ดึง “จุฬา-มหิดล” เปิดหลักสูตรระยะสั้นใน “อีอีซี” เร่งพัฒนาคนยกระดับเศรษฐกิจประเทศ

เมื่อวันที่ 25 มกราคม นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนประชุมหารือร่วมกับ นายคณิต แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และคณะผู้บริหาร มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อหารือการพัฒนากำลังคนในเขตพื้นที่อีอีซี เนื่องจากในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก (อีอีซี) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเร็วๆ นี้ โดยนายกฯ เน้นย้ำให้คณะกรรมการอีอีซี พัฒนาการศึกษาในเขตพื้นที่ให้มากขึ้น ซึ่งจะต้องเชื่อมโยงกันทั้งระดับมัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และระดับมหาวิทยาลัยด้วย ซึ่งเดิมอีอีซี มี 10 ภาคอุตสาหกรรม ได้เพิ่มมาอีก 2 คือ อุตสาหกรรมการป้องกันระหว่างประเทศ และอุตสาหกรรมเกี่ยวกับเรื่องการศึกษา ที่ประชุมหารือในประเด็นข้อกฎหมายของอีอีซี ที่เดิมให้สิทธิกับมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อีอีซีเท่านั้น คือ มหาวิทยาลัยบูรพา ในการผลิตกำลังคนป้อนเข้าสู่พื้นที่อีอีซี แต่ไม่เพียงพอ เพราะมหาวิทยาลัยบูรพา มีข้อจำกัดบางอย่างที่ยังไม่สามารถผลิตกำลังคนบางสาขาวิชาได้ อีกทั้งขณะนี้มีมหาวิทยาลัยทั้งในประเทศและต่างประเทศอีกเป็นจำนวนมากต้องการเข้ามาช่วยสนับสนุนผลิตคนที่มีศักยภาพสูงให้กับอีอีซี เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) ดังนั้น จึงมีมติให้ มหาวิทยาลัยที่สนใจ ไปทำความร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยบูรพา ในการช่วยกันผลิตกำลังคน

“จากการหารือ นายคณิตยินดีที่จะให้มหาวิทยาลัยที่สนใจ มาช่วยผลิตกำลังคน เพราะขณะนี้สิ่งที่อีอีซีต้องการเร็วที่สุด คือ อยากให้เปิดหลักสูตรอบรมระยะสั้น เพื่อรองรับโรงงานที่มาเปิดใหม่ในพื้นที่ เพราะถ้าจะรอผลิตกำลังคนใหม่คงไม่ทัน จึงให้มหาวิทยาลัยที่สนใจ มาร่วมทำข้อตกลงกับทางมหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อเปิดอบรมหลักสูตรระยะสั้นให้กับคนที่ทำงานอยู่แล้ว หรือให้กับผู้ที่จบในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และปริญญาตรี เข้ามาเรียนเพื่ออัพเกรดทักษะ ยกระดับภาษาอังกฤษเฉพาะทางด้วย เพื่อให้ได้ใบประกาศนียบัตรในการฝึกอบรมที่เป็นมาตรฐานสากล เพื่อให้ได้กำลังคนที่มีศักยภาพ สามารถมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย” นพ.อุดมกล่าว

 

 

ที่มา : มติชนออนไลน์