“น่าน” เพาะพันธุ์ปัญญา เรียนรู้วิถีชุมชนจากงานวิจัย

หลังจากที่ธนาคารกสิกรไทยให้ความสนับสนุนโครงการเพาะพันธุ์ปัญญามาอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดร่วมกับมหาวิทยาลัยพะเยา เดินหน้าโครงการ “น่านเพาะพันธุ์ปัญญา” ในปีการศึกษา 2562 ด้วยการคัดเลือก 30 โรงเรียนใน จ.น่านเพื่อร่วมพัฒนาตามกระบวนการและแนวคิดแบบเพาะพันธุ์ปัญญา มุ่งสร้างภูมิความรู้เยาวชนรุ่นใหม่ผ่านงานวิจัยเพื่อการมีส่วนร่วมกับท้องถิ่น

โดยที่ผ่านมาโครงการถือว่าประสบความสำเร็จในการสร้างความเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยให้กับกลุ่มนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ ผ่านการใช้กระบวนการคิดในรูปแบบการวิจัยได้อย่างยั่งยืน

“ดร.อดิศวร์ หลายชูไทย” รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา (2555-2561) โครงการเพาะพันธุ์ปัญญา ที่สํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับธนาคารกสิกรไทย สนับสนุนทุนวิจัยเชิงปฏิบัติการของนักเรียนในกลุ่มโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อหาคำตอบและวิธีการพัฒนาการศึกษาผ่านโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการในการพัฒนากระบวนการจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับการพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ

“โดยอาศัยโครงงานฐานวิจัย (research-based learning : RBL) มาเป็นเครื่องมือกระตุ้นการเรียนรู้ของนักเรียน การแสวงหาคำตอบ การคิดวิเคราะห์-คิดสังเคราะห์ผ่านกระบวนการถามคือการสอน เพื่อสะท้อนคิดคือเรียน เขียนคือคิด ตามกระบวนการวิทยาศาสตร์ที่สอดรับกับการพัฒนาประเทศไทยในอนาคต ทั้งยังพัฒนานวัตกรรมใหม่ให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้”

“ที่สำคัญโครงการเพาะพันธุ์ปัญญายังน้อมนำแนวคิดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 มาผนวกกับชุดความคิดทักษะกระบวนการวิทยาศาสตร์ เพื่อพัฒนานวัตกรรมใหม่ (STEM) เป็น SEEEM Concept ของโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาที่มีองค์ประกอบครบ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์, ด้านเศรษฐศาสตร์, ด้านนิเวศวิทยา, ด้านวิศวกรรมศาสตร์ และด้านคณิตศาสตร์” 

“ดร.อดิศวร์” กล่าวอีกว่า การบ่มเพาะชุดความรู้ให้กับครูและนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อมุ่งให้เกิดการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม สร้างความเท่าเทียมทางการศึกษาด้วยการติดอาวุธทางปัญญาให้แก่เยาวชนในสังคม ซึ่งจะเห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงของนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ โดยเฉพาะความรู้และความเข้าใจพื้นฐานในการจัดการเรียนการสอนด้วย RBL ที่นักเรียนสามารถคิดโจทย์โครงงานที่มีความซับซ้อนได้ดีขึ้น ทั้งยังเป็นความคิดที่ควบคู่ไปกับแนวคิดคุณธรรม

“จากความสำเร็จของโครงการที่ผ่านมา เราจึงนำแนวทางที่ได้จากการทำงานตลอด 6 ปีใน จ.พะเยา และเชียงรายมาขยายผลเพื่อพัฒนาเยาวชนระดับชั้นมัธยมศึกษาปี 2-3 ในโรงเรียน จ.น่านที่เข้าร่วมโครงการเพื่อส่งเสริมเป็นเครือข่ายถ่ายทอดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ผ่านการวิเคราะห์และสังเคราะห์จากกระบวนการเรียนรู้แบบ RBL ภายใต้บริบทท้องถิ่น”

“เพราะน่านมีความเข้มแข็งเรื่องเอกลักษณ์ด้านศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ประชาชนยึดมั่นกันอย่างเหนียวแน่น ขณะเดียวกัน ยังมีประเด็นที่อ่อนไหวในเรื่องของความเจริญที่เข้ามา ซึ่งส่งผลต่อการอนุรักษ์ป่าไม้ และสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ”

อย่างไรก็ตาม การสร้างความรู้ในลักษณะเพาะพันธุ์ปัญญา จะช่วยปลูกฝังการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้แก่เยาวชน พร้อมกับนำศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาเชื่อมโยงกับความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนของห้องเรียนในโรงเรียนเป้าหมายอีกด้วย

ที่สำคัญจะต้องพัฒนาระบบกลไกสนับสนุนการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่เพื่อขับเคลื่อนสมัชชาการพัฒนาการศึกษาของ จ.น่านให้เป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นต่อไป