PIM เปิดสาขาใหม่ที่พัทยา เร่งเดินหน้าสร้างคนรับ EEC

จุดเด่นและความเข้มแข็งของสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) ที่รู้จักกันดีคือการเรียนรู้ควบคู่กับการฝึกปฏิบัติงาน หรือ work-based education ซึ่งเป็น 1 ใน 3 วิสัยทัศน์ของ PIM ที่ยังมีเรื่องของการเป็น networking university ที่เดินหน้าสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และ advance and dynamic university ในการสร้างมหาวิทยาลัยให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์” อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) เพื่ออัพเดตถึงการเติบโตของ PIM รวมถึงมุมมองใหม่ ๆ ทางด้านการศึกษาที่กำลังจะเกิดขึ้น

Q : PIM มีการปรับตัวอย่างไรในยุคที่เทคโนโลยีดิสรัปชั่น

เรามุ่งการเรียนการสอนด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพราะการก้าวสู่ยุค 5.0 ทำให้เรามองว่าจะผลิตคนอย่างไรให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงในยุค 5G หรือทำอย่างไรให้คนที่เราผลิตขึ้นมาไม่ถูก disrupt หรือสู้กับโรบอตได้

ในแง่ของ PIM เราจึงต้องผลิตคนหรือนักศึกษาที่โดดเด่นกว่าเทคโนโลยี โดยพัฒนาเขาให้มีความมุ่งมั่นสูง มีแรงบันดาลใจ จิตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงการมีทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ ตัวแปรเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราต้องติดอาวุธให้กับคนรุ่นใหม่ เพราะเป็นเครื่องมือที่มุ่งไปสู่การคน 5.0 หรือสร้าง smart people

Q : ปรับกระบวนการสอนอย่างไร

มีการสอดแทรกเรื่องอินเทอร์เน็ต หรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้าไปในทุกวิชาโดยสร้างรากฐานด้าน AI แต่ไม่ได้หมายความว่าเราต้องผลิตนัก AI ในทุกคณะ คือคุณต้องใช้เป็น เพราะงานในอนาคตต้องอิงกับสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว

เหมือนเราติดอาวุธทางเทคโนโลยี เพราะในอนาคตเมื่อโรบอตเข้ามา ก็ต้องคิดว่าทำอย่างไรให้คนทำงานร่วมกับเทคโนโลยีได้อย่างสมดุล สำหรับเรื่องนี้เราเตรียมพร้อมด้านบุคลากรหรืออาจารย์ผู้สอนด้วยการอบรมเพิ่มเติม โดยเปิด mindset ให้เขายอมรับว่าที่นี่เป็นสถาบันที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีเป็นหลัก ทำให้การเรียนการสอนที่เคยมีอยู่ปรับเปลี่ยนตามไปด้วย

Q : ต้องหาโมเดลการเรียนแบบใหม่หรือไม่

เรื่องที่กำลังคิดและทำในอนาคตคือการศึกษาตลอดชีวิต ไม่ว่าคุณจะอยู่ในวัยไหนก็ตามสามารถมาเรียนได้ไม่ว่าจะเป็นการเรียนในห้องเรียน หรือเรียนผ่านออนไลน์ ซึ่งแนวทางที่เราดำเนินการไปแล้วเมื่อปีที่ผ่านมาคือจัดทำหลักสูตรออนไลน์ เริ่มด้วยหลักสูตรการค้าสมัยใหม่ที่เป็นภาพใหญ่ของเรา เป็นการเรียนจบคอร์สแล้วได้ประกาศนียบัตร และกำลังคิดต่อยอดไปถึงการเรียนแล้วได้ดีกรีหรือปริญญา โดยการเรียนหลักสูตรออนไลน์นั้น ด้วยความที่กระทรวงศึกษาธิการให้การสนับสนุนอยู่แล้ว ทำให้มหาวิทยาลัยทำงานง่ายขึ้น

อีกเรื่องคือการเรียนการสอนเฉพาะบุคคล มาจากการเล็งเห็นว่าปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่ไม่ได้อยากเรียนคณะใดคณะหนึ่งโดยเฉพาะ อยากจะเรียนอะไรที่ผสมผสานกัน สอดคล้องกับเทรนด์การเรียนการสอนของต่างประเทศที่ไม่ได้ยึดติดกับสาขาวิชาแล้ว เราจึงต้องขยับมาทำเรื่องนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้เด็กรุ่นใหม่ให้เขามีความคล่องตัวสูงขึ้นในการเรียน โดยตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างการทำหลักสูตร คาดว่าจะเริ่มได้ในปีการศึกษา 2562

Q : จากสถานการณ์จำนวนเด็กลดลงกระทบกับ PIM มากน้อยเพียงใด

สถาบันของเราไม่ได้รับผลกระทบเลยเพราะยังได้เด็กใหม่ตามเป้าคือปีละ 4,000 คน โดยปัจจุบันมีนักศึกษากว่า 17,000 คน อีกทั้งเรากำลังขยายอาคารเพื่อรองรับนักศึกษาที่เพิ่มขึ้นด้วย โดยกำลังก่อสร้างอาคาร 20 ชั้น ภายในตึกมีทั้งพื้นที่สำหรับทำการเรียนการสอน ห้องแล็บ รวมถึงอะคาเดมีใหม่ ๆ เฉพาะทางที่จะเกิดขึ้น ตลอดจนเป็นออฟฟิศด้วย

โดยเรากำลังขยายพื้นที่ไปพัทยาเป็นพื้นที่ประมาณ 100 ไร่ ติดกับสวนนงนุช ภายใต้ชื่อสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ อีอีซี ขณะนี้อยู่ระหว่างการขออนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) คาดว่าจะสามารถเปิดการเรียนการสอนได้ในปีหน้า ซึ่งไม่อยากให้มองว่าเป็นวิทยาเขตใหม่ อยากให้มองว่าเป็นพื้นที่ขยายจากแจ้งวัฒนะมากกว่า

ทั้งนี้ การเข้าไปในพัทยา เป็นเพราะเรามองถึงการผลิตคนเพื่อตอบสนองความต้องการใน EEC ที่เขาต้องการคนที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีสูง ดังนั้น หลักสูตรที่จะเข้าไปเปิดก่อนคือวิศวกรรมศาสตร์ ทั้งระบบรางและหุ่นยนต์ หลังจากนั้นจะเป็นหลักสูตรด้าน wellnessซึ่งด้วยโลเกชั่นของพัทยา คาดว่าเด็กต่างชาติน่าจะชอบ เราจึงมองว่าอาจจะมีการเปิดหลักสูตรนานาชาติด้วย

Q : บทบาทของมหาวิทยาลัยในอนาคต

เรื่องแรกคือหลักสูตรที่ต้องทำให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น มหาวิทยาลัยต้องรุกเร็ว ถอยเร็ว และปรับตัวเร็วซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก คือคุณจะช้ามากไม่ได้กับทุกเรื่อง ถ้าคุณช้ามากเมื่อไร ต้องออกจากสนาม ขณะเดียวกัน ควรมองถึงการสร้าง student oriented หรือ student centric เพื่อให้นักศึกษาเป็นศูนย์กลาง โดยให้เขาเป็นคนเลือกเอง ไม่ต้องเรียนตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด

เพราะเด็กรู้ตัวเองดีว่าการเรียนรู้ระดับไหนที่เขาพอใจ หรือองค์ความรู้แบบไหนที่เป็นประโยชน์กับเขา และสามารถนำไปทำมาหากินได้ ทำให้เขาต้องการแนวทางที่ตัวเองได้ออกแบบหลักสูตรตามที่ต้องการมากกว่า ซึ่งหน้าที่สำคัญที่สุดของสถาบันการศึกษาคือทำอย่างไรให้พวกเขามีความขวนขวายและใฝ่รู้ หรือเปลี่ยน mindset ให้เขาเป็นมนุษย์พันธุ์ใหม่ที่มีความสามารถ และช่วยเหลือตัวเองได้

โดยมหาวิทยาลัยอาจไม่ต้องไปติดอาวุธให้เขาทุกชนิด แต่ต้องติดอาวุธทางปัญญาให้เขา ทำให้เขาคิดเป็นทำเป็น ซึ่งเมื่อถึงจุดหนึ่งผมคิดว่ามหาวิทยาลัยจะไม่มีความหมายเลย เพราะระบบการศึกษาในอนาคตนั้น เส้นแบ่งต่าง ๆ จะหายไปหมด เด็กสามารถเลือกเรียนในสิ่งที่คุ้มค่ากับเวลาของเขา ฉะนั้น มหาวิทยาลัยต้องสร้างองค์ประกอบต่าง ๆที่สามารถตอบสนองความต้องการของคนรุ่นใหม่ให้ได้มากที่สุด