การศึกษานอกห้องเรียน

คอลัมน์ Education Ideas

“ระยอง” เป็นหนึ่งในจังหวัดที่ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของไทยจังหวัดแรก ๆ การปฏิรูปการศึกษาในจังหวัดเดินหน้าอย่างเข้มข้น และต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ทีมแกนนำปฏิรูปการศึกษาจังหวัดระยองนำโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ประสานงานกับทุกภาคส่วนในระยอง เพื่อยกร่างแผนยุทธศาสตร์การศึกษาจังหวัด เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาคนระยองให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงตามโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี

โดยมีสถาบันอาศรมศิลป์ และมูลนิธิสยามกัมมาจลเป็นที่ปรึกษา และทำหน้าที่โค้ช (coach) เพื่อร่วมสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม จนได้แผนยุทธศาสตร์การศึกษาที่มาจากคนระยองอย่างแท้จริง โดยผู้ว่าราชการจังหวัดนำทีมประกาศแผนยุทธศาสตร์การศึกษา วางวิสัยทัศน์ที่จะจัดการศึกษาสำหรับคนทุกช่วงวัยอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง ตอบโจทย์บริบทของระยองที่ต้องการให้เป็นต้นแบบการผลิต พัฒนากำลังคน สู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน

พร้อมกับพัฒนาหลักสูตร “Rayong MARCO” เพื่อให้เกิดการปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน ที่สร้างเด็กระยองให้ตอบโจทย์อนาคตเมืองมาถึงวันนี้

การปฏิรูปการศึกษาที่ระยอง ยังคงเดินหน้าอย่างเข้มข้น ด้วยการขับเคลื่อนของโรงเรียนต้นแบบ ที่จะนำร่องเป็นโรงเรียนตัวอย่าง ก่อนที่จะขยายไปสู่ทั้งจังหวัด โดยปีแรกมีโรงเรียนต้นแบบที่เข้าร่วมโครงการแล้ว 30 โรงเรียนที่กำลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงโรงเรียน ด้วยโมเดล 4.0 Whole School Transform กับหลัก 7 เปลี่ยนที่ “รศ.ประภาภัทร นิยม” อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ และผู้ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณ เป็นผู้คิดค้น และร่วมเป็นโค้ชให้กับผู้อำนวยการโรงเรียนด้วยตนเอง

โมเดล 4.0 Whole School Transform กับหลัก 7 เปลี่ยน มีเป้าหมายเพื่อการสร้างเด็กไทยให้มีสมรรถนะในศตวรรษที่ 21 ที่วัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรมและครบครันทั้ง 5C ได้แก่ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ การคิดอย่างสร้างสรรค์ การสื่อสาร การทำงานเป็นทีมอย่างมีส่วนร่วม และการคิดใคร่ครวญอย่างมีสติ

แต่การจะทำได้เช่นนี้ โรงเรียนต้องเปลี่ยนแปลงทั้งระบบคือเปลี่ยนแนวคิดการจัดการศึกษา เป็นมุ่งผลลัพธ์ที่เกิดกับเด็ก เปลี่ยนบทบาทของผู้อำนวยการโรงเรียน เป็นผู้นำทางวิชาการ เปลี่ยนบทบาทของครู เป็นผู้เชี่ยวชาญการเรียนรู้ เปลี่ยนห้องเรียน เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นและหลากหลาย เปลี่ยนหลักสูตรการเรียนการสอน เป็นการเรียนรู้ที่มุ่งสร้างสมรรถนะ เปลี่ยนศาสตร์การสอน เป็นการเรียนรู้แบบใฝ่รู้และสร้างสรรค์ และเปลี่ยนการประเมินผล เป็นการประเมินผลตามสภาพการเรียนรู้จริงแบบ 360 องศา

การเปลี่ยนแปลงทั้งระบบนี้ จะก่อให้เกิดผลโดยตรงกับการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ใน “ห้องเรียน” ซึ่งเป็นที่ที่จะทำให้เด็กนักเรียนเกิดการเรียนรู้ต่อไป

“รศ.ประภาภัทร” กล่าวว่า หัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนครั้งนี้เพราะเราต้องการปฏิรูปการศึกษาที่สามารถทำได้ทันที และได้ผลทันที ทั้งยังเป็นผลโดยตรงที่เกิดขึ้นกับเด็กคือการเปลี่ยนแปลงที่ห้องเรียน ซึ่งโรงเรียนสามารถทำได้ แม้ยังไม่มีนโยบาย หรือยังไม่สามารถปลดล็อกอุปสรรคของระเบียบต่าง ๆ แต่ยังสามารถดำเนินการให้เกิดผลได้ทันที

“แต่ต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบโรงเรียน โดยเฉพาะผู้อำนวยการโรงเรียน ที่ต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนบทบาทของตนเอง เพื่อทำหน้าที่ครูใหญ่ที่เป็นผู้นำทางวิชาการให้กับครูในโรงเรียน จึงจะสามารถสร้างห้องเรียนที่มีคุณภาพที่สร้างเด็กไทยให้เป็นเด็กในศตวรรษที่ 21 ได้”

การปฏิรูปการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรม จ.ระยอง กำลังชัดเจนมากขึ้น ด้วยความเข้าใจ จริงใจ และจริงจังของทุกภาคส่วน ที่กล้าที่จะลุกขึ้นเปลี่ยนแปลงโรงเรียนทั้งระบบ เพราะทุกคนตระหนักชัดแล้วว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ในมือของผู้นำโรงเรียน และคำตอบของการปฏิรูปการศึกษาวันนี้อยู่ที่ “ห้องเรียน”