UTCC ชู “IDE Center” ผลิตนักรบเศรษฐกิจรุ่นใหม่

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (UTCC) จัดตั้ง IDE Center (InnovationDriven EntrepreneurshipCenter) หรือศูนย์สร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม อันเป็นการต่อยอดจากความร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งศูนย์นี้นำองค์ความรู้ของหลักการ 24 ขั้นตอนในการเป็นผู้ประกอบการ(Disciplined Entrepreneurship) ของ “บิล อูเล็ต” ผู้อำนวยการ Martin Trust Center for MIT Entrepreneurshipและอาจารย์ของ MIT Sloan School of Management มาร่วมสร้างผู้ประกอบการIDE

นอกจากนั้น ยังมีการจัดทำโปรแกรม IDE Accelerator ซึ่งทำหน้าที่พัฒนาโค้ช และผู้ฝึกอบรมสำหรับการเข้าแข่งขันการประกวดแผนธุรกิจระดับโลก 2 รายการ โดย IDE Center จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน และสร้าง Ecosystem ของการสร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรมทั้งในและภายนอกมหาวิทยาลัย

ช่วยไทยผลิตนักรบเศรษฐกิจ

“รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์” อธิการบดี ม.หอการค้าไทย ให้ข้อมูลถึง IDE Center ว่า เพราะมหาวิทยาลัยต้องการสร้างผู้ประกอบการ IDE แทน SMEs เพราะการเป็นผู้ประกอบการ IDE มีส่วนผสมของทั้ง Innovation Ca-pacity และ Entrepreneurial Capacity ซึ่งทำธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการเป็นนักรบเศรษฐกิจที่จะช่วยสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะเมื่อมีการหาสินค้า หรือทำธุรกิจใหม่ ๆ ที่สามารถตอบโจทย์อุตสาหกรรม New S-Curve

อย่างไรก็ตาม ม.หอการค้าไทยได้สร้าง Ecosystem ในมหาวิทยาลัยด้วย ทั้งสร้างห้องแล็บให้กับคณะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การทำ Maker Space รวมถึงมีการเปิดวิชา IDE 101 ซึ่งเป็นวิชาศึกษาทั่วไปของนักศึกษาปี 1 โดยจะเริ่มสอนในปีการศึกษา 2560

“เราต้องการฝึกฝนพวกเขาให้มีความคิดในการเป็นผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ซึ่งวิชานี้ไม่มีการสอบ เน้นการเรียนผ่านกิจกรรม แล้วปลายเทอมจะให้มีการพิตชิ่งโปรเจ็กต์ โดยมหาวิทยาลัยมีการสนับสนุนของรางวัล และอาจมอบเงินให้กับโปรเจ็กต์ที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด เพื่อให้พวกเขาไปต่อยอดเป็นธุรกิจจริง”

ขณะเดียวกัน ยังจัดอบรมองค์ความรู้ IDE ให้กับ 27 มหาวิทยาลัย เพื่ออาจารย์นำไปปรับใช้ในการสอนนักศึกษา พร้อมกันนี้ มีการจัดตั้ง Innovation Driven Entrepreneurship Academy ซึ่งเปิดคอร์ส IDE ในรูปแบบของการบรรยายเชิงปฏิบัติการผ่านนักธุรกิจชั้นนำของประเทศ โดยเปิดรับเป็นรุ่น รุ่นละ 80 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหลานของนักธุรกิจเข้ามาเรียน

สร้างแรงกระตุ้นผ่านกิจกรรม

ด้วยบทบาทของ IDE Center คือ การสร้าง Ecosystem ดังนั้น ทางศูนย์จึงสร้างแนวทางขับเคลื่อนผ่าน Accelerator Program ที่บ่มเพาะผู้ประกอบการหน้าใหม่ก่อนก้าวสู่เวทีระดับโลก โดย “ดร.ศักดิพล เจือศรีกุล”

ผู้อำนวยการ IDE Center ให้รายละเอียดว่าโปรแกรมนี้เป็นเหมือนหลักสูตรเร่งรัดให้กับผู้ประกอบการที่สนใจ ซึ่ง ม.หอการค้าไทยจะเปิดรับสมัครผู้ที่สนใจ และมีแผนธุรกิจอยู่แล้วเข้ามาอบรมเกี่ยวกับการพิตชิ่ง (pitching) ไอเดีย ซึ่งเหมือนเป็นการเทรน 24 ขั้นตอนในการเป็นผู้ประกอบการ เพราะจะมีโค้ชช่วยดูกระบวนการสร้างธุรกิจตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงการพิตชิ่ง

หลังจากนั้น จะให้เวลา 2 เดือนสำหรับการพัฒนาแผนธุรกิจ ก่อนที่จะคัดเลือกทีมที่มีศักยภาพไปแข่งขันในงาน MIT Enterprise Forum Startup Competition (MITEF) การแข่งขันที่เน้นด้านนวัตกรรมสำหรับผู้ประกอบการ อีกเวทีคือ Southeast Asian Social Venture Competition (SEA:SVC) ซึ่งเป็นการแข่งขันแผนธุรกิจเพื่อสังคม

“กิจกรรมเหล่านี้เป็นเหมือนปุ๋ยที่เราใส่เข้าไปใน Ecosystem เพื่อให้เกิดกลไกในการขับเคลื่อน ซึ่งนอกจาก 2 รายการแข่งขันนี้ เรายังมี IDE Networkที่เป็นการสร้างเครือข่าย IDE ให้เกิดขึ้นทั่วประเทศ โดยจะสร้างโหนด IDE ในแต่ละพื้นที่”

คนที่เป็นโหนดจะมาจากผู้ประกอบการที่มาเข้าร่วม Accelerator Program ตอนนี้มีแล้ว 26 คน โดยคนกลุ่มนี้เป็นเหมือนจุดแกนเครือข่าย แล้วนำองค์ความรู้ไปอบรมให้กับคนในโหนดของตัวเอง หากมีปัญหาหรือต้องการคำปรึกษาก็สามารถประสานมาทาง IDE Center ได้

พร้อมกันนั้น จะมีกิจกรรมกะเทาะเปลือกเป็นการประกวดแผนธุรกิจของคนจากโหนดต่าง ๆ เพื่อให้เกิดโมเมนตัมระหว่างคนที่คิด และทำเหมือนกัน เป็นการสร้างเครือข่ายที่พวกเขาจะช่วยเหลือกัน ทั้งนั้นเพราะ ม.หอการค้าไทยต้องการให้คนพื้นที่มีการใช้นวัตกรรมในการขับเคลื่อนธุรกิจด้วยเช่นกัน

เริ่มจากเล็กไปหาใหญ่

ในมุมมองเกี่ยวกับสตาร์ตอัพของไทย “ดร.เอ็ดเวิร์ด รูเบซ” ผู้อำนวยการหลักสูตร IDE Center ฉายภาพว่า ส่วนใหญ่แล้วทุกคนที่ตั้งธุรกิจใหม่ต้องการเป็นบริษัทขนาดใหญ่เลย หรืออยากกระโดดไปตลาดแมส (mass) ทันที แท้จริงแล้วหากทำธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมจะต้องมีการคิดถึงลูกค้าคนแรกหรือเจ้าแรกก่อน แล้วค่อย ๆ เติบโตไปตามสเต็ป

ยกตัวอย่างบริษัทที่ประสบความสำเร็จและเป็นที่รู้จักกันดีอย่างแอปเปิล หรืออูเบอร์ บริษัทเหล่านี้เริ่มจากตลาดเล็ก หรือประสบความสำเร็จในตลาดเฉพาะ (niche market) ก่อนที่จะขยับขยายไปสู่ตลาดแมส

“ประเทศไทยต้องใช้เวลาในการสร้าง Ecosystem เพื่อปรับ Mindset ในเรื่องนี้ ซึ่ง IDE Center เป็นแรงหนุนที่จะช่วยให้เกิดผู้ประกอบการแบบ IDE ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย และเราเดินหน้าต่อเนื่องในการทำกิจกรรมทั้งสเกลใหญ่และเล็ก”

“ล่าสุดมีโครงการ Huai Khwang Innovation District ที่เราจะเข้าไปทำงานร่วมกับชุมชน เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในเขตพื้นที่เดียวกับมหาวิทยาลัย ทั้งนี้เพราะ IDE Center ต้องการสร้างแรงขับเคลื่อนในการสร้าง Ecosys-tem ของ IDE ให้ได้มากที่สุด ซึ่งแตกต่างจากหน่วยงานอื่นที่มุ่งสร้างผู้ประกอบการเท่านั้น”


โดยหวังว่าอีก 3-5 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมี Ecosystem ดีขึ้น รวมถึงมีเครือข่ายที่สามารถเทรนเยาวชนรุ่นใหม่ก้าวมาเป็นผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมให้มากขึ้น