“มจธ.+มน.” พลิกการศึกษา สร้างแพทย์นวัตกรรม-ดิจิทัลสู่สากล

ด้วยความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงทำให้หลายๆ ภาคส่วนต่างเตรียมความพร้อม เพื่อจะตั้งรับกับสิ่งที่จะเปลี่ยนไปในอนาคต ไม่เว้นแม้แต่ภาคการศึกษา ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการผลิตบุคลากรออกไปสู่ตลาดแรงงาน ผลเช่นนี้ จึงทำให้ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ที่ลงนามความร่วมมือกับ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) ในการพัฒนาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ด้านนวัตกรรมบริการดิจิทัล จึงถือเป็นแห่งแรกของประเทศ เพื่อยกระดับทักษะ ความรู้ ความสามารถของแพทย์เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศในระดับสากลต่อไป

กล่าวกันว่า ความร่วมมือครั้งนี้นอกจากจะเป็นการร่วมกันพัฒนาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ด้านนวัตกรรมบริการดิจิทัล ในการบูรณาการองค์ความรู้ด้านการแพทย์กับเทคโนโลยีดิจิทัล ในสาขาที่ตอบสนองความต้องการของประเทศ อาทิ การสนับสนุนการจัดกิจกรรมทางวิชาการ หรือกิจกรรมต่างๆ ที่จะช่วยส่งเสริม และสนับสนุนด้านการเรียนการสอน เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ หากยังนำมาสนับสนุนเครือข่ายสหกิจ หรือการทำงานร่วมกันระหว่างบุคลากรของคณะแพทยศาสตร์ มน. และบุคลากรของคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มจธ. ในรูปแบบของทำวิจัยร่วม เพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบสารสนเทศ และยกระดับความรู้ทางด้านการแพทย์อย่างมีประสิทธิภาพ

“ผศ.ดร.เกรียงไกร ปอแก้ว” คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า ความร่วมมือทางวิชาการครั้งนี้ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศของ มจธ. จะร่วมพัฒนานิสิตแพทยศาสตร์ของ มน. ให้มีความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยี และการออกแบบบริการดิจิทัล เพื่อให้เกิดการบูรณาการความรู้ทางด้านการแพทย์ และนวัตกรรมบริการดิจิทัล จนนำไปสู่การพัฒนาหรือการออกแบบบริการทางด้านการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพในอนาคต

“โดย มจธ.จะร่วมจัดการเรียนการสอนให้กับหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตของคณะแพทยศาสตร์ มน. ปีการศึกษา 2562 ในหมวดวิชาเฉพาะจำนวน 4 วิชา ได้แก่ วิชาพื้นฐานด้านดิจิทัล (digital fundamental) ซึ่งจะจัดการเรียนการสอนให้กับนักศึกษาในชั้นปีที่ 1, วิชาการเปลี่ยนถ่ายสู่ยุคดิจิทัล (digital transformation) จัดการเรียนการสอนให้กับนักศึกษาในชั้นปีที่ 2, วิชาการวิเคราะห์และออกแบบจุดสัมผัส (touch point analysis and design) จัดการเรียนการสอนให้กับนักศึกษาในชั้นปีที่ 3 และ วิชาการบริหารโครงการดิจิทัล (digital project management) จะจัดการเรียนการสอนให้กับนักศึกษาในชั้นปีที่ 5”

ทั้งนี้ แต่ละรายวิชาจะมีจุดเด่นที่แตกต่างกันไป อย่างวิชาพื้นฐานด้านดิจิทัล นักศึกษาจะได้เรียนเกี่ยวกับแพลตฟอร์มคอมพิวเตอร์ และเครือข่ายคอมพิวเตอร์ องค์ประกอบคอมพิวเตอร์ ทั้งด้านฮาร์ดแวร์ ระบบปฏิบัติการ และซอฟต์แวร์สนับสนุน เทคโนโลยีเสมือนจริง การประมวลผลแบบคลาวด์ รวมถึงหลักการพัฒนาเว็บแอปพลิเคชั่นขั้นพื้นฐาน โครงสร้างของเว็บ และเทคโนโลยีต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

ส่วนวิชาการจะเปลี่ยนถ่ายสู่ยุคดิจิทัล นักศึกษาจะรู้ถึงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้เกิดโมเดลธุรกิจใหม่ๆ เพื่อสร้างนวัตกรรมจากเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของต้นทุน และรายได้ อันเป็นผลมาจากการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสิ่งที่ไม่มีตัวตน รวมถึงแนวคิด และหลักการการออกแบบบริการดิจิทัล เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ดีแก่ผู้ใช้

ขณะที่วิชาการวิเคราะห์ และออกแบบจุดสัมผัส จะเน้นกระบวนการในการวิเคราะห์ และออกแบบจุดสัมผัส การสำรวจความต้องการของผู้ใช้ เพื่อสร้างแผนผังประสบการณ์การใช้งานที่ดี การวิเคราะห์ และออกแบบส่วนปฏิสัมพันธ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้งาน สร้างต้นแบบจากสิ่งที่ออกแบบไว้ เพื่อนำไปทดสอบการใช้งาน และปรับปรุงแก้ไขจนสามารถใช้งานได้จริง

สุดท้ายวิชาการบริหารโครงการดิจิทัล นักศึกษาจะมีความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารโครงการดิจิทัล ทั้งการบริหารต้นทุนและการประหยัดพลังงาน การบริหารคุณภาพ การบริหารทรัพยากรบุคคล การบริหารการติดต่อสื่อสารและการร่วมงาน ขั้นตอนการดำเนินงานและการบริหารโครงการ การกำกับควบคุมโครงการ ตลอดจนการนำเสนอสารสนเทศของโครงการ

“รศ.นพ.ศิริเกษม ศิริลักษณ์” คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มน. กล่าวเสริมว่า ด้วยเทคโนโลยี และความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์สมัยใหม่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งนิสิตแพทย์ที่จะจบไปเป็นบัณฑิตแพทย์ในอนาคตอีก 5-10 ปีข้างหน้าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้ และใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม และทันกับยุคสมัย

“จากปัจจัยดังกล่าวจึงเกิดเป็นความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างคณะแพทยศาสตร์ มน. และคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มจธ. ในการร่วมกันออกแบบหลักสูตรตั้งแต่ต้น โดยมุ่งเน้นการใช้การเรียนการสอนที่ผสมผสานกันระหว่างการเรียนด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ และเพิ่มมีขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลควบคู่กันไป เพื่อให้บัณฑิตแพทย์พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอนาคต อันจะส่งผลดีต่อประชาชนผู้รับบริการอย่างแท้จริง”

“ที่สำคัญเมื่อเราหล่อหลอมเรื่องราวเหล่านี้ตั้งแต่แรกเริ่มของการเป็นนิสิตแพทย์ จึงทำให้เชื่อว่าแพทย์ไทยในอนาคตจะมีความสามารถด้าน biomedical engineering and information technology ที่สามารถเป็นผู้นำระดับโลกต่อไปได้อย่างแน่นอน”

อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือในครั้งนี้เชื่อว่าจะยกระดับหลักสูตรการแพทย์ของไทยให้มีประสิทธิภาพ ภายใต้การบูรณาการในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตด้านนวัตกรรมบริการดิจิทัล เพื่อรองรับกับการพัฒนาประเทศทางด้านการแพทย์ โดยนิสิต นักศึกษาแพทย์จะผ่านการพัฒนา และบ่มเพาะจากผู้เชี่ยวชาญของทั้ง 2 สถาบัน ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการผลิตแพทย์ที่มีความรู้ มีทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม และเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

จึงนับเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาบุคลากรทางด้านการแพทย์ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประเทศ และการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างแท้จริง