โรงเรียนคู่ขนาน ความสำเร็จจากทักษะชีวิต

องค์ประกอบที่ทำให้คนประสบความสำเร็จในชีวิต คงไม่ได้มาจากความเก่งด้านความรู้ หรือวิชาการเพียงอย่างเดียว อาจจะมีสิ่งอื่นเข้ามาผสมผสาน และเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ไม่อาจละเลยได้คือ “ทักษะชีวิต” เพราะเห็นได้จากทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ระบุว่าทักษะชีวิต และอาชีพเป็นกลุ่มทักษะสำคัญ

ช่องว่างตรงนี้จึงเป็นโอกาสที่ “โรงเรียนคู่ขนาน” ของ “ฝั่งนที ประภาสะวัต” เข้ามาเติมเต็ม ซึ่งหัวหน้าโครงการคนนี้คลุกคลีอยู่กับวงการการศึกษามาโดยตลอด ด้วยความที่เป็นติวเตอร์ และเปิดกิจการเพื่อสังคม “โนว์อาร์ เลิร์นนิ่ง” ที่ให้คำปรึกษา และแนะแนวเด็กให้รู้จักตัวเอง เพื่อจะได้เรียน และทำงานตามที่ชอบและถนัด

“ฝั่งนที” ยกตัวอย่างสถานการณ์ที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ทักษะชีวิตในโรงเรียนให้ฟังว่า เมื่อเด็กทำงานส่งครูไม่ทัน สิ่งที่ได้รับคือโดนครูดุ และหักคะแนน เด็กจะเรียนรู้ว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้นไม่ดี แต่ไม่เกิดการเรียนรู้ว่าถ้าจะทำให้ดีขึ้น ต้องทำอย่างไร ซึ่งหากเปลี่ยนเป็นเมื่อเด็กส่งงานไม่ทัน ครูจะสอนเรื่องการจัดการเวลา ก็จะทำให้เด็กพัฒนาตนเอง และมีความรับผิดชอบมากขึ้น

“นี่เป็นหนึ่งทักษะชีวิตเรื่องใกล้ตัว แต่กลับไม่ได้รับความสำคัญ เราจึงจัดตั้งโรงเรียนคู่ขนานขึ้น เพื่อสอนทักษะชีวิตที่สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ โดยส่วนใหญ่แล้วเรื่องนี้จะถูกสอนอย่างจริงจังกับผู้ใหญ่วัยทำงาน เห็นได้จากการที่บริษัทส่งพนักงานไปเทรนนิ่ง”

“ในทางกลับกัน เราคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องดีกว่า ถ้าหากนำเรื่องทักษะชีวิตไปบ่มเพาะให้กับเด็ก ๆ เพราะจะช่วยสร้างโอกาส และความสำเร็จในชีวิตได้ เช่น ถ้าเขาเรียนรู้ทักษะการขาย เวลาสมัครงาน จะสามารถขายตัวเองได้ รู้จักทำให้ตัวเองโดดเด่นขึ้นมา บริษัทย่อมอยากเลือกเขาเข้าทำงานด้วย”

สำหรับการใช้ชื่อโรงเรียนคู่ขนานเป็นเพราะเปิดเรียนคร่อมกับโรงเรียนในระบบทั่วไป เพื่อให้นักเรียนสามารถเรียนทั้งสองหลักสูตรควบคู่กันได้ ซึ่งหลักสูตรถูกพัฒนาอย่างเข้มข้น ผ่านทีมงานที่มีประสบการณ์ด้านการศึกษา โดยผสมผสานระหว่างองค์ความรู้ด้านการศึกษานอกระบบ การประเมินผล และจิตวิทยา ขณะที่ครูผู้สอนจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านของวิชานั้น ๆรายวิชาที่เปิดสอนจะแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ หลักสูตรทักษะชีวิตพื้นฐานเบื้องต้น เช่น วิชาความเชื่อมั่นในตนเอง, วิชาการคิดเชื่อมต่อ, วิชาสร้างแรงบันดาลใจ ส่วนหลักสูตรทักษะชีวิตขั้นประยุกต์ ได้แก่ วิชาการจัดการเวลา, วิชาการสร้างสัมพันธ์กับผู้อื่น, วิชาการรับมือกับความผิดหวัง และหลักสูตรเพื่อใช้งานในภาคธุรกิจ อย่างวิชาการสร้างคอนเน็กชั่น, วิชาทักษะการขาย, วิชาการจัดการการเงิน เป็นต้น

“การเรียนตลอดหลักสูตรอยู่ที่ 5 ปีการศึกษา แต่ละปีการศึกษาจะมี 3 ภาคเรียน เรารับสมัครนักเรียนตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไป หรือจบชั้น ม.3 แล้ว โดยเริ่มรับสมัครในเดือน ธ.ค. 2560 และจะเริ่มสอนปีหน้า ซึ่งปีแรกเป็นการเรียนขั้นพื้นฐาน ปีถัดมาเป็นหลักสูตรประยุกต์ ปีที่สามเป็นหลักสูตรเพื่อนำไปใช้ภาคธุรกิจหรือตอนทำงาน”

“ส่วนปีที่สี่เป็นการลองทำงานจริงกับโรงเรียนคู่ขนาน เราจะหางานมาให้น้อง ๆ ทำเหมือนทำงานจริง เช่น หากน้องสนใจด้านสถาปัตย์ เราจะหางานด้านนี้มาให้น้องทำ ซึ่งในปีที่สี่นั้นเด็กจะเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว และในปีที่ห้า เราจะส่งน้องไปอยู่กับบริษัทที่เป็นพันธมิตรของเราในลักษณะของเด็กฝึกงาน เพื่อให้เขาเจอโลกการทำงานจริง แล้วนำบทเรียนที่เคยเรียนไปใช้กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น”

“ฝั่งนที” ให้ข้อมูลว่ารูปแบบการเรียนของโรงเรียนคู่ขนานจะเป็นการเรียนแบบผสมผสานของการเรียนในห้อง และเรียนทางไกลผ่านเครือข่ายออนไลน์ เพื่อให้ครอบคลุมถึงเด็กต่างจังหวัด เพื่อช่วยประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วย เพราะนอกจากการเรียนในห้องเรียน จะมีการไลฟ์คุยกับเด็กสัปดาห์ละ 2-3 ครั้งเพื่อรับฟังความเห็นว่าพวกเขาเจออะไรมาบ้าง เพื่อเป็นการติดตาม และประเมินผลอีกทางหนึ่ง

“ด้วยความที่เป็นการเรียนสด และออนไลน์ คอร์สของเราจะแบ่งเป็น 2 ระดับ ถ้าหากผู้ปกครองมีกำลังจ่ายสูง จะได้รับประโยชน์เพิ่มเติมให้กับลูก เช่น มีนักจิตวิทยาส่วนตัวให้ ค่าเรียนก็จะเริ่มต้นที่ 13,000 บาท แต่หากมีกำลังจ่ายน้อยลงมา ค่าเทอมจะไม่ถึง 10,000 บาทแต่จะมีสัดส่วนของการเรียนออนไลน์มากกว่า ซึ่งมีทั้งไลฟ์สอนสดและคลิปวิดีโอ”

อย่างไรก็ดี จากรูปแบบของธุรกิจที่เป็นกิจการเพื่อสังคม และกำลังอยู่ในช่วงของการระดมทุนผ่าน Crowdfunding ทางโรงเรียนจึงจัดแพ็กเกจให้กับผู้ปกครองที่มีความสนใจ และต้องการสนับสนุนเรื่องทักษะชีวิตให้กับลูกหลาน หากผู้ปกครองจ่ายค่าเทอมล่วงหน้า จะได้รับส่วนลด และหากเหมาจ่ายตลอดหลักสูตร 5 ปีจะให้อัตราส่วนลดมากขึ้น ซึ่งจะเหลือค่าเรียนเพียงเทอมละไม่กี่พันบาท

“ฝั่งนที” บอกว่าอีกหนึ่งเป้าหมายของโรงเรียนคู่ขนานคือการจัดทำโครงการนี้กับเด็กที่มีกำลังจ่ายน้อย เพื่อให้พวกเขามีโอกาสเข้าถึงโอกาสเช่นเดียวกัน กระนั้น การที่จะเข้าไปช่วยเหลือนักเรียนกลุ่มดังกล่าวจะต้องมีเงินทุนไปดำเนินการ ซึ่งหากเราสามารถพัฒนาธุรกิจไปได้ไกล และมีรายได้เข้ามาเยอะ ย่อมหมายถึงเงินที่จะไปช่วยเหลือเด็กที่มีกำลังจ่ายน้อยตามไปด้วย

“ดังนั้น ถ้าไม่มีกลุ่มคนที่จ่ายเงิน เราจะไม่สามารถช่วยเหลือคนเหล่านั้นได้ และถ้าหากเราพัฒนาธุรกิจไปได้มากกว่านี้ รายได้จะเข้ามาเยอะ แน่นอนเงินที่เข้าไปสนับสนุนเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทั้งยังสามารถทำได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น”

“ฝั่งนที” กล่าวในตอนท้ายว่าเราวางแผนช่วงแรกของการทำธุรกิจเป็นการสร้างรากฐานให้มั่นคง จึงตั้งเป้าผู้เรียนอยู่ที่ปีละ 1,000 คนใน 5 ปีแรก ซึ่งเชื่อมั่นว่าเมื่อเด็กจากโรงเรียนคู่ขนานจบออกไป และสามารถสร้างผลลัพธ์ให้สังคมเห็นว่าเป็นเด็กคุณภาพ และประสบความสำเร็จในชีวิต ถึงเวลานั้นธุรกิจจะเติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างแน่นอน