KKU Creative Park กระตุ้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์

รายงานข่าวระบุว่า เทศกาลอีสานครีเอทีฟเฟสติวัล 2019 ที่ถูกจัดขึ้นเป็น “ครั้งแรก” ณ บริเวณศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ หรือ TCDC มหาวิทยาลัยขอนแก่นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ถือเป็นการร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่นกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA เปิดพื้นที่ที่เรียกว่า “KKU Creative Park” เพื่อรวบรวมผลงานของนักสร้างสรรค์ระดับมืออาชีพ และนักศึกษาจากหลายจังหวัดในภาคอีสานมาจัดแสดง

นอกจากจะนำเสนอผลงานของนักสร้างสรรค์แล้ว ทั้ง 2 องค์กรในฐานะผู้จัดงานยังมองเห็นโอกาสในการพัฒนาต่อยอดในมิติต่าง ๆ เช่น การขยายความร่วมมือไปยังเครือข่ายกลุ่มอื่น ๆ เพื่อนำความคิดสร้างสรรค์ด้านต่าง ๆ มาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม อันจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน และนำไปสู่การเป็น “ต้นแบบ” ของการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์สำหรับภูมิภาคอื่นต่อไป

“ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี” นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นไม่เพียงมีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาและพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญของภูมิภาคเท่านั้น แต่ยังตระหนักถึงความสำคัญของการนำความคิดสร้างสรรค์มาขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมในโลกยุคใหม่ หรือที่เรียกกันว่า “เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (creative economy)” อีกด้วย

“CEA มีแนวคิดที่จะขยายพื้นที่ให้บริการด้วยการจัดตั้ง TCDC ขอนแก่นขึ้น และถือเป็นโอกาสที่ดีของมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่มีแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่ให้กลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับการพัฒนาบุคลากรและผู้ประกอบการสร้างสรรค์ที่ครบวงจรของภูมิภาค ยิ่งไปกว่านั้นการเปิดพื้นที่ KKU Creative Park ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้งานมาเป็นเวลานานให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง”

ขณะที่ “ดร.อรรชกา สีบุญเรือง” ประธานกรรมการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) เสริมข้อมูลว่า การที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้ขยายส่วนบริการแหล่งบ่มเพาะธุรกิจสร้างสรรค์มายังภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยการจัดตั้งศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบที่จังหวัดขอนแก่นนั้น ได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นอย่างดีทั้งในด้านพื้นที่ตั้งอาคาร รวมถึงการจัดงานเทศกาลอีสานครีเอทีฟเฟสติวัล เพื่อสะท้อนภารกิจของ CEA ในด้านการส่งเสริมธุรกิจสร้างสรรค์ และการพัฒนาย่านสร้างสรรค์

“เทศกาลอีสานครีเอทีฟฯเป็นกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการพัฒนาย่านสร้างสรรค์และเปิดโอกาสให้นักสร้างสรรค์ ผู้ประกอบการ และนักศึกษาในพื้นที่ภาคอีสาน ได้แสดงศักยภาพและนำเสนอผลงานจากการนำสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้เป็นผลงานการออกแบบร่วมสมัย ตลอดจนเป็นสินค้าและบริการที่ตอบสนองทั้งธุรกิจและการเพิ่มคุณภาพชีวิต”

ด้าน “ปิลันธน์ ไทยสรวง” เจ้าของร้านภูคราม หนึ่งในนักออกแบบผ้าย้อมสีธรรมชาติจากภูพานกล่าวว่า ได้นำผ้าย้อมสีมาร่วมออกร้านในครั้งนี้ด้วย โดยผ้าแต่ละผืนได้สะท้อนความเป็นพื้นถิ่นผ่านเส้นสายลายผ้าที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ถือเป็นการเปิดตลาดใหม่ของผ้าย้อมสีอีกด้วย

“เห็นคอนเซ็ปต์ของการจัดพื้นที่น่าสนใจและครอบคลุม ทั้งยังเป็นการช่วยนำเสนอผลงานด้านการออกแบบของนักสร้างสรรค์ผลงานอีกด้วย โดยกลุ่มเป้าหมายของลูกค้าที่สนใจในงานครีเอทีฟแบบนี้จะต้องเป็นกลุ่มที่มีความเข้าใจในตัวผลงานมาก ๆ ซึ่งการเปิดพื้นที่ให้นำเสนอผลงานแบบนี้ถือว่าตอบโจทย์ เพราะปกติแล้วไม่ได้มีโอกาสมาออกบูทในพื้นที่ภาคอีสานเลย” 

สำหรับการเปิดพื้นที่ Creative Park ถือเป็นการจัดครั้งแรกในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้นักสร้างสรรค์ได้แสดงศักยภาพและสามารถเก็บเกี่ยวสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมอีสานมาแปรรูปเป็นสินค้าและบริการที่ตอบสนองทั้งธุรกิจและคุณภาพชีวิตด้วย

ยิ่งไปกว่านั้นยังทำให้ภูมิภาคแห่งนี้กลายเป็นพื้นที่ที่น่าลงทุน และดึงดูดให้หนุ่มสาวอีสานยุคใหม่หันกลับมาทำธุรกิจที่บ้านเกิดของตัวเองด้วย..

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!