“สทศ.” เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง หลัง “ม.6” โพสต์กระดาษคำตอบโอเน็ตลงเฟซบุ๊ก ยันไม่กระทบจนต้องจัดสอบใหม่

เมื่อวันที่ 4 มีนาคม น.ส.ศิริดา บุรชาติ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เปิดเผยกรณีนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โพสต์กระดาษคำตอบ การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ หรือโอเน็ต ประจำปีการศึกษา 2561 วิชาวิทยาศาสตร์ โดยมีการฝนคำตอบแล้วลงในกรุ๊ปเฟซบุ๊ก ระหว่าง เมื่อวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมานั้น ว่า สทศ.ทราบเรื่องดังกล่าวและได้ประสานไปยังศูนย์สอบ และสนามสอบเพื่อขอให้ส่งข้อมูลต่าง มายัง สทศ.เพื่อให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงดำเนินการตรวจสอบต่อไป ทั้งนี้ สทศ.ไม่สามารถเปิดเผยได้ว่า กรณีที่เกิดขึ้นเป็นสนามสอบที่ใด เพราะต้องรักษาสิทธิของเด็ก แต่ยืนยันว่า เรื่องดังกล่าวจะมีการตรวจสอบเป็นไปตามกระบวนการ ทั้งนี้ ตามระเบียบสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ว่าด้วย แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการทดสอบ พ.ศ. 2557 กำหนดไว้ชัดเจน ห้ามนำเครื่องมือสื่อสารเข้าไปในห้องสอบ ซึ่งกรณีดังกล่าวเข้าข่ายว่าจะไม่เป็นไปตามระเบียบ และจากกรณีดังกล่าว เป็นการฝ่าฝืนข้อปฏิบัติสำหรับผู้เข้าสอบ ซึ่งไม่กระทบต่อการทดสอบวิชาวิทยาศาสตร์ จึงไม่จำเป็นต้องจัดสอบใหม่ โดยขอให้นักเรียนไม่ต้องกังวล

“กรณีนักเรียนม.6 โพสต์กระดาษคำตอบโอเน็ต วิชาวิทยาศาสตร์ ครั้งนี้จะแตกต่างกับเมื่อครั้งโพสต์กระดาษคำตอบในการทดสอบวัดความถนัดทั่วไป หรือ GAT ชั้น ม.6 ในการสอบเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพราะของการสอบ GAT เด็กยังไม่มีการฝนคำตอบ แต่ของโอเน็ต เด็กมีการฝนคำตอบเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงต้องตรวจสอบให้ชัดเจนก่อน ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ ส่วนจะสรุปผลเช่นไรต้องรอคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงสรุปและเสนอมายังคณะกรรมการ สทศ.พิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรกับกรณีนี้” น.ส.ศิริดา กล่าว

น.ส.ศิริดา กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ตามระเบียบสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ว่าด้วยแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการทดสอบ พ.ศ.2557 ระบุเกี่ยวกับผู้เข้าสอบไว้ส่วนหนึ่งในข้อ 9 (7) ว่า ห้ามกระทำการใดๆ อันเป็นการทุจริตหรือส่อทุจริตในการทดสอบ หากผู้เข้าสอบกระทำการในข้อ 9 (7.2) จะถือว่าเป็นการทุจริตในการทดสอบ โดยในข้อ 9 (7.2) นำอุปกรณ์อื่นใดที่ไม่ได้รับอนุญาต มาใช้ในการสอบ ซึ่งหมายความรวมถึง การนำอุปกรณ์สื่อสารและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดเข้ามาในห้องสอบด้วย ซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินการตามข้อ 11 เมื่อพบการฝ่าฝืน ตามข้อ 9 (7) ให้กรรมการคุมสอบ ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น และเขียนรายงานตามแบบที่สถาบันกำหนด เมื่อสถาบันได้รับรายงานให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป

น.ส.ศิริดา กล่าวต่ออีกว่า มีบทกำหนดโทษตามข้อ 13 หากมีการฝ่าฝืนข้อกำหนด ตามข้อ 9 สถาบันอาจดำเนินการกรณีใดกรณีหนึ่ง หรือหลายกรณี ดังต่อไปนี้ 1.ไม่ประกาศผลการทดสอบในรายวิชานั้นๆ หรือทุกรายวิชาสำหรับผู้ฝ่าฝืน 2.แจ้งไปยังสถานศึกษาของผู้เข้าสอบที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดเพื่อดำเนินการทางวินัย 3. แจ้งพฤติการณ์การฝ่าฝืนไปยังสถาบันอุดมศึกษา หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาประกอบการรับเข้าศึกษาหรือรับเข้าทำงาน และ 4.พิจารณาดำเนินการฟ้องร้อง หรือดำเนินคดีตามกฎหมายในกรณีที่เกิดความเสียหาย อย่างหนึ่งอย่างใดแก่สถาบันหรือระบบการทดสอบ

 

 


ที่มา : มติชนออนไลน์