จี้คลังโละระเบียบจ้างอาจารย์รัฐ คุมเงินเดือนขั้นต่ำ เหตุ ป.เอก จ่ายแค่ 2.1 หมื่นบาท

เมื่อวันที่ 17 เมษายน นายฤๅเดช เกิดวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (มร.สส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยต่างๆ กำลังประสบปัญหาอย่างหนัก หลังจากกระทรวงการคลัง (กค.) ได้ออกระเบียบว่าด้วยการจ้างลูกจ้างโดยใช้จ่ายจากเงินนอกงบประมาณ พ.ศ.2562 ซึ่งกำหนดอัตราค่าจ้างในอัตราไม่เกินค่าจ้างขั้นต่ำของตำแหน่ง และวุฒิการศึกษา และไม่มีการเลื่อนขั้นค่าจ้าง โดยให้ทำสัญญาแบบปีต่อปี หากต้องการจะจ้างลูกจ้างรายใหม่ หรือรายเดิมสูงกว่าอัตราค่าจ้างที่กำหนด ให้ทำข้อตกลงกับ กค.โดยให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติของกรมบัญชีกลางเป็นรายๆ ไป ทั้งนี้ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ราชการกำหนดในระดับปริญญาตรีอยู่ที่ประมาณ 1.5 หมื่นบาท ปริญญาโท 1.8 หมื่นบาท และปริญญาเอก 2.1 หมื่นบาท การกำหนดเช่นนี้ทำให้มหาวิทยาลัยติดล็อก ไม่สามารถดึงคนเก่งมาทำงานได้ ทั้งที่มหาวิทยาลัยพัฒนาไปไกลมากแล้ว อาจารย์บางรายที่มีความเชี่ยวชาญ มหาวิทยาลัยต้องจ้างในอัตราเงินเดือนกว่าแสนบาท เพื่อสร้างแรงจูงใจ และดึงดูดคนเก่งเข้ามาทำงาน

“ทราบว่าหลายมหาวิทยาลัยเริ่มพูดคุย และอยากให้ กค.ทบทวนระเบียบดังกล่าว เพราะทำให้เกิดปัญหา ทั้งที่เป็นเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยเอง ไม่เกี่ยวกับเงินงบแผ่นดิน การกำหนดอัตราเงินเดือนขั้นต่ำ และให้ทำสัญญาปีต่อปี ทำให้มหาวิทยาลัยดึงคนเก่งมาทำงานได้ยาก ขาดแรงจูงใจ รู้สึกไม่มั่นคงในอาชีพ ที่สำคัญแต่ละแห่งมีระเบียบของตนเอง โดยเงินเดือนถือเป็นแรงจูงใจหนึ่งที่สำคัญ การที่ออกระเบียบนี้ ผมเองไม่แน่ใจว่าเป็นการบังคับให้มหาวิทยาลัยของรัฐเปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ คือออกนอกระบบหรือไม่ แต่จะเป็นปัญหาแน่นอน” นายฤๅเดช กล่าว

นายอดิศร เนาวนนท์ รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎ (มรภ.) นครราชสีมา กล่าวว่า กค.ต้องชี้แจงให้ชัดเจนว่าระเบียบนี้มีผลบังคับใช้กับมหาวิทยาลัยใดบ้าง โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยของรัฐ ทั้ง มรภ.และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) เพราะหากต้องใช้จริง จะเกิดปัญหามากแน่นอน ดังนั้น ขอให้ กค.ทบทวน หรือยกเลิก เพราะเป็นการออกระเบียบที่ขาดความรอบคอบ มีผลกระทบต่อประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของบุคลากร โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่เป็นส่วนราชการทั่วประเทศ

“ขณะนี้มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ใช้เงินนอกงบจ้างบุคลากรทั้งสายวิชาการ และสายสนับสนุน ถ้ายึดตามเงื่อนไขดังกล่าวที่มีรายละเอียดค่อนข้างยิบย่อย ไม่ว่าจะกำหนดให้ทำสัญญาปีต่อปี และไม่มีการขึ้นเงินเดือน อาจทำให้ขาดแรงจูงใจดึงบุคลากรเก่งๆ เข้ามาทำงาน กระทบกับการจ้างอาจารย์สายวิชาการ โดยเฉพาะอาจารย์ประจำหลักสูตร ซึ่งจำเป็นต้องมีความต่อเนื่อง” นายอดิศร กล่าว

นายอดิศรกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม เท่าที่ดูระเบียบฉบับนี้ ไม่น่าจะเข้าข่ายถูกนำมาใช้กับมหาวิทยาลัยของรัฐ เพราะ พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง ต้องการให้มหาวิทยาลัยมีอิสระในการบริหารจัดการ ที่สำคัญ สภามหาวิทยาลัยได้ออกข้อบังคับว่าด้วยการใช้งบที่ไม่ใช่เงินงบแผ่นดิน หรือเงินนอกงบ ดังนั้น จึงอยากให้ กค.ชี้แจงให้ชัดว่าระเบียบฉบับนี้มีผลบังคับใช้กับการใช้เงินนอกระบบจ้างบุคลากร โดยเฉพาะการจ้างอาจารย์ และบุคลากรสายสนับสนุนของมหาวิทยาลัยของรัฐหรือไม่ หากบังคับใช้จริง ก็ขอให้ทบทวน และยกเลิกระเบียบดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา

 

ที่มา : มติชนออนไลน์