สพฐ.ไม่ติดใจกฤษฎีกาฟื้น “ครูใหญ่” นักวิชาการค้าน

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการกฤษฎีกามีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ… … ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นประธานเห็นชอบให้กำหนดไว้ในกฎหมาย โดยปรับการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ มาเป็น ออกใบรับรองความเป็นครู เพื่อให้ชัดเจน ว่าครูเป็นผู้มีฐานะอันสูงส่ง มากกว่าความเป็นวิชาชีพชั้นสูง และให้การเปลี่ยนชื่อตำแหน่ง ผู้บริหารสถานศึกษา จาก ผู้อำนวยการโรงเรียน มาเป็น ครูใหญ่ ว่า ตนทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว แต่ยังไม่ถือว่าเป็นข้อสรุป เพราะยังเหลืออีกหลายขั้นตอน อย่างไรก็ตามส่วนตัวเห็นว่า การเปลี่ยนชื่อตำแหน่งจากผู้อำนวยการโรงเรียน มาเป็นครูใหญ่ ก็ถือเป็นเรื่องดี สามารถอธิบายบทบาทการทำงานในฐานะ ผู้ที่รับผิดชอบสถานศึกษาได้ชัดเจน ทั้งนี้ ก่อนมีมติดังกล่าวทางคณะกรรมการกฤษฎีกาเอง ก็ได้เชิญผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปสอบถามความคิดเห็น โดย สพฐ. เองก็ไม่ได้ทักท้วง หรือมีความเห็นด้วย ไม่เห็นด้วยและไม่มีข้อติดใจ เพราะสาระสำคัญของกฎหมายที่แท้จริง อยู่ที่เนื้อหาในกฎหมาย ที่จะทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพการศึกษา
นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วย เพราะข้อเสนอดังกล่าว ทำให้ภาพกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กลับมาสู่ความโบราณสะท้อนวิธีคิดแบบอนุรักษนิยม ขณะที่โลกเดินหน้าไปสู่บทบาทใหม่ ซึ่งการให้ครูมีใบอนุญาตฯ เป็นเรื่องที่มีความเหมาะสม และเข้ากับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การย้อนกลับไปสู่ยุคที่ผ่านมาแล้ว ทำให้ดูเหมือนว่า ครูเป็นวิชาชีพที่ไม่มีความเปลี่ยนแปลง อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังไม่ถือเป็นสาระสำคัญ ที่จำเป็นจะต้องกำหนดไว้ในกฎหมายการศึกษาแห่งชาติ เพราะยังมีปัญหาอื่นที่สำคัญมากกว่าการเปลี่ยนชื่อตำแหน่งให้ทำอีกมาก ดังนั้น จึงค่อนข้างน่าผิดหวังที่มีการเสนอเรื่องนี้ขึ้นมา

 

ที่มา : มติชนออนไลน์