“สอศ.” เล็งเปิด “เตรียมอาชีวะ” เต็มรูปแบบ รับนร.จบ ป.6 เข้า “วอศ-วท.” ทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติร่าง พ.ร.บ.การอาชีวศึกษา (ฉบับที่ …) พ.ศ. … ซึ่งเป็นการแก้ไข เพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … แผนพัฒนาการศึกษาชาติ และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้เพิ่มปริมาณนักเรียน นักศึกษาสายอาชีพ และยกระดับอาชีวศึกษา โดยสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.การดังกล่าว คือ กำหนดให้การจัดการเรียนอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพ ให้จัดตามหลักสูตรที่ กอศ.กำหนด ได้แก่ 1. ประกาศนียบัตรเตรียมอาชีวศึกษา (ปตอ.) 2. ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) 3. ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และ 4. ปริญญาตรีสายเทคโนโลยี หรือสายปฏิบัติการ

นายสุเทพกล่าวต่อว่า เดิม พ.ร.บ.การอาชีวศึกษา พ.ศ.2551 ไม่ได้กำหนดการจัดการเรียนอาชีวศึกษาในระดับเตรียมอาชีวศึกษาไว้ ซึ่งสำนักงานคณะ กรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้นำร่องให้สถาบันในสังกัดจัดสอนในระดับเตรียมอาชีวศึกษา ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาเทียบเท่า ม.1-3 ที่จะเปิดรับนักเรียนที่จบในระดับชั้น ป.6 เข้าเรียนในวิทยาลัยอาชีวศึกษา (วอศ.) หรือวิทยาลัยเทคนิค (วท.) ในสังกัด สอศ. ที่ สอศ.ได้นำร่องทดลองมา 2 ปี ในวิทยาลัยอาชีวะ 10 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้มีนักเรียนสนใจมาเรียนทั่วประเทศ 419 คน

“สาขาที่เปิดสอนนั้น จะเปิดสอนในสาขาที่ขาดแคลน เช่น ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ช่างก่อสร้าง เป็นต้น เบื้องต้นได้กำหนดหน่วยกิตการเรียนทั้งหมด 84 หน่วยกิต ซึ่งเพิ่มในเรื่องของวิชาชีพเข้าไปด้วย เพื่อให้นักเรียนรู้และเข้าใจตนเองว่ามีความถนัดอะไรบ้าง ซึ่งต่างจากการศึกษาขั้นพื้นฐานที่เรียน 81 หน่วยกิต ทั้งนี้หากนักเรียนเรียนจบแล้วต้องการกลับไปเรียนในระดับชั้น ม.4 สามารถเทียบโอนหน่วยกิตไปเรียนได้เลย” นายสุเทพ กล่าว

นายสุเทพกล่าวต่อว่า หลังจากที่ ครม.อนุมัติ ขั้นต่อไปจะนำร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ทั้งนี้ทาง สอศ.จะเตรียมแก้ไขกฎว่าด้วยการแบ่งระดับและประเภทการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไปพร้อมกัน เพื่อแบ่งระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นใหม่ ให้มีทั้งสายสามัญและสายอาชีพ

“เมื่อ สอศ.เปิดสอนในระดับชั้น ม.ต้น จะเป็นการแย่งผู้เรียนกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) หรือไม่ ผมมองว่าแนวโน้มการศึกษาของประเทศจะเปลี่ยนแปลงเหมือนกับต่างประเทศ แม้จะมีจำนวนเด็กเกิดน้อยลง แต่เชื่อว่าจะมีนักเรียนสนใจมาเรียนสายวิชาชีพมากขึ้น ตามเทรนด์ และตามความต้องการของตลาด เพราะเรียนสายอาชีพแล้วไม่ตกงาน” นายสุเทพกล่าวและว่า ทั้งนี้เมื่อ พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ และวิทยาลัยมีความพร้อมสามารถเปิดสอนได้ทันทีทั่วทั้งประเทศ โดยจะให้อาชีวศึกษาจังหวัด (อศจ.) มาช่วยดูในเรื่องของการรับนักเรียนด้วย หากทำสำเร็จจะได้นักเรียนที่มีหัวใจเป็นอาชีวะอย่างแท้จริง

 


ที่มา : มติชนออนไลน์