโยงไปที่ “ครู” ด้วยมุมมองว่า หากต้องการยกระดับคุณภาพการศึกษา ต้องเริ่มจากยกระดับคุณภาพครูก่อน ซึ่งถือว่ามีความเกี่ยวข้องกับนักเรียนมากที่สุด รวมทั้งมองครอบคลุมไปถึงกลุ่มครูใหญ่ด้วย

“ครูใหญ่คือคนที่เชื่อมโยงกับนักเรียนและครู โดยมีงานวิจัยระบุว่า ขณะที่ครูเกี่ยวข้องกับนักเรียน 40-50 คนในห้อง แต่ครูใหญ่ 1 คน มีความเกี่ยวข้องกับตัวโรงเรียน ครู และนักเรียน ตลอดจนสังคมที่อยู่รอบโรงเรียน ทำให้เราขยายเนื้อหาของงาน EDUCA ไปสู่กลุ่มครูใหญ่ด้วย เพื่อช่วยยกระดับการศึกษาได้ทั้งโรงเรียน”

“ไม่เพียงเท่านั้น เราได้เพิ่มเติมเวทีให้กับนักวิชาการครุศึกษาไทยและระดับโลก ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญอย่างมากในการพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศ พวกเขาต้องสร้างงานวิจัยการศึกษาที่เชื่อมโยงกับโรงเรียน และมีส่วนร่วมในการกำหนดหลักสูตร ช่วยเทรนครูประจำการ และสร้างครูใหม่เข้าระบบ โดยเป็นปีที่สองแล้วที่เราเข้ามาจับเรื่องนี้”

จากความสำเร็จของงาน EDUCA ในไทย ปิโกได้พาชื่อ EDUCA ขยายไปตลาดต่างประเทศเป็นครั้งแรกที่ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อเดือน พ.ย. 2561 โดยเป็นงานประชุมเกี่ยวกับเรื่องชุมชนเป็นโรงเรียนแห่งการเรียนรู้ (School as Learning Community : SLC) และการศึกษาปฐมวัย มีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 2,000 คน

“การจัดงานที่อินโดนีเซียนั้น เราไปในนามของเราเอง ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ปีหน้าจะจัดงานต่อเนื่องและขยายให้ใหญ่ขึ้น เป็นอีกสเต็ปในการขยายไปต่างประเทศ ส่วนประเทศอื่น ๆ ตอนนี้เป็นลักษณะของการเป็นเครือข่ายพัฒนาการศึกษา โดยส่วนตัวมองว่าธุรกิจการศึกษาในอินโดนีเซียน่าสนใจ เพราะเติบโตดี ขนาดของ economies of scale ใหญ่ และในอนาคตผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัยขึ้นไปจะมีความต้องการสูง”

“ศีลชัย” กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับงาน EDUCA ของไทยในปี 2562 จะมีความร่วมมือกับต่างประเทศมากขึ้น โดยความพิเศษคือปีนี้งานประชุมนานาชาติด้าน SLC จะมาจัดที่ไทย ดังนั้น แนวคิดของ EDUCA 2019 จะเกี่ยวข้องกับ SLC แต่กำลังอยู่ระหว่างการพูดคุยถึงความชัดเจนของรายละเอียดและธีมงาน

“แวดวงการศึกษาทั่วโลกให้ความสนใจต่อเรื่อง SLC ซึ่งเป็นมากกว่าเครื่องมือ เพราะเป็นปรัชญาหรือแนวคิดที่ไม่ได้สะท้อนถึงโรงเรียนเท่านั้น แต่เชื่อมโยงถึงชุมชนที่ต้องเข้ามามีส่วนร่วม และช่วยกันดูแลเรื่องการศึกษา เป็นการสร้างคนให้เข้าใจถึงความเท่าเทียมของสิทธิที่ตัวเองมีอยู่ในชุมชน เพื่อให้พวกเขาอยู่ร่วมกันได้ อีกทั้งยังตอบโจทย์เรื่องสิทธิความเป็นพลเมืองอีกด้วย”

เหล่านี้เป็นประเด็นที่ปิโกให้ความสำคัญ และผลักดันให้เกิดการพูดถึงบนเวที EDUCA เพื่อสร้างแรงกระเพื่อมต่อระบบการศึกษาทั้งในไทยและสากล