“มิตรผล” ปลดล็อกการศึกษา ดัน ร.ร.ร่วมพัฒนาสู่ศตวรรษที่ 21

การจัดการศึกษายุคใหม่ เพื่อบ่มเพาะเด็ก และเยาวชนให้มีทักษะการเรียนรู้ในศวรรษที่ 21 จำเป็นต้องอาศัยระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ เพื่อมุ่งสร้างทักษะอย่างรอบด้านตั้งแต่เด็ก ขณะเดียวกัน หน้าที่ในการจัดการเรื่องดังกล่าวไม่ได้จำกัดแต่เพียงหน่วยงานภาครัฐ หรือส่วนที่เกี่ยวข้องเท่านั้น

เพราะการจัดการศึกษาในปัจจุบัน ทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีบทบาทร่วมกันในการบริหารจัดการ ตั้งแต่สถาบันครอบครัว, ชุมชน ตลอดจนภาคธุรกิจ โดยใช้ความเชี่ยวชาญ และจุดแข็งของแต่ละส่วนมาช่วยกันสนับสนุนการศึกษาในด้านต่าง ๆ เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ และเตรียมความพร้อมทักษะแห่งอนาคตให้แก่ผู้เรียน

จากความสำคัญดังกล่าว โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School) จึงถูกริเริ่มขึ้นเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคเอกชน ที่มีความคล่องตัว มีองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ อีกทั้งยังมีเทคโนโลยี เครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัย ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ และต่อยอดหลักสูตรการเรียนการสอนในสถานศึกษา โดยมีหน่วยงานภาครัฐเป็นผู้กำหนดนโยบาย และช่วยสนับสนุน ส่งเสริมในการร่วมทลายกรอบ หรือข้อจำกัดต่าง ๆ เพื่อให้การทำงานดังกล่าวบรรลุผลตามเป้าหมายที่วางไว้

“ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่าจากการที่รัฐบาลมีนโยบายยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยให้สามารถตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลง เพี่อช่วยขับเคลื่อนประเทศให้สามารถแข่งขันบนเวทีโลก โดยแนวทางหนึ่งที่สำคัญคือการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการสถานศึกษาอย่างจริงจัง

“ไม่ว่าจะเป็นการปรับหลักสูตรเพื่อเตรียมทักษะ และอาชีพที่สอดคล้องกับชุมชน, การปรับเปลี่ยนแนวทางการสอนเพื่อมุ่งเน้นการเรียนรู้จากสถานที่จริง และประสบการณ์จริง ซึ่งจะช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารจัดการโรงเรียน สร้างความเชื่อมโยงกับชุมชนอย่างแท้จริง ที่สำคัญ ยังเป็นการเพิ่มโอกาสในการพัฒนาอย่างทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และหากทุกฝ่ายร่วมมือกันแล้วเชื่อว่าจะเป็นการวางรากฐานให้คนรุ่นใหม่มีคุณภาพ และศักยภาพทัดเทียมนานาชาติได้”

โดยหนึ่งในภาคเอกชนที่เข้ามามีส่วนร่วมต่อการขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนาคือกลุ่มมิตรผลที่ร่วมสนับสนุนโรงเรียนจำนวน 6 แห่ง ใน 4 จังหวัด ด้วยการเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการบริหารสถานศึกษาของโรงเรียน พร้อมจัดหาผู้เชี่ยวชาญเข้ามาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ตลอดจนสนับสนุนด้านการพัฒนาบุคลากรครู เทคโนโลยี และอุปกรณ์การเรียนการสอน เพื่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และขับเคลื่อนสถานศึกษาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ช่วยพัฒนาทักษะและคุณภาพชีวิตของทุกคนในชุมชน

“อิสระ ว่องกุศลกิจ” ประธานกรรมการ กลุ่มมิตรผล กล่าวว่าด้วยหลักปรัชญาร่วมอยู่ ร่วมเจริญ ของกลุ่มมิตรผล ที่มุ่งพัฒนาและสร้างความยั่งยืนให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทำให้การทำงานร่วมกับภาครัฐ ชุมชน โรงเรียน และผู้ปกครอง ในการบริหารจัดการและร่วมพัฒนาสถานศึกษา เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ตลอดชีวิตของทุกคนในชุมชน

“ถือเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสให้เด็กและเยาวชนในท้องถิ่นเข้าถึงระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับความต้องการของธุรกิจและอุตสาหกรรมในชุมชนนั้น ๆ ตลอดจนเป็นแหล่งบ่มเพาะทักษะที่จะช่วยให้เด็ก เยาวชนมีอาชีพ และใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขต่อไป”

“การเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา กลุ่มมิตรผลจึงนำแนวทางการเรียนการสอนแบบ Mitr Phol 21st Century Skill Teaching มาปรับใช้ โดยหลักสูตรดังกล่าวประยุกต์มาจากหลักสูตร IXL ของสหรัฐอเมริกา ที่มุ่งเน้นการบ่มเพาะทักษะการเรียนรู้ด้วยตัวเอง (self-learning) และการเรียนรู้ตลอดชีวิต (life-long learning) ซึ่งไม่ได้มีแค่ในห้องเรียนเท่านั้น แต่การเรียนรู้ยังได้จากการลงมือทำจากประสบการณ์จริง อันจะทำให้ผู้เรียนสามารถคิดวิเคราะห์เป็น มีความคิดสร้างสรรรค์ ปรับตัวได้เร็ว รู้จักการทำงานเป็นทีม และสื่อสารเพื่อนำเสนอผลงานได้ ทักษะเหล่านี้ล้วนแล้วแต่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในศตวรรษที่ 21”

“ขณะเดียวกัน เพื่อพัฒนาสถานศึกษาให้เป็นมันสมองของชุมชน กลุ่มมิตรผลยังให้การสนับสนุนการพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้สอน ทั้งในด้านวิชาการ และทักษะด้านอารมณ์ ทั้งการคิดวิเคราะห์ การสื่อสาร และการใช้ภาษาอังกฤษ ตลอดจนการพัฒนาปรับปรุงห้องเรียน และสิ่งแวดล้อมภายในโรงเรียนให้เอื้อต่อการเรียนรู้และการช่วยเหลือเกื้อกูลกันภายในชุมชน”

สำหรับล่าสุด กลุ่มมิตรผลปรับปรุงห้องเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนสมสะอาดพิทยาสรรพ์ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ ให้มีความทันสมัย พร้อมเปิดศูนย์เรียนรู้ (Learning Center) ที่มีอุปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งเอื้อต่อการเรียนการสอนสมัยใหม่ ทั้งยังมีมุมสืบค้นข้อมูล และมุมเรียนรู้เรื่องหุ่นยนต์ (robotic) เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกทักษะการใช้ความคิดสร้างสรรค์ เสริมสร้างจินตนาการ และฝึกการเขียนโปรแกรมบังคับหุ่นยนต์ อีกทั้งยังมีมุม workshop สำหรับการสร้างสรรค์ผลงาน ฝึกทักษะฝีมือและฝึกอาชีพ โดยนักเรียน ผู้ปกครอง และคนในชุมชนสามารถเข้ามาใช้งานได้แม้ในวันหยุด

“สุพรรณ์ แก้วนิสสัย” ผู้อำนวยการโรงเรียนสมสะอาดพิทยาสรรพ์ กล่าวเสริมว่านอกจากการได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วนในการช่วยพัฒนาคุณภาพ ทักษะอาชีพ และทักษะชีวิตให้กับนักเรียนแล้ว กลุ่มมิตรผลยังเข้ามาช่วยปรับปรุงภูมิทัศน์ และระบบโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้เกิดความปลอดภัย และเหมาะสมต่อการเรียนรู้ของทุกคน

“ที่สำคัญยังช่วยปรับปรุงหลักสูตรร่วมกับครู และผู้นำชุมชน เพื่อให้ได้แนวทางการเรียนการสอนด้านอาชีพที่เหมาะสมกับบริบทของนักเรียน อย่างการทำผักกางมุ้ง, การทำถั่วตัด และสนับสนุนด้านเทคโนโลยีสื่อการสอน ทั้งห้อง Learning Center ที่ทุกคนสามารถใช้เป็นแหล่งสืบค้นความรู้และข่าวสารในการเรียนและการประกอบการอาชีพได้ทุกวัน”

โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนาที่กลุ่มมิตรผลเข้าไปสนับสนุน จึงนับเป็นอีกหนึ่งต้นแบบในการขับเคลื่อนภาคการศึกษายุคใหม่ เพื่อบ่มเพาะบุคลากรรุ่นใหม่ให้มีความรู้ มีศักยภาพ และรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งยังช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และชุมชนให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืนต่อไป