“PIM” สร้างวิศวกร 4.0 ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมยุคใหม่

DCIM100MEDIADJI_0044.JPG

การสร้างองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมอย่างเป็นระบบ รวมถึงการเตรียมบุคลากรทางวิศวกรรมให้สามารถในการประยุกต์ใช้องค์ความรู้มาทำงานได้ทันทีนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้รูปแบบ

การเรียนการสอนเชิงรุกที่เน้นการปฏิบัติ ซึ่งตรงกับโมเดลการเรียนการสอนของสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (Panyapiwat Institute of Management-PIM) ที่เน้น work-based education จนทำให้ผู้เรียนมีศักยภาพสูงในการพัฒนาตนเอง ให้เข้ากับลักษณะงานทั้งด้านวิชาการ และวิชาชีพผ่านการเรียนและฝึกฝนทักษะในสถานประกอบการจริง อย่างเช่นที่โรงงานผลิตรถยนต์เอ็มจี ภายใต้บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด จ.ชลบุรี

“ดร.ธันยวัต สมใจทวีพร” รักษาการหัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ระดับชั้นปริญญาตรีมี 5 สาขาวิชา คือ เทคโนโลยีสารสนเทศ, วิศวกรรมคอมพิวเตอร์, วิศวกรรมอุตสาหการ, วิศวกรรมการผลิตยานยนต์ และวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ซึ่งทุกสาขาจะได้ทำงานในสถานประกอบการจริงทุกปี

“โดยปีที่ 1 จะฝึกงานในร้าน7-Eleven เป็นระยะเวลา 3 เดือนเพื่อเรียนรู้ทักษะการทำงานพื้นฐาน สร้างความมีระเบียบวินัย ฝึกปรับตัวเข้ากับเพื่อนร่วมงาน วัฒนธรรมองค์กร และการให้บริการ ตลอดจนศึกษาระบบเทคโนโลยีภายในร้านเพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ถัดมาที่ปีที่ 2 จะฝึกปฏิบัติงานในสถานประกอบการด้านวิศวกรรม 3 เดือน เพื่อเรียนรู้งานตรงตามสาขาที่เรียน”

“ส่วนปีที่ 3 ฝึกปฏิบัติงานในสถานประกอบการด้านวิศวกรรม 3 เดือน ให้มีทักษะการทำงานที่สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และช่วยเจ้าหน้าที่ และปีที่ 4 ปฏิบัติงานในสถานประกอบการด้านวิศวกรรม 9 เดือนให้มีทักษะด้านบริหารจัดการ และมีความสามารถเทียบเท่าพนักงานในหน่วยงานหรือสายงานนั้น ๆ ดังนั้นการทำงานจริงทุกชั้นปีของคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่ PIM จึงเป็นจุดแข็งของเรา เพราะที่อื่นไม่ได้ฝึกงานทุกปี ส่วนใหญ่ฝึกแค่ชั้นปีสุดท้าย”

“โรงงานผลิตรถยนต์เอ็มจีเป็นหนึ่งสถานประกอบการที่นักเรียนสาขาวิศวกรรมการผลิตยานยนต์ และวิศวกรรมอุตสาหการได้มาเรียนรู้ให้มีทักษะ และสมรรถนะตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการ และมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการผลิต โดยนักศึกษาปีที่ 4 จะได้ลงมือปฏิบัติจริงเหมือนเป็นพนักงาน ขณะที่ด้านอาจารย์ของ PIM จะมีการนิเทศนักศึกษาเป็นระยะ ๆ เพื่อติดตามสิ่งที่นักศึกษาได้เรียน พร้อมทั้งทำงานร่วมกับผู้ประกอบการในการให้โจทย์นักศึกษาได้แก้ไขปัญหา”

“ดร.ธันยวัต” กล่าวด้วยว่า คนที่มีทักษะวิศวกรรมศาสตร์เป็นที่ต้องการสูงในตลาดแรงงานปัจจุบัน และคาดการณ์ว่าในอีก 2 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีปัญหาขาดแคลนแรงงานทางด้านนี้ เพราะทิศทางการพัฒนาประเทศไทยกำลังเป็นยุคที่เน้นเรื่องเทคโนโลยี ตามนโยบาย Industry 4.0 ดังนั้น คนที่มีความสามารถเรื่องนี้จึงเป็นที่ต้องการเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
“PIM จึงศึกษาข้อมูลความต้องการบุคลากรทางด้านวิศวกรรม และความสามารถในการผลิตของภาคอุตสาหกรรมมาโดยตลอด และพยายามสร้างเครือข่ายพันธมิตรมากมาย ทั้งกับองค์กรธุรกิจระดับประเทศ และองค์กรระดับโลกที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาอาชีพนั้น ๆ”

“ทั้งเรายังมีแผนในอนาคตอันใกล้ว่าจะเพิ่มห้องเรียนสำหรับนักศึกษาที่จบมาทางสายอาชีพ (ปวช. และ ปวส.) ที่มาต่อคณะวิศวกรรมศาสตร์ เพราะเด็กสายอาชีพมักจะเรียนไปด้วยทำงานหาเลี้ยงชีพไปด้วย เราจึงจะปรับเวลา และรูปแบบการสอนให้เหมาะสมกับพวกเขา เพื่อช่วยให้พวกเขามีเวลาไปทำงาน และยังได้เรียนอย่างเต็มที่ ซึ่งจะแยกเรียนกับเด็กที่จบมาทางสายสามัญ”

“ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบนโลกค่อนข้างรวดเร็ว ด้วยผลจากเทคโนโลยี จึงทำให้เนื้อหาการเรียนรู้ต้องปรับตามให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนไป อีกอย่างด้วยความที่ PIM ก่อตั้งโดยบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นองค์กรขนาดใหญ่ และมีประสบการณ์ในแวดวงธุรกิจมานาน จึงทำให้รู้ว่าควรจะอัพเดตเนื้อหาการเรียนรู้ที่ PIM ไปทางไหนถึงจะสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันอย่างรวดเร็ว นอกจากนั้น เรายังส่งเสริมเด็กให้พัฒนาตนเองในทุกด้าน อาทิ ทักษะด้านวิชาชีพ ทักษะชีวิต และทักษะทางสังคม”

“ศิวณัฐ จินดาทะจักร์” VQ-Paint Engineer โรงงานผลิตรถยนต์เอ็มจี บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่เรียนจบจากสาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เล่าให้ฟังว่า การเรียนแบบ work-based ducation ทำให้มีทักษะมากกว่าการเรียนแบบทั่วไป ที่เน้นฝึกงานแค่ในช่วงปีสุดท้าย

“ถึงแม้ผมเรียนวิศวกรรม แต่การฝึกงานที่ร้าน 7-Eleven เป็นระยะเวลา 3 เดือน ทำให้ได้เห็นการทำงานในร้านค้าปลีก ซึ่งเอามาใช้ได้ในอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ด้วย เพราะที่โรงงานผลิตรถยนต์เอ็มจี บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด มีระบบรับส่งของ การดูแลรักษา และการบริหารจัดการคน ซึ่งผมสามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากร้าน 7-Eleven มาปรับใช้ได้”

“ส่วนการเรียนรู้งานที่โรงงานผลิตรถยนต์เอ็มจี พี่ ๆ ที่ทำงานจะคอยให้ความรู้ จนผมสามารถขอคำแนะนำจากพี่ ๆ ได้ตลอด ที่สำคัญ พนักงานในองค์กรก็ไม่ได้มองผมเป็นเด็กฝึกงาน แต่มองผมเป็นวิศวกร จนทำให้ผมสามารถเสนอความคิดเห็นต่าง ๆ ได้ จนเป็นที่ยอมรับของพี่ ๆ ทุกคน”

“ผมคิดว่าปัญหาของนักศึกษาจบใหม่ที่พบ คือ มีความรู้แค่ในห้องเรียน แต่ไม่มีภูมิต้านทานในการทำงาน เพราะการทำงานไม่มีเกณฑ์ในการให้คะแนน มีแค่ทำได้หรือไม่ได้ ฉะนั้น ข้อดีของการฝึกงานร่วมกับการเรียนอย่างเห็นได้ชัด คือ ผู้เรียนจะมีองค์ความรู้ทั้งในด้านทฤษฎีและปฏิบัติ แน่นอนว่าเมื่อทำงานจริง เราสามารถปรับตัวได้ง่าย พร้อมทั้งสามารถประยุกต์สิ่งที่เรียนให้เหมาะสมตามสภาพปัญหาในการทำงาน (ที่มีหลายรูปแบบไม่ซ้ำกัน)ได้อย่างเป็นรูปธรรม”

จึงนับว่าการเรียนรู้ควบคู่กับการทำงาน เป็นการพัฒนาบุคลากรด้านวิศวะได้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง