Fame Lab เฟ้นหานักวิทย์ ติวเข้มภาษาแข่งเวทีระดับโลก

แอนดรูว์ กลาส ผู้อำนวยการบริติช เคานซิล ประเทศไทย

วิทยาศาสตร์เป็นศาสตร์ที่มีความซับซ้อน เมื่อต้องอธิบายเรื่องเฉพาะทาง สิ่งสำคัญที่สุดคือ “การสื่อสาร” และจะยิ่งยากเข้าไปอีกเมื่อต้องอธิบายเป็นภาษาสากล อย่างภาษาอังกฤษ ฉะนั้นผู้เชี่ยวชาญทางภาษาอย่าง บริติช เคานซิล ประเทศไทย เห็นว่าเป็นเรื่องที่ควรช่วยผลักดันให้คนไทยสนใจภาษาอังกฤษเพื่อวิทยาศาสตร์มากขึ้น จึงเกิดความร่วมมือกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมด้วย กลุ่มทรู, สวทช., สวทน., อพวช., เดอะ สแตนดาร์ด และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีระดับโลกส่งเสริมคนรุ่นใหม่ นำเสนอเรื่องวิทยาศาสตร์ Fame Lab Thailand ในไทยเป็นปีที่ 4

“แอนดรูว์ กลาส” ผู้อำนวยการบริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับเวทีนี้เป็นการแข่งขันแลกเปลี่ยนมุมมองถึงความสำคัญของการสื่อสารวิทยาศาสตร์ ที่จัดไปกว่า 30 ประเทศทั่วโลก และในปีนี้ถูกจัดขึ้นในไทย เพื่อเฟ้นหาตัวแทนประเทศไทยไปร่วมแข่งขันในงานเทศกาลวิทยาศาสตร์ระดับโลก (Chel-tenham Science Festival) ณ สหราชอาณาจักร

“ทั่วโลกมีความต้องการนักวิทยาศาสตร์มากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเป็นแรงสำคัญในการพัฒนาประเทศ ดังนั้น Fame Lab เป็นการจูงใจเด็กรุ่นใหม่ให้สนใจวิทยาศาสตร์ และอาจทำให้พวกเขาพัฒนาไปสู่สายอาชีพวิทยาศาสตร์ หรือเป็นนักวิจัยมากขึ้น ในปีนี้จึงคัดเลือก FameLab Ambassadors 3 คน เพื่อมาร่วมสื่อสารความสำคัญของวิทยาศาสตร์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศ.นพ.วรศักดิ์ โชติเลอศักดิ์ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ และผู้ได้รับทุน Newton Fund และเฌอปราง อารีย์กุล นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาเคมี วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล”

การแข่งขันครั้งนี้จะถูกจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 11 พฤษภาคม 2562 ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มเปิดรับสมัครแล้ว โดยผู้ที่สนใจสามารถร่วมส่งวิดีโอบอกเล่าวิทยาศาสตร์รวม 3 นาที ผ่านทางเว็บไซต์  www.britishcouncil.or.th/famelab ได้ตั้งแต่วันนี้-22 มีนาคม 2562 ผู้สมัครต้องมีสัญชาติไทย อายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไปและกำลังศึกษาหรือทำงานในสายงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ (STEM)

“แอนดรูว์” อธิบายต่อว่า บริติช เคานซิล ไม่เพียงผลักดันการสื่อสารภาษาอังกฤษเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์เฉพาะในเวทีนี้เท่านั้น โดนขณะนี้ได้เริ่มวางแผนสำหรับโปรแกรมใหม่ที่จะจัดขึ้นในเดือนหน้าคือ Researcher Connect โดยร่วมกับหลายมหาวิทยาลัยใน กทม., หาดใหญ่, ขอนแก่น และเชียงใหม่ เพื่อพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษให้กับนักวิจัย และอาจารย์ที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอก และกำลังจะนำเสนอผลงานวิจัยเพื่อขอทุนที่จำเป็นต้องมีทักษะการใช้ภาษาอังกฤษที่ดีในการทำให้เกิดอิมแพ็กต์ โดยครั้งนี้จะจัดถึง 4 รอบ

ด้าน “รศ.สรนิต ศิลธรรม” ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า นักสื่อสารวิทยาศาสตร์เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ได้มากขึ้น

ขณะที่ “ดร.กันทิมา กุญชร ณ อยุธยา” ผู้ช่วยบริหารงาน ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่มทรูร่วมส่งเสริมโครงการมาตั้งแต่ปีแรก ด้วยการนำเทคโนโลยีที่เรามีมาสร้าง social movement กระจายองค์ความรู้ให้กว้างขึ้น สนับสนุนการประชาสัมพันธ์โครงการให้ไปถึงกลุ่มเป้าหมาย ผ่านช่องรายการของทรูวิชั่นส์, true4You, TNN 24, true ปลูกปัญญา รวมถึงโซเชียลมีเดียของกลุ่มทรูอีกด้วย

การให้ความสำคัญในการสื่อสารวิทยาศาสตร์ครั้งนี้ ถือเป็นการส่งสัญญาณว่า แม้กระทั่งบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงนี้ก็สามารถเข้าถึงและเข้าใจความยากของวิทยาศาสตร์ได้