กางแผนปั้นกระทรวงอุดมศึกษา เชื่อมโยงองค์กรรัฐ-ลดงบวิจัยซ้ำซ้อน

เปิดไทม์ไลน์ปั้น ก.อุดมศึกษา หลัง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการฯผ่านฉลุย ชูเป้าหมายประเทศจะขับเคลื่อนด้วยงานวิจัย เตรียมรื้อโครงสร้างภายในหน่วยงานเกี่ยวข้อง วช.และ สกว. ภายในปี 2565 คาดปรับเป็นองค์การมหาชนได้ตามแผน ลดข้อจำกัดระยะเวลาการให้ทุนวิจัยจากเดิมปีต่อปี เป็น 3-5 ปี พร้อมเปิดทางให้ตำแหน่งอธิการบดีนั่งเป็นปลัดกระทรวงได้

จ่อใช้ กม.การอุดมศึกษา

รายงานข่าวจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ระบุถึงความคืบหน้าในการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมนั้น ล่าสุด (5 มี.ค. 62) สนช.ได้พิจารณาเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว รวมถึงกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งสิ้น 11 ฉบับ โดยขั้นตอนต่อจากนี้ คือ การประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้กฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการต่อไป

ภายหลังจากการประกาศใช้กฎหมายแล้วนั้น สิ่งที่จะต้องเปลี่ยนแปลง คือ โครงสร้างของกระทรวง ที่จะมีการปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ในบางหน่วยงาน เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐที่ต้องการขับเคลื่อนประเทศด้วยงานวิจัย มารวมไว้ในองค์กรเดียวกัน เพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับเทรนด์การศึกษาโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วปรับโครงสร้างภายใน

สำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะต้องผนวกรวมกันภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษาฯดังกล่าว เช่น สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) อีกด้วย รวมถึงหน่วยงานกว่า 7 องค์กร ที่อยู่ภายใต้เครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) เช่น สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สวทน. และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือ สกอ. เป็นต้น

ทั้งนี้ ยกตัวอย่างหน้าที่ของ สกว. จะถูกปรับจากบทบาทหน้าที่จากเดิมที่เป็นแหล่งเงินทุนให้กับนักวิจัย ก็ปรับเปลี่ยนไปทำหน้าที่ของ วช.แทน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการขับเคลื่อนนโยบาย และยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติ เป็นต้น นอกจากนี้ พระราชบัญญัติดังกล่าวได้ผ่านขั้นตอนการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคประชาชนที่สนใจไปตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว เพื่อให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

ADVERTISMENT

ด้าน รองศาสตราจารย์กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้รอเพียงการประกาศใช้กฎหมายอย่างเป็นทางการรวม 11 ฉบับที่ประกอบไปด้วยกฎหมายหลักและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ การจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาฯครั้งนี้ยังรวมหน่วยงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาไว้ในโครงสร้างกระทรวงดังกล่าวด้วย เนื่องจากกระทรวงวิทย์ถือเป็นหน่วยงานที่ต้องเป็นผู้ใช้งานวิจัย และเทคโนโลยีต่าง ๆ ซึ่งหากเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่น ๆ เท่ากับว่าได้ใช้ทรัพยากรร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ ยังมองว่าสถาบันระดับอุดมศึกษาของไทยสามารถเข้ามาใช้เครื่องมือต่าง ๆ ร่วมกับกระทรวงวิทย์ และอาจนำไปสู่ความร่วมมือหรือการต่อยอดด้านอื่น ๆ ได้อีกด้วย

นอกจากนั้น สนช.มองว่าการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ถือเป็นนโยบายระดับชาติที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมมือกัน โดยภายใต้กระทรวงดังกล่าวจะต้องจัดตั้งสำนักงานนโยบาย เพื่อกำหนดทิศทางด้านการวิจัยได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และที่สำคัญคือจะได้ใช้งบประมาณเพื่อเป็น “ทุนวิจัย” ได้เกิดประโยชน์สูงสุดและไม่เกิดความซ้ำซ้อนในหัวข้อการวิจัย อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะมีการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาฯได้มองเห็นถึงปัญหาด้านการวิจัย คือ การให้ทุนที่ซ้ำซ้อน คือศึกษาในเรื่องเดียวกัน ฉะนั้น การมีกระทรวงการอุดมศึกษาฯจะทำให้ผู้วิจัยจะต้อง “เปิดเผยข้อมูล” คือ หัวข้อการวิจัย ยื่นเสนอการวิจัยไปที่หน่วยงานใดบ้าง เป็นต้น

ADVERTISMENT

วางอนาคตเป็นองค์การมหาชน

รศ.กิตติชัย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า เพื่อประโยชน์ด้านการวิจัยของประเทศในระยะยาว หลังจากที่กระทรวงดังกล่าวดำเนินการมาแล้ว 3 ปี ก็จะต้องปรับจากรูปแบบกระทรวงมาสู่การเป็นองค์การมหาชน ด้วยเหตุผลที่ว่าต้องการปรับเปลี่ยนระยะเวลาการให้เงินสนับสนุนด้านการวิจัยที่กำหนดไว้ที่ปีต่อปี มาเป็นแบบ 3 ปี หรือ 5 ปี เพื่อความต่อเนื่องในงานวิจัยด้วย นอกจากนี้ในแง่เชิงการบริหารยังกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี สามารถเข้ามาเป็นปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯได้อีกด้วย

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า ภายหลังจากที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา พร้อมทั้งประกาศใช้กฎหมายอย่างเป็นทางการแล้ว ในช่วงรอยต่อนั้น คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ถูกจัดตั้งโดยคณะรัฐมนตรีนั้น สามารถทำงานในช่วงรอยต่อเพื่อเตรียมความพร้อมการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการกำหนดระเบียบข้อบังคับอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม สำหรับอายุการทำงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนฯได้กำหนดไว้เพียง 3 ปีเท่านั้น

สำหรับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม แบ่งเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1) ร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม

2) ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ 3) ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ 4) ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา 5) ร่างพระราชบัญญัติการบริหารส่วนงานภายในของสถาบันอุดมศึกษา และ 6) ร่างพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการวิจัย

ส่วนระยะที่ 2 ประกอบด้วย 1) ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 2) ร่างพระราชบัญญัติสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ 3) ร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา

ส่วนระยะที่ 3 ประกอบด้วย 1) ร่างพระราชบัญญัติการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม และ 2) กฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง