หลักสูตร CUTIP จุฬาฯ เรียนข้ามศาสตร์เพื่อสร้างนวัตกรรม

ต้องยอมรับว่าหลักสูตรธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CUTIP) ที่เกิดจากการบูรณาการศาสตร์ ด้วยการนำเอาองค์ความรู้จาก 5 คณะของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งประกอบด้วย คณะวิทยาศาสตร์, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์, คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี, คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะนิเทศศาสตร์ ตลอดจนคณะอื่น ๆ มาเชื่อมโยงกัน เพื่อมุ่งพัฒนานวัตกร หรือสร้างบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถทางด้านธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม

ทั้งยังรู้จักวิธีมองหาเทคโนโลยีใหม่ เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นนวัตกรรม สร้างให้เกิดเป็นธุรกิจใหม่ออกสู่ตลาด หรือต่อยอดในธุรกิจเดิมที่มีอยู่แล้ว โดยเป็นหลักสูตรในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก ที่เปิดการเรียนการสอนมากว่า 13 ปี

“รศ.ดร.ธรรมนูญ หนูจักร” คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หลักสูตร CUTIP เป็นหนึ่งในหลักสูตรที่จัดการเรียนการสอนรูปแบบของสหสาขาวิชา เกิดจากความร่วมมือเริ่มต้นของ 5 คณะ ที่ประกอบด้วย คณะวิทยาศาสตร์, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์, คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี, คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะนิเทศศาสตร์ ซึ่งเปิดการเรียนการสอนมากว่า 13 ปี

“การคิดหลักสูตรธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือเป็นการมองการณ์ไกลถึงอนาคต เพราะเชื่อว่าการที่จะยกระดับเศรษฐกิจของประเทศไทยให้มีความก้าวหน้า จำเป็นต้องมีเรื่องนวัตกรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 ที่มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม จึงนับได้ว่าหลักสูตรนี้เป็นผู้ริเริ่มการสร้างนักนวัตกร”

“ปัจจุบันหลักสูตรนี้เปิดการเรียนการสอนมากว่า 13 ปี ผลิตบัณฑิตไปแล้วกว่า 500 คน โดยจุดเด่นของหลักสูตร คือ ความเป็นสหสาขาวิชา และโครงสร้างของหลักสูตรที่สามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้ ผลงานวิจัย ผลงานทางวิชาการ และคณาจารย์จากทุกสาขาทุกคณะของจุฬาฯ มาพัฒนาตรรกะและมุมมอง ตลอดจนกระบวนการเรียนรู้ให้กับนิสิตของหลักสูตร เพื่อให้ได้เรียนรู้การทำธุรกิจจากเทคโนโลยี หรือการนำเอาเทคโนโลยีไปต่อยอดในกิจการเดิมอย่างมีมิติและลึกซึ้ง”

“อีกทั้งนิสิตในหลักสูตรนี้จะมีอาจารย์ที่ปรึกษามาจากต่างคณะกัน ทั้งยังเป็นผู้เชี่ยวชาญมากกว่าหนึ่งศาสตร์ จึงทำให้เกิดการผสมองค์ความรู้ และเพิ่มพูนศักยภาพครบทุกด้าน ทำให้เกิดความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจจากเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม”

“รศ.ดร.ธรรมนูญ” กล่าวอีกว่า หลักสูตรนี้นิสิตยังสามารถสร้างผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ เทคโนโลยี ตลอดจนการนำองค์ความรู้ที่สนใจนำไปเป็นโจทย์ในการทำงานโครงการ หรืองานวิจัยของตนเองได้จากทุกคณะของจุฬาฯ ทั้งยังมีกระบวนการเข้าไปสนับสนุนนิสิต ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นของการพัฒนาธุรกิจ จนออกมาเป็นแผนธุรกิจ และการผลักดันให้แผนธุรกิจนั้นสามารถออกไปสู่การเป็นบริษัทนวัตกรรม หรือเริ่มต้นธุรกิจได้

“การที่หลักสูตรนี้รวมเอาศาสตร์ทางด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม การบริหารจัดการ เข้ามาไว้ด้วยกัน เพราะการจะทำให้เกิดนวัตกรรมได้จะต้องมีคนเก่งเรื่องของเทคโนโลยี และการจะก้าวไปสู่นวัตกรรม ต้องมีผู้ที่เข้าใจเรื่องการบริหารจัดการ เพื่อให้เกิดเป็นมูลค่าในเชิงพาณิชย์ หรือออกไปสู่สังคม”

“ขณะเดียวกัน อาจารย์ที่ปรึกษาต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญที่มาจากด้านเทคโนโลยี ด้านธุรกิจ และด้านการพัฒนานวัตกรรม ซึ่งส่วนผสมของทีมอาจารย์ทั้ง 3 จะทำให้เราสามารถสร้างบัณฑิตที่มีคุณสมบัติ และองค์ความรู้ครบทั้ง 3 ด้านด้วย”

“ศ.ดร.นงนุช เหมืองสิน” ผู้อำนวยการหลักสูตรธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า หลักสูตร CUTIP เป็นหลักสูตรที่ออกแบบมาเป็นพิเศษสำหรับพัฒนานักนวัตกร เพื่อให้สามารถสร้างนวัตกรรม ตั้งแต่ต้นน้ำไปยังปลายน้ำ โดยเริ่มตั้งแต่การรับฟังปัญหาที่แท้จริงของผู้บริโภค จากนั้นจึงนำมาวิเคราะห์ เพื่อหาวิธีการแก้ไขที่เหมาะสม

“โดย solutions นั้นจะเป็นการแก้ปัญหาด้วยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ได้มาจากงานวิจัยในมหาวิทยาลัย หรือการสังเคราะห์สิทธิบัตรที่มีอยู่ทั่วไปมากมาย ซึ่งผู้วิเคราะห์จะต้องมีองค์ความรู้เพียงพอที่จะรู้ได้ว่าเทคโนโลยีไหนทำได้ หรือทำไม่ได้ในเชิงพาณิชย์ รวมไปถึงการวิเคราะห์มูลค่าทางการตลาด การสร้างโมเดลทางธุรกิจ ไปจนถึงขั้นตอนของการออกแบบผลิตภัณฑ์ และบริการที่ยอมรับของผู้บริโภค”

“ตลอดระยะเวลา 13 ปีที่ผ่านมา นิสิตทั้งระดับปริญญาโทและเอก ที่เข้ามาเรียนหลักสูตร TIP จะมีอยู่ 3 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มทายาทธุรกิจ หรือทายาทของผู้ประกอบการ ที่มาหา connectionใหม่ ๆ หรือโซลูชั่นใหม่ที่จะนำมาปรับปรุงธุรกิจที่ทำกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ เพื่อให้เติบโตต่อไปอย่างยั่งยืน 2) กลุ่มผู้บริหารที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ เอกชน ที่ส่งคนมาเรียนเพื่อเอาความรู้ไปพัฒนาองค์กรของตัวเอง และ 3) กลุ่มคนทั่วไปที่แสวงหานวัตกรรมหรือธุรกิจใหม่”

“สำหรับการคัดเลือกนิสิตที่จะเข้ามาศึกษาในหลักสูตรนี้ เราจะเน้นที่คุณภาพมากกว่าจำนวน อย่างในระดับปริญญาโทรับ 40 คน ปริญญาเอก รับ 30 คน ซึ่งอัตราการแข่งขันอยู่ที่ 3 ต่อ 1 ซึ่งในจำนวนดังกล่าวจะทำให้นิสิตได้รับการบ่มเพาะจากอาจารย์ที่ปรึกษา และทีมคณาจารย์ผู้สอนอย่างเต็มที่ เพราะการเรียนการสอนของหลักสูตรส่วนใหญ่จะเน้นการทำเวิร์กช็อป ที่ไม่ใช่แค่นั่งเรียนแบบเดิมเท่านั้น”

“ทั้งนี้ แม้ว่าหลักสูตร CUTIP จะเปิดการเรียนการสอนมากว่า 13 ปีแล้ว แต่เนื้อหาของหลักสูตรมีการปรับปรุงให้สอดรับกับสถานการณ์ และธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งยังร่วมกับภาคเอกชนในการจัดทำหลักสูตร เพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการของอุตสาหกรรม ตลอดจนทำให้เกิดการเชื่อมโยงกับหลักสูตร หรือคณะอื่น ๆ อย่างนิสิตในคณะแพทย์ที่อยากจะเปลี่ยนงานวิจัยทางการแพทย์มาเป็นนวัตกรรมที่ขายได้ ซึ่งตรงนี้ถือเป็นเรียนรู้และการพัฒนาข้ามศาสตร์ร่วมกันมากขึ้น”

ถึงตรงนี้ “ดร.ธรรมนูญ” กล่าวว่า ในหลักสูตรนี้นอกจากผู้เรียนใน 3 กลุ่มแล้ว ปัจจุบันมีกลุ่มที่ 4 เข้ามาเรียนมากขึ้น คือ กลุ่มที่เป็น reeducationrelearning ซึ่งกลุ่มคนที่ทำงานมาแล้ว เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ และมีทักษะมากมาย โดยกลุ่มนี้จะมาเรียนเพิ่มเติม เพื่อหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ของตัวเอง ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้เกิดการปรับปรุงหลักสูตรสอดรับกับการเรียนรู้แบบ lifelong learning

อันสอดคล้องกับนโยบายของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ไม่เพียงจัดการเรียนการสอนแบบเต็มเวลา จนได้รับปริญญาเท่านั้น แต่ยังมีการเรียนการสอนแบบเครดิตแบงก์ และการเรียนแบบเฉพาะรายวิชา โดยทุกหลักสูตรต้องจัดการเรียนการสอนทั้ง 3 รูปแบบอีกด้วย

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!