“สจล.” ยกเครื่อง FAM ชูแผน 5P 1N ปักธงท็อปอาเซียน

ถึงแม้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะเป็นศาสตร์ที่สร้างความแข็งแกร่งให้กับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) มาอย่างยาวนาน กระนั้น ด้วยความที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้เปิดสอนในศาสตร์ด้านสังคมเช่นกัน จึงทำให้หลายคณะเริ่มขยับตัว เพื่อสร้างความโดดเด่นให้กับ สจล.มากยิ่งขึ้น

ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้คือ คณะการบริหารและจัดการได้ขยับองคาพยพทั้งระบบ โดยผุดแผนการดำเนินงานที่จะนำคณะก้าวไปสู่ระดับต้น ๆ ของอาเซียน และโลก ด้วยนโยบาย From FAM (Faculty Administration and Management) to FAMOUS

ตั้งเป้าจำนวน นศ.โตกระโดด

“ดร.สุดาพร สาวม่วง” คณบดีคณะการบริหารและจัดการ สจล. ให้รายละเอียดถึงนโยบายดังกล่าวว่า FAMOUS เป็นคำย่อมาจาก family, ability, management,outstanding, universal และ standardizeกล่าวคือ ทุกคนในคณะจะร่วมมือกันพา FAM ให้มีความเข้มแข็งเทียบชั้นระดับประเทศ อาเซียน และระดับโลก ผ่านการบริหารแบบมืออาชีพ ซึ่งจะนำเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย และตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายมาใช้จัดการการเรียนการสอนอย่างสร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพ

โดยตั้งเป้าว่าหลักสูตรของคณะต้องผ่านเกณฑ์การประกันคุณภาพการศึกษาจาก ASEAN University Network (AUN) และ Association to Advance Collegiate Schools of Business (AACSB) เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความสามารถ และมีสมรรถภาพให้กับตลาดแรงงาน

“ตอนนี้เรากำลังก่อสร้างอาคารแห่งใหม่ ลงทุนไปกว่า 124 ล้านบาท เป็นตึก 5 ชั้น ที่มีห้องเรียนแบบ smart classroom และ co-working space รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่จะสนับสนุนให้นักศึกษาเกิดแนวคิดเชิงนวัตกรรม คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2563 เพื่อรองรับจำนวนนักศึกษาที่จะขยายตัว โดยตั้งเป้าว่าปี 2564 จะต้องมีนักศึกษาเพิ่มขึ้น 50% จากปัจจุบันมีจำนวนอยู่ที่ 1,754 คน”

ทั้งนั้น การจะไปสู่เป้าหมายต่าง ๆ ที่วางไว้จะใช้หลักการบริหาร 5 P กับ 1 N คือ product สร้างหลักสูตรพันธุ์ใหม่, place การเรียนแบบออนไลน์ และ city campus, promotion การตั้งเอเย่นต์ในต่างประเทศ, people เพิ่มสัดส่วนอาจารย์ชาวต่างชาติ, processจัดตั้ง profit center เพื่อหารายได้เข้าคณะและ networking ซึ่งจะสร้างความร่วมมือกับคณะอื่น ๆ ในมหาวิทยาลัย และภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม

ปั๊มหลักสูตรจับทุกกลุ่มเป้าหมาย 

ในส่วนของการพัฒนาหลักสูตร “ผศ.ดร.สิงหะ ฉวีสุข” รองคณบดีคณะการบริหารและจัดการ สจล. กล่าวว่า ปัจจุบันมีหลักสูตรภาษาไทย และหลักสูตรนานาชาติ ครอบคลุมทั้งหลักสูตรบริหารธุรกิจ, เศรษฐศาสตร์ธุรกิจและการจัดการ, การจัดการกีฬาและสื่อบันเทิง และการจัดการธุรกิจอุตสาหกรรม โดยพยายามผลักดันจำนวนหลักสูตรอินเตอร์มากขึ้น ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำหลักสูตร digital economy ของระดับปริญญาตรี

“อีกหนึ่งหลักสูตรที่ถือว่าเป็นแห่งแรกของไทย คือ ปริญญาตรี 2 ปี เป็นหลักสูตรอินเตอร์ที่รับนักเรียนที่จบอาชีวศึกษาจากต่างประเทศ รวมถึงนักเรียนอาชีวศึกษาของไทยที่มีความสนใจก็สามารถเข้าศึกษาหลักสูตรนี้ได้เช่นกัน โดยเรียนด้านวิชาการ 1 ปี และฝึกงานอีก 1 ปี”

นอกจากนี้ ยังมีหลักสูตร sandwich degree เป็นหลักสูตร 2 ปริญญา ด้วยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศอย่าง MIT Sloan, King”s College และ University of Oxford รวมถึงมีหลักสูตร 3 ปริญญา สำหรับนักเรียนอาชีวศึกษาที่มาเรียนต่อปริญญาตรี 2 ปี เมื่อจบแล้วเรียนต่อปริญญาโททันทีอีก 2 ปี ซึ่งเรียนที่ สจล. และ University of Nevada ประเทศสหรัฐอเมริกา

“ผศ.ดร.สิงหะ” กล่าวอีกว่า สจล.ยังเน้นการสร้าง multidisciplinary degree หรือนำ 2 ศาสตร์มารวมกัน เบื้องต้นจะนำหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์, เทคโนโลยีการเกษตร และเทคโนโลยีสารสนเทศ มาผนวกกับหลักสูตรบริหารธุรกิจ เพื่อให้นักศึกษามี mindset ในศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง แล้วนำไปต่อยอด รวมถึงออกแบบ corporate-based degree ผลักดันให้นักศึกษาได้เรียนและทำงานกับสถานประกอบการ เพื่อจบมาแล้วสามารถปฏิบัติงานได้ทันที

“ยิ่งกว่านั้น เรายังมีหลักสูตรออนไลน์ที่เป็น training course สำหรับกลุ่มวัยทำงานที่ต้องการอัพทักษะของตัวเอง โดยสามารถเก็บเป็นหน่วยกิต และเทียบโอนเป็นรายวิชาได้ ในกรณีที่ต้องการศึกษาต่อระดับปริญญา ซึ่งหลักสูตรที่เปิดสอนมีทั้ง fintech, blockchain, data analytic เป็นต้น เรียกได้ว่าทุกหลักสูตรที่เราทำนั้นจะสอดรับกับการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่จริง ๆ”

รุกเจาะตลาดต่างประเทศ

“ผศ.ดร.สุทธิ สูอำพัน” รองคณบดีคณะการบริหารและจัดการ สจล. ฉายภาพถึงการรับนักศึกษาต่างชาติว่า ปกติแล้วเป็นลักษณะของการทำความร่วมมือ หรือทำ MOU กับมหาวิทยาลัยต่างประเทศซึ่งทางคณะมองว่าเมื่อมีจุดแข็งด้านวิชาการแล้ว จะทำอย่างไรเพื่อให้จุดแข็งที่มีเป็นที่รับรู้ของนักศึกษาต่างชาติมากขึ้น

“เราจึงขยับมาทำตลาดต่างประเทศ เพราะเมื่อมีการเปิดหลักสูตรนานาชาติแล้ว ต้องเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายให้ได้มากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาเราไม่เคยทำงานเชิงรุกไม่ว่าจะเป็นการไป open house หรือตั้งเอเย่นต์ต่างประเทศ แต่ปีนี้เป็นต้นไป เราจะหันมาทำเรื่องนี้เต็มตัว โดยมองตลาดจีนและเมียนมาเป็นหลัก”

“เดือน ส.ค.นี้จะเปิดหลักสูตรบริหารธุรกิจสำหรับโปรแกรมภาษาจีนในระดับปริญญาตรี เพื่อรองรับนักศึกษาจีนที่จะทยอยเข้ามา ซึ่งเราเพิ่งเริ่มเปิดหลักสูตรนานาชาติเพียง 3 ปี มีจำนวนนักศึกษาต่างชาติไม่ถึง 10% ของนักศึกษาทั้งหมดที่มีอยู่กว่า 1,700 คน อย่างไรก็ดี เมื่อเราเข้ามาจับตลาดนี้แล้ว คาดว่าจะสามารถเพิ่มจำนวนนักศึกษาต่างชาติให้ได้สัดส่วนอยู่ที่ 30% ต่อจำนวนนักศึกษาทั้งหมดของแต่ละคลาส”

โดยแผนงานเหล่านี้จะเป็นสปริงบอร์ดชั้นดีที่สร้างการเติบโตให้คณะการบริหารและจัดการ สจล. กระโดดไปสู่ระดับอาเซียน และระดับโลกได้ในอนาคต

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!