ชี้ ‘ศ.’อาชีวะต้องเน้นปฏิบัติ ‘นักวิชาการ’ ห่วงซ้ำรอยผลงานมหา’ลัย ‘ขึ้นหิ้ง-ใช้จริงไม่ได้’

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เห็นชอบตามที่ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เสนอร่างมาตรฐานตำแหน่งศาสตราจารย์ในสถาบันการอาชีวศึกษา โดยให้นำมาตรฐานภาระงานทางวิชาการของผู้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ.) รองศาสตราจารย์(รศ.) และศาสตราจารย์ (ศ.) โดยอนุโลมให้ดำเนินการตามประกาศของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ได้ จากนี้ก.ค.ศ. จะต้องไปกำหนดรายละเอียดเพื่อดำเนินการต่อไป ทั้งนี้การกำหนดให้สถาบันอาชีวศึกษา มีอาจารย์ที่มีตำแหน่งทางวิชาการ ผศ. รศ. และศ. เป็นไปตามพ.ร.บ.การอาชีวศึกษา พ.ศ. 2551 ซึ่งกำหนดให้สถาบันอาชีวศึกษาที่เปิดสอนระดับอุดมศึกษา ต้องมีอาจารย์ที่ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ ดังนั้น สอศ. จึงต้องเร่งพัฒนา และส่งเสริมให้อาจารย์ในสถาบันมีคุณวุฒิ ตรงตามที่กำหนด

“ขณะนี้อาจารย์ในสถาบันอาชีวะ ยังไม่มีตำแหน่งทางวิชาการ ดังนั้นสอศ. จึงต้องเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งเรื่องนี้คงต้องใช้เวลา เพราะต้องรอหลักเกณฑ์จากทางก.ค.ศ. แต่ก็จะพยายามเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด ระหว่างนี้ทางสอศ.จะเร่งพัฒนาบุคลากรอาจารย์ เพื่อเตรียมความพร้อมพัฒนาให้มีตำแหน่งทางวิชาการอย่างมีคุณภาพต่อไป” นายสุเทพ กล่าว

นายสุเทพ กล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้าการประกาศสาขาวิชาขาดแคลนของสอศ. เพื่อจัดสอบครูผู้ช่วย ซึ่งจะเปิดกว้างให้ผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสามารถสอบเป็นครูอาชีวะได้นั้น ในการประชุมก.ค.ศ. ล่าสุดได้พิจารณาเรื่องนี้และมีมติว่า การกำหนดสาขาขาดแคลนถือเป็นอำนาจของต้นสังกัด ดังนั้นจากนี้สอศ. เตรียมจะประกาศ 98 สาขาขาดแคลน เพื่อเปิดรับสมัครครูผู้ช่วย ของสอศ. คาดว่าจะเริ่มรับสมัครในเดือนเมษายนนี้

นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การมีตำแหน่งทางวิชาการในระดับอุดมศึกษาถือว่ามีความจำเป็นแต่อาจารย์สายวิชาชีพจะต้องทำให้มีความแตกต่างกับมหาวิทยาลัยทั่วไป โดยสอศ. ต้องเรียนรู้จากมหาวิทยาลัยว่า แก่นแท้ของปัญหา การทำผลงานทางวิชาการคืออะไร และต้องมีความชัดเจนว่า อาชีวะสอนปริญญาตรีสายปฏิบัติ ดังนั้น การทำผลงานทางวิชาการ ก็ต้องเป็นผลงานในสายปฏิบัติการ สามารถนำไปใช้ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในประเทศและสังคมได้จริง เพราะหากไปเดินตามมหาวิทยาลัยทั่วไป ที่เน้น ทำผลงานทางวิชาการ ตีพิมพ์ในวารสาร อาจจะหลงทาง กลายเป็นผลงานขึ้นหิ้ง แต่นำไปใช้ไม่ได้

“สอศ.ต้องแบ่งน้ำหนัก เชื่อมโยงกับนวัตกรรม และเกิดการนำไปใช้ที่ถูกต้อง ไม่ใช่การตีพิมพ์ ในวารสารทางวิชาการ เพื่อให้ได้ตำแหน่ง เกิดเป็นผลงานขึ้นหิ้ง ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ โดยต้องเป็นนวัตกรรมที่สามารถจับต้องได้ เพื่อช่วยแก้ปัญหาประเทศ การประเมินตำแหน่งทางวิชาการสอศ. ต้องดูการทำงานเชิงพื้นที่ เช่น สัดส่วนการทำงานกับภาคเอกชน การลงมือปฏิบัติงาน ที่สามารถสร้างองค์ความรู้ที่เป็นชุดความคิดของชาวอาชีวะ อย่าไปเลียนแบบการขอผลงานทางวิชาการของมหาวิทยาลัยทั่วไป หากไปดูและทำตาม ถือว่าหลงทาง เพราะงานของอาชีวะ กับมหาวิทยาลัยทั่วไปมีความแตกต่างกัน” นายสมพงษ์ กล่าว

 

 

ที่มา : มติชนออนไลน์