“TSE” ผุด ศูนย์นวัตกรรม พัฒนางานวิจัยเชิงพาณิชย์

การวิจัยเป็นปัจจัยในการหาคำตอบต่อประเด็นต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้จริง ทั้งยังเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มพูนองค์ความรู้ใหม่ ๆ ในภาคการศึกษา และหากสถานศึกษาใดมีความพร้อม และมีนักวิจัยมากพอ มักจะก่อตั้งศูนย์นวัตกรรมเฉพาะทางด้านต่าง ๆ ขึ้นมาซึ่งเหมือนกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) ที่มีศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิศวกรรมถึง 4 ศูนย์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ใช้ได้จริงในการตอบโจทย์สังคม

“รศ.ดร.ธีร เจียศิริพงษ์กุล” คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) กล่าวว่า TSE ส่งเสริมให้คณาจารย์ และนักศึกษาทำงานวิจัย โดยให้คำแนะนำและเตรียมสภาพแวดล้อมที่ช่วยให้เกิดงานวิจัยดี ๆ มาตลอด ซึ่งคณะวิศวกรรมศาสตร์มีจำนวนบุคลากรสายวิชาการจำนวน 118 คน สายสนับสนุนวิชาการจำนวน 124 คน โดยคุณวุฒิและตำแหน่งทางวิชาการบุคลากรสายวิชาการ ระดับปริญญาเอก จำนวน 109 คน ซึ่งงานวิจัยที่ออกมาจากบุคลากร TSE และนักศึกษาของเรามักจะได้รับความสนใจจากภาคธุรกิจเสมอ เพราะนำไปปฏิบัติได้จริง

“ผ่านมา TSE แสดงศักยภาพที่สะท้อนความเป็นเลิศด้านวิศวกรรม ด้วยการคิดค้นเทคโนโลยี นวัตกรรม และงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมจำนวนมาก จนเป็นที่ยอมรับจากเวทีต่าง ๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ จนทำให้เรามาถึงจุดที่สามารถสร้างศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิศวกรรม เพื่อต่อยอดองค์ความรู้ที่เราเชี่ยวชาญ”

โดยปัจจุบัน TSE มีศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิศวกรรมทั้งหมด 4 ศูนย์ ประกอบด้วย

หนึ่ง ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการใช้ประโยชน์จากพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้าในงานวิศวกรรม

สอง ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการออกแบบ และพัฒนาต้นแบบทางวิศวกรรมอย่างสร้างสรรค์

สาม ศูนย์ความเป็นเลิศด้านตัวเร่งปฏิกิริยาเคมี และการดูดซับด้านสิ่งแวดล้อม

สี่ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิศวกรรม และสมรรถนะของวัสดุ

“รศ.ดร.ธีร” กล่าวอีกว่า ศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิศวกรรมทั้ง 4 ศูนย์ มีแนวทางที่ตอบโจทย์กับยุคสมัย และความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้งานวิจัยที่ออกมาจาก TSE ไม่ขึ้นหิ้ง และทำให้ TSE เป็นที่ยอมรับกับผู้ที่ทำงานทางด้านวิศวกรรม

“แนวทางตอนนี้เราจึงเน้นวิศวกรรมเพื่อคนไทยสุขภาพดี (Engineering for Health) จนมีผลงานวิจัยที่เกี่ยวกับสุขภาพ และตรงกับความต้องการของสังคม เช่น TIDTAM อุปกรณ์ติดตามที่ออกแบบมาใช้เหมาะกับผู้สูงอายุ (Elderly Smart Pod) พร้อมกับแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนสำหรับผู้ดูแล ที่คิดค้นมาเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยอุปกรณ์สามารถคัดกรองอาการของผู้ป่วยอัลไซเมอร์และพาร์กินสัน โดยระบบจะแจ้งเตือนให้ผู้ดูแลรู้ทันที เมื่อผู้ป่วยมีอาการสั่น เกร็ง และหกล้ม ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าวเป็นของ ผศ.ดร.นพพร ลีปรีชานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์”

“นอกจากนั้นยังมีนวัตกรรมการถนอมอาหารด้วยสนามไฟฟ้าพัลส์ ซึ่งเป็นการนำสนามไฟฟ้ามาใช้ประโยชน์ในการถนอมอาหาร โดยมี ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล นำสนามไฟฟ้าแบบพัลส์ หรือ PEF (Pulse Electric Field) มาส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมนำไปใช้ต่อไปในอนาคต เพื่อช่วยลดต้นทุนในการประกอบกิจการ และยังตอบโจทย์เทรนด์ผู้บริโภคในปัจจุบันที่ใส่ใจสุขภาพมากขึ้น”

“ส่วนงานวิจัยอีกชิ้นที่ได้รับความสนใจจากภาคสังคม คือ การศึกษาผลกระทบและมาตรการรองรับสารอันตรายตกค้างกรณีศึกษาปลาดอรี่ โดย ศ.ดร.จงรักษ์ ผลประเสริฐ และ ดร.วรุณศักดิ์ เลี่ยมแหลม อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา เพราะปลาดอรี่เป็นปลาที่คนไทยนิยมรับประทานมากที่สุด แต่พบการปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะในปริมาณมาก ตรงนี้ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เราใช้งานวิจัยมาก่อให้เกิดประโยชน์”

เพราะจุดแข็งของ TSE ไม่เพียงสร้างวิศวกรรมศาสตร์แบบ specialize เฉพาะด้าน หากยังมีนักวิจัยที่เป็นบุคลากรของ TSE ที่ล้วนมีผลงานวิจัยที่น่าสนใจต่าง ๆ อีกจำนวนมาก