“เจน Z” เร่งปรับตัว ต้องเก่ง 3 ด้านสู่ 1 in a million

ความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติเป็นผลมาจากทักษะความสามารถของคนในประเทศ แต่จากการวัดทักษะของเด็กอายุ 15 ปีในปีล่าสุด (2560) ของโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ หรือ Programme for International Student Assessment (PISA) แสดงให้เห็นว่าเด็กไทยมีคะแนนน้อยลง ทั้งยังชี้ให้เห็นว่าระบบสติปัญญาของเด็กไทยห่างจากกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วถึง 6 ปี

ดังนั้น ในฐานะที่ เอ็นคอนเส็ปท์ (Enconcept) มีภารกิจส่งเสริมความสามารถของเด็กไทยมาโดยตลอด จึงจัดงานแนะแนวการวางแผนการศึกษา THINK BEYOND : BE#1 เพื่อให้ผู้ปกครองไทยเข้าใจเทรนด์โลก เพื่อจะได้นำไปสู่การเตรียมพร้อมของบุตรหลานได้เหมาะสม

“ธานินทร์ เอื้ออภิธร” ผู้บริหารโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษเอ็นคอนเส็ปท์ กล่าวว่า การศึกษาของประเทศที่พัฒนาแล้วมีศักยภาพ และมีความพร้อมส่งเสริมให้เด็กมีการเรียนรู้ดีกว่าประเทศที่กำลังพัฒนา ดูได้จากผลการสอบ Pisa ที่แสดงระดับสติปัญญาเด็กมัธยมศึกษาปีที่ 3 ของไทย ซึ่งมีคะแนนเทียบได้กับทักษะของเด็กชั้นประถมปีที่ 3 ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ฟินแลนด์, สิงคโปร์, ญี่ปุ่น

นอกจากนี้ การสอบ Pisa ยังระบุว่า ประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างเวียดนาม, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย มีค่าวัดระดับสติปัญญาสูงกว่าไทยอีกด้วย ดังนั้น เราต้องหาสาเหตุว่าทำไมทักษะเด็กไทยถึงด้อยกว่าหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศในอาเซียนที่เป็นกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเหมือนกัน

“โดยหนึ่งในหลายสาเหตุคือเด็กไทยยังถูกสอนให้เป็นผู้ตาม ให้เด็กเชื่อในความคิดของคนที่เป็นผู้ใหญ่กว่า ซึ่งใน
ความจริงแล้วคำตอบที่ดีที่สุดในยุคนี้คือคำตอบที่ทำให้คนพึงพอใจได้มากที่สุด ไม่ใช่คำตอบที่เน้นทักษะวิเคราะห์ถูกผิด ดังนั้นเด็กรุ่นใหม่ต้องมีความแตกต่าง และทำให้คนเชื่อว่าคำตอบที่ตนได้นั้นมีความเป็นไปได้ ซึ่งการเป็นคนขยัน คนท่องจำเก่ง เรียนเก่ง มีวินัย ทำตามขั้นตอนหรือคนที่เชื่อฟังผู้ใหญ่ อาจไม่ใช่สูตรสำเร็จอีกต่อไป เพราะโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และต้องการคนที่มีความเฉพาะตัวที่ลอกเลียนแบบได้ยาก (originality)”

“การพัฒนาตนเองให้เก่งเป็น BE 1 in a million (หนึ่งในล้าน) จึงมีความสำคัญในยุคนี้ ซึ่งหมายถึงการเป็นคนที่มีทักษะรวมกัน 3 ด้านไม่เหมือนใครใน 1 ล้านคน ฟังแล้วอาจดูยาก แต่ไม่ยาก หากเราเริ่มจากการเป็นที่ 1 ของคน 100 คน ก่อนในด้านที่ต่างกันออกไป 3 ด้าน ก็จะทำให้เราสามารถเป็น 1 ในล้านได้ในที่สุด ยกตัวอย่างเช่น เราทำอาหารไทยเก่งเป็นที่ 1 ของคน 100 คน และมีความสามารถในการถ่ายรูปสวยเป็นที่ 1 ของคน 100 คน ทั้งยังสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษเป็นที่ 1 ของคน 100 คน”

“เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจึงกลายมาเป็น 1 ในล้าน เพราะไม่มีใครที่จะมีความสามารถทั้ง 3 อย่างนี้ได้ซ้ำกับเราใน 1 ล้านคน โดยความโดดเด่นทั้ง 3 ด้านนี้ ทำให้เราสามารถเป็นบล็อกเกอร์ด้านอาหารที่ถ่ายทอดความรู้การทำอาหารไทยด้วยภาษาอังกฤษให้คนทั่วโลกชมได้ เป็นต้น”

นอกจากนั้น ระบบการศึกษาไทยต้องส่งเสริมเทรนด์ใหม่ ได้แก่ highly actively learn-คือ ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ highly adaptive-ผู้เรียนปรับตัวเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ highly globalized-การแลกเปลี่ยนการเรียนรู้และหลักสูตรในระดับประเทศ highly personalized-การเลือกเรียนและปรับเปลี่ยนตามรูปแบบความสนใจของแต่ละบุคคล และสุดท้าย highly focused yet flexible-การเรียนแบบโฟกัสแต่ยังยืดหยุ่น

ธานินทร์” กล่าวถึงสถานการณ์การศึกษาไทยในปัจจุบันว่า ตอนนี้ตอบโจทย์กับเด็กเฉพาะกลุ่มเท่านั้น เช่น การสอบ TCAS (Thai University Central Admission System) ซึ่งเป็นระบบ ที่ใช้คัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาไทย ระบบนี้เป็นระบบที่เอื้อให้คนรวยเข้ามหาวิทยาลัยได้ดีกว่าคนจน และเอื้อให้คนรวยเข้าไปคณะดี ๆ ได้ก่อน

“TCAS คัดเลือกเด็กรอบที่ 1 จาก portfolio หรือแฟ้มสะสมผลงาน ซึ่งคนรวยมีโอกาสในการเข้าถึงประสบการณ์การเรียนรู้ที่โดดเด่นกว่า และมากกว่า ซึ่งแน่นอนว่าเด็กยากจน ย่อมมีโอกาสน้อยกว่า TCAS จึงเป็นตัวกระตุ้นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทย ซึ่งต่างจากประเทศญี่ปุ่นที่ใช้การคัดเลือกจาก portfolio เป็นรอบสุดท้าย”

“เอ็นคอนเส็ปท์เองพยายามใช้เครื่องมือที่มีเข้าช่วยลดความเหลื่อมล้ำของการศึกษาไทย โดยร่วมกับภาครัฐกระจายความเท่าเทียมกันทางการศึกษาผ่าน 2 โครงการ ได้แก่ ติวฟรีดอทคอม และ echo english ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยี edtech มาปรับใช้กับรูปแบบการศึกษาไทย เพราะเราเห็นความสำคัญของการศึกษาว่าเป็นกุญแจสำคัญให้เด็กที่มาจากชนชั้นล่าง และกลางได้ยกระดับสังคมของตัวเอง พวกเขาจึงอยากเข้าคณะดี ๆ อย่างเช่น คณะแพทยศาสตร์ แต่ระบบการศึกษาบ้านเรากลับไม่ตอบโจทย์ในการส่งเสริมพวกเขามากพอ”

“ในขณะที่สถานการณ์ของเด็กที่มาจากครอบครัวร่ำรวยปัจจุบัน กลับถีบตนเองด้วยการเข้าเรียนอินเตอร์มากขึ้น ทำให้ยอดขายของโรงเรียนอินเตอร์แต่ละโรงเรียนในบ้านเราสูงถึง 600-1,500 ล้านบาทต่อปี ในปีนี้เราจึงจะชู interpass ซึ่งเป็นสถาบันที่ส่งเสริมทักษะเด็กที่เรียนภาคอินเตอร์ในเครือ Econcept มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา interpass มีการเติบโตอย่างเป็นพลวัต โดยในปีนี้โตขึ้นจากปีที่แล้ว 20%”

วลีรัตน์ หาญเมธีคุณา” ครูสอนภาษาอังกฤษ สถาบัน interpass กล่าวเสริมว่า ยุคนี้เป็นยุคของเด็กเจเนอเรชั่น Z ซึ่งเป็นช่วงวัยของเด็กในยุคปัจจุบัน ที่เน้นการค้นหาตัวตน และต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ไม่ใช่แค่การขยันหรือทำงานหนักแล้วจะประสบความสำเร็จเหมือนกับคนในเจเนอเรชั่น X และ Y

“เด็กในเจเนอเรชั่น Z จะเน้นค้นหาความเป็นตัวเอง (self-searching) ซึ่งต้องควบคู่ไปกับทักษะในการรับมือท่ามกลางกระแส disruption ที่มีการแข่งขันสูง ดังนั้น เด็กต้องมีทักษะ 4C ซึ่งเป็นความสามารถในการปรับตัวที่ต้องปลูกฝังในเด็กเจเนอเรชั่น Z ได้แก่ C-competition ทักษะของการปรับตัวไปกับการแข่งขันและความไม่แน่นอนที่มีแนวโน้มสูงมากขึ้นในอนาคต C-copy เรียนรู้และต่อยอดได้อย่างรวดเร็ว C-challenge การทำสิ่งที่ท้าทายความสามารถของตนเอง และ C-confirm คือ การค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง เพื่อนำไปสู่การเป็น find generation หรือการค้นพบความสำเร็จในรูปแบบของตัวเอง ที่สามารถกล่าวได้ว่าเป็น BE 1 in a million”

ทั้งนั้น ยุคนี้เป็นยุคที่เทคโนโลยี AI (artificial intelligence) มีศักยภาพมากกว่ามนุษย์ถึง 30,000 เท่า ซึ่งในอนาคตอันใกล้ AI จะเข้ามามีบทบาทกับการดำรงชีวิตของมนุษย์มากขึ้น จึงเป็นเหตุให้เราต้องเพิ่มสติปัญญา และศักยภาพเพื่อแข่งขันกับเทคโนโลยี สิ่งที่มนุษย์จะทำได้คือการสร้างสิ่งใหม่ และการต่อยอดสิ่งที่มีอยู่แล้วไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น และสร้างความพึงพอใจที่มากกว่า


ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ตลาดแรงงานกำลังมองหาคนที่มีศักยภาพ และมีความเชี่ยวชาญมากกว่า 1 ด้าน ในลักษณะงานลูกผสม หรือ hybrid jobs เพราะทักษะเหล่านี้คือเครื่องมือสำคัญที่มนุษย์สามารถสู้ศึกการแข่งขันกับ AI ได้นั่นเอง