นักวิชาการถามฟื้น “ครูใหญ่” แทน “ผู้อำนวยการโรงเรียน” เพื่ออะไร

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ น.ท.สุมิตร สุวรรณ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) วิทยาเขตกำแพงแสน เปิดเผยกรณีคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นประธาน เห็นชอบให้เปลี่ยนชื่อตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา จาก “ผู้อำนวยการโรงเรียน” มาเป็น “ครูใหญ่” ว่า คำเรียกผู้อำนวยการโรงเรียนได้เปลี่ยนแปลงมา 3 ครั้งใหญ่ๆ เริ่มแรกเปลี่ยนจากครูใหญ่ เป็นอาจารย์ใหญ่ และเปลี่ยนตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งให้ความหมายว่า อำนวยการ อำนวยความสะดวกในการทำงานให้กับโรงเรียน แต่คำถามคือมีเหตุผลอะไรที่เปลี่ยนกลับมาเป็นครูใหญ่ แม้อาจดูศักดิ์สิทธิ์ แต่การเปลี่ยนกลับไปกลับมา ส่งผลอะไรต่อคุณภาพการศึกษา และนักเรียนบ้าง เรื่องนี้เป็นประเด็นเล็กน้อยมาก ไม่ควรทำ

น.ท.สุมิตรกล่าวอีกว่า คิดว่าผู้เกี่ยวข้องควรจะแก้ปัญหาใหญ่ เช่น การศึกษามีปัญหาอะไร พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ได้แก้ไขปัญหา และพัฒนาการศึกษาให้เกิดคุณภาพได้อย่างไร ซึ่้งใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ที่ถือเป็น พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับการศึกษาฉบับแรก ไม่มีบทลงโทษผู้กระทำผิดที่ชัดเจน เช่น หากพบผู้จัดการศึกษาไม่ได้คุณภาพจะลงโทษอย่างไร เป็นต้น ตนมองว่าประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นใหญ่ รัฐที่มีหน้าที่จัดการศึกษา ควรจะวางแผน กำหนดกฎหมาย กำหนดบทลงโทษไว้ด้วย ว่าหากพบผู้จัดการศึกษาไม่ได้คุณภาพ จะมีบทลงโทษอย่างไร ซึ่งประเด็นเหล่านี้ควรจะถูกพูดถึงมากกว่าคำว่าครูใหญ่ หรือผู้อำนวยการโรงเรียน

“ผมไม่ชอบการกลับไปกลับมา พาวนอยู่เช่นนี้ ไม่เกิดประโยชน์ต่อคุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริง การบรรลุการศึกษาที่หลายประเทศได้ทำ คือทำเรื่องเดียวเท่านั้น คือปฏิรูปครู ต้องเริ่มตั้งแต่การคัดเลือก การผลิตครูที่มีคุณภาพ และพัฒนาดูแลครูจนเกษียณอายุ หลายประเทศทุกอาชีพมีค่าเฉลี่ยเงินเดือนที่เท่ากัน แต่อะไรเป็นแรงจูงใจให้คนมาประกอบอาชีพครู งานวิจัยในสายพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ระบุชัดเจนว่าเงินเดือนเป็นปัจจัยจูงใจ และปัจจัยค้ำจุนที่จะดึงคนเข้ามา ฉะนั้น ทำไมไม่เดินหน้าทำให้ครูเป็นวิชาชีพชั้นสูงที่ไม่ใช่ใครก็มาเป็น ต้องผ่านการคัดเลือก ผ่านการผลิต และต้องครองตนอย่างดีเพื่อประกอบอาชีพนี้ได้ โดยรัฐบาลต้องดูแลวิชาชีพครูอย่างดี เพราะทุกคนได้ดีเพราะครู ดังนั้น ปัจจุบันควรตั้งคำถามว่าครู และอาจารย์ทุกระดับชั้น ไม่ว่าประถม มัธยม หรือมหาวิทยาลัย มีปัญหาอะไร และรัฐบาลจะแก้ปัญหาอย่างไร ไม่ใช่เปลี่ยนชื่อผู้อำนวยการเป็นครูใหญ่ ซึ่งไม่มีนัย หรือความหมายอะไรในการปฏิรูปการศึกษา หรือจะทำให้การศึกษาดีขึ้น” น.ท.สุมิตร กล่าว

น.ท.สุมิตรกล่าวอีกว่า ส่วนที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นชอบให้เปลี่ยนจากการออก “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ” มาเป็น “ใบรับรองความเป็นครู” เพื่อให้ชัดเจนว่าครูเป็นผู้มีฐานะอันสูงส่ง มากกว่าความเป็นวิชาชีพชั้นสูงนั้น จะเรียกอย่างไรก็ได้ เพราะเป็นแค่คำเรียก แต่การจะเปลี่ยนอะไรต้องดูที่รากเหง้า เปลี่ยนเพื่ออะไร ต้องดูที่กระบวนการการได้มาซึ่งใบประกอบวิชาชีพมากกว่า

ด้านนายอรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แม้จะเปลี่ยนคำเรียกจากผู้อำนวยการโรงเรียนมาเป็นครูใหญ่ แต่คำถามคือรูปแบบ และระบบการทำงานเป็นอย่างไร เปลี่ยนไปจากเดิมหรือไม่ เดิมผู้อำนวยการโรงเรียนคือ ผู้ที่เอื้ออำนวยให้เกิดการทำงานร่วมกัน สนับสนุนทุกอย่างในโรงเรียนให้ทำงานไปด้วยดี แต่ขณะนี้ผู้อำนวยการโรงเรียนกลับทำหน้าที่รับฟังคำสั่งจากส่วนกลางเท่านั้น ได้ถอยออกมาจากห้องเรียน หากต้องการใช้คำว่าครูใหญ่ เพื่อให้ผู้อำนวยการโรงเรียนทุกคนต้องมีประสบการณ์สอน ต้องลงมาทำหน้าที่แนะนำครู และกลับมาใกล้ชิดห้องเรียน หากปรับเปลี่ยนคำเรียกแล้วระบบการทำงานเปลี่ยนไป สังคมอาจจะรับฟัง

“ผมมองว่าคำที่ใช้เรียกไม่ใช่ปัญหา แต่ถ้าปรับเปลี่ยนคำเรียกแล้วระบบการทำงานเหมือนเดิม คือไม่มายุ่งกับการเรียนการสอน เน้นการบริหารโรงเรียน และทำตามคำสั่งจากส่วนกลางเท่านั้น ถือว่าไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องเล็กที่สำคัญ ผมมองว่าขณะนี้การปรับเปลี่ยนคำเรียกจากผู้อำนวยการโรงเรียนมาเป็นครูใหญ่ ไม่มีทิศทางที่ชัดเจนว่าต้องการเปลี่ยนเพื่ออะไร” นายอรรถพลกล่าว

 

ที่มา : มติชนออนไลน์