สสส.ยกระดับศูนย์เด็กเล็ก พัฒนาสู่ศูนย์เรียนรู้ทั่วไทย

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และโครงการสร้างเสริมศักยภาพภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อสุขภาวะเด็กปฐมวัย (COACT) จัดการประชุมวิชาการ “การขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย” โดยมีผู้บริหารท้องถิ่น ครูปฐมวัย เจ้าหน้าที่ ผู้เกี่ยวข้องและเครือข่ายสถานพัฒนาเด็กจากทุกภูมิภาคเข้าร่วม

“ณัฐยา บุญภักดี” ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็กเยาวชนและครอบครัว สสส.ฉายภาพว่า สุขภาวะที่ดีต้องเริ่มลงทุนในวัยเริ่มต้นของชีวิตหรือช่วงปฐมวัย ซึ่งอีกไม่กี่ปีข้างหน้าไทยจะเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ คนวัยแรงงานต้องดูแลผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นควบคู่กับการดูแลเด็กปฐมวัยที่จะเป็นวัยแรงงานในอนาคต ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการเลี้ยงดูเด็กให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง

ที่ผ่านมา สสส.ได้ร่วมกับโครงการ COACT สนับสนุนการพัฒนาคุณภาพศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และยกระดับเป็นศูนย์เรียนรู้ 23 แห่ง พร้อมมีเป้าหมายจะขยายเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพื่อให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหลายหมื่นแห่งทั่วประเทศเข้าถึงการพัฒนาเชิงระบบอย่างมีคุณภาพ

“สสส.อยากเห็นการทำงานเชิงระบบที่มีกลไกขับเคลื่อนให้เกิดผลลัพธ์เชิงองค์รวมของชีวิตเด็ก โดย สสส.จะร่วมสนับสนุนข้อมูลวิชาการผ่านการให้ครอบครัว ชุมชน ท้องถิ่นเป็นฐานรวมถึงสร้างความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถื่น เพื่อให้เกิดนโยบายที่ทันยุคทันสมัย และเกิดเครือข่ายปฐมวัยที่เข้มแข็ง”

ในช่วงเสวนาทิศทางการขับเคลื่อนคุณภาพเด็กปฐมวัยระดับท้องถิ่น “ทองล้วน เรืองใส” นักวิชาการศึกษา เทศบาลตำบลโนนสูงเปลือย จังหวัดหนองบัวลำภูกล่าวว่า การพัฒนาเด็กปฐมวัยของเทศบาลตำบลโนนสูงเปลือยให้ความสำคัญกับการพัฒนาครูในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อน เพราะครูเป็นต้นทางที่จะถ่ายทอดความรู้และสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อนำไปพัฒนาเด็กปฐมวัยอีกทอดหนึ่ง

“เทศบาลของเรานำแนวทางการพัฒนาโดยการเทียบระดับ (benchmarking) กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่เป็นศูนย์เรียนรู้ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศมาใช้อบรมพัฒนาครูของเราให้มีความสามารถในการจัดกิจกรรมที่เหมาะสมสำหรับเด็ก ขณะเดียวกัน ยังบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สาธารณสุขจังหวัดในด้านโภชนาการ”

“จากการทำงานที่ผ่านมา ได้รับเสียงสะท้อนว่าเด็กที่ออกจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และเข้าเรียนต่อในระบบการศึกษา เด็กมีพัฒนาการที่ดี โรงเรียนไม่ต้องใช้เวลาเตรียมความพร้อมหรือปรับพื้นฐาน ครูสามารถสอนวิชาการให้เด็กได้เลย”

“รศ.ดร.จุฑามาศ โชติบาง”ผู้จัดการโครงการ COACT ให้ความเห็นถึงการพัฒนาเด็กปฐมวัยว่ามหาวิทยาลัยในแต่ละจังหวัดควรเข้ามามีบทบาทในการเชื่อมโยงการทำงาน เพื่อให้เกิดการบูรณาการทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมกันขับเคลื่อนระบบและกลไกในระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับตำบล

โดยคณะอนุกรรมการด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัยและภาคีเครือข่ายได้ร่วมกำหนดวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่ชัดเจนและสอดคล้องกับบริบท ทำให้เกิดการพัฒนาระบบทั้ง 5 ด้าน คือ 1) การบริหารจัดการ 2) การจัดการสิ่งแวดล้อม 3) การจัดหลักสูตรการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ 4) การดูแลสุขภาพเด็ก และ 5) การมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชน

“นักวิชาการมีบทบาทสำคัญที่จะทำให้คณะอนุกรรมการและภาคีเครือข่ายเกิดการทำงานที่เชื่อมโยงกันเป็นการทำให้ทุกภาคส่วนร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมเรียนรู้ เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก คือ ทำให้พวกเขามีการเจริญเติบโต มีพัฒนาการสมวัย และมีคุณภาพชีวิตที่ดี”